โปรดทราบ

ร่วมแจ้งข่าวสารต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน "เมืองแกลงนิวส์" ได้ที่ muangklangnews@gmail.com เพื่อที่กองบรรณาธิการข่าวจะได้พิจารณานำเผยแพร่ต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่เมืองแกลง...ยอดชาวกัมพูชาทิ้งห่าง พม่า ลาว

       สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๔ เห็นชอบให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง สัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา ที่อยู่นอกระบบผ่อนผัน รวมถึงบุตรที่อายุไม่เกิน ๑๕ ปี ให้มารายงานตัวจดทะเบียน  ทั้งที่เคยจดทะเบียน (มีท.ร.๓๘/๑ แต่สิ้นสุดการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย)  และไม่เคยจดทะเบียน (ไม่มี ท.ร.๓๘/๑)  รวมถึงบุตรที่อายุไม่เกิน ๑๕ ปี  โดยให้นายจ้างหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย มายื่นคำร้องขอจดทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวได้ ณ สำนักงานทะเบียนราษฎร เทศบาลตำบลเมืองแกลง

       เทศบาลตำบลเมืองแกลง จึงขอแจ้งให้นายจ้างหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายพาแรงงานต่างด้าวตามลักษณะข้างต้นมารายงานตัวขอขึ้นทะเบียน ตามแบบ ท.ต.๑ โดยกรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน พร้อมติดรูปถ่ายขนาด ๑ นิ้ว จำนวน ๒ รูป ตามจำนวนที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน  

       การจัดทำทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าวครั้งนี้ ต้องชำระค่าธรรมเนียมในการถ่ายรูป เพื่อทำบัตรประจำตัว และบัตรอนุญาตทำงาน จำนวน ๖๐ บาท  และค่าธรรมเนียมการคัดแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติ (ท.ร.๓๘/๑) จำนวน ๒๐ บาท ตามกฎกระทรวงที่กำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ.๒๕๕๑ 

      การรับจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา ครั้งนี้ มีกำหนดถึงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ศกนี้ ซึ่งขณะนี้เทศบาลตำบลเมืองแกลง มียอดแรงงานต่างด้าวที่นายจ้างหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายพามารายงานตัวขอขึ้นทะเบียนเพื่อให้สามารถอยู่ทำงานในพื้นที่ได้ถูกต้องตามกฎหมายแล้วจำนวนหลายร้อยคน หากมีข้อสงสัยประการใด สามารถมาติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเทศบาลฯ หรือโทร. ๐๓๘ ๖๗๕๒๒๒ ต่อ ๑๐๒ 


จึงประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

    

เยี่ยมเรือนเยือนถิ่นเมืองแกลง ตอน๖..ใคร่ครวญฤดูกาลกับสภาพที่ตั้งของเมืองแกลง..

เกษตรเมือง...เกษตรที่อยู่ในเมือง ดูแลง่าย ไม่เปลืองค่าขนส่ง
ป้าหมอนมาช่วยเก็บดอกมะลิหน้าเทศบาลฯ
ไปไหว้พระ เพราะยิ่งเด็ด ยิ่งแตก
       ในระยะนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นเวลาของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่จะพัดผ่านบ้านเรา พร้อมพาเอาพายุฝนมาด้วย  ด้านหนึ่งสำหรับพื้นที่บางแห่งในเขตชุมชนเมือง เทศบาลตำบลเมืองแกลงได้มีการตระเตรียมการป้องกันปัญหาการระบายน้ำไม่ทันหากเกิดกรณีฝนตกหนัก  และอีกด้านหนึ่ง ในพื้นที่รอบ ๆ เขตชุมชนเมือง  พายุฝนในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ทำให้ต้นยางที่แตกใบใหม่ได้ฟื้นต้นแข็งแรงขึ้น ทำให้ไม้ผลอย่างทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ได้น้ำหลังจากผ่านพ้นฤดูเก็บเกี่ยวไปก่อนหน้า และทำให้พื้นที่ลุ่มที่ตกกล้าไว้รอฝน ได้ปักดำต้นกล้าลงในแปลงนา เพื่อรอเก็บเกี่ยวในอีกสามถึงสี่เดือนข้างหน้านี้

ดอกแคที่เด็ดกันไม่หวาดไม่ไหว เพราะได้ปุ๋ยดีของเทศบาลฯ
       หากฝนฟ้าที่เราไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดได้นั้น ตกต้องมาตามฤดูกาลของเขาแล้ว  รวมถึงฤดูร้อน ฤดูหนาวถ้ามาได้ในห้วงเวลาของเขาเช่นเดียวกัน  ก็เป็นอันว่า พื้นที่รอบเขตเทศบาลตำบลเมืองแกลงของเรา หรืออาจครอบคลุมไปถึงพื้นที่อำเภอแกลง วังจันทร์ เขาชะเมา ก็จะมีพืชพันธัญญาหาร พืชผลอุดมสมบูรณ์ ยังผลให้ชาวสวน เกษตรกรมีรายได้ที่ดี และก็จะส่งผลถึงการค้าการขายในเขตเทศบาลฯ ของเรา  

       ภาวะการณ์ทางธรรมชาติดังกล่าวนี้ ทำให้แกลง วังจันทร์ เขาชะเมา ยังคงเป็นพื้นที่สำหรับผู้คนในพื้นที่ได้อาศัยทำมาหากินจากการมีดินฟ้าอากาศที่เื้อื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก เพียงแต่บางอย่างที่เราสามารถควบคุมกำกับได้ ก็ควรรู้จักพินิจพิจารณาให้เกิดความยั่งยืน กล่าวคือ การรักษาคุณภาพของเนื้อดิน และน้ำท่าให้มีคุณภาพ มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการรู้จักเลือกใช้ปุ๋ยเพื่อบำรุงฟื้นฟูดินให้มีธาตุอาหารที่อุดมสมบูรณ์ในระยะยาว  รู้จักอนุรักษ์น้ำ ด้วยการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งน้ำประปาหรือน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาิติ  รู้จักวางแผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามโซนหรือบริเวณต่าง ๆ อย่างที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติหรือเพื่อนบ้านข้างเคียง  เพราะที่สุดแล้ว ย่อมส่งผลกระทบย้อนกลับมาที่ตนเองในที่สุด

แปลงเพาะกล้า ที่ชุมชนดอนมะกอก "เขียว คือ ข้าว"
ผืนนาดอนมะกอก ปีนี้มีคนหนองกระโดงมาทำแอบอยู่ด้วย
       ดังนี้แล้ว  ย่อมแน่ใจได้ว่า บ้านเมืองย่อมดำเนินต่อไปได้อย่างเป็นปกติสุข เนื่องจากเราสามารถรักษา่ช่องทางการประกอบอาชีพ การทำมาหากินแต่ดั้งเดิมที่เหมาะกับสภาพพื้นที่เอาไว้ได้ต่อไป  โดยพึ่งพาสิ่งต่าง ๆ นอกพื้นที่เท่าที่จำเป็น

       เทศบาลตำบลเมืองแกลง  ขอเชิญชวนชาวเมืองแกลง ได้ร่วมกันตรึกตรองการดำเนินชีวิตในความเป็นแกลง เพื่อให้เราได้อยู่กันอย่างปกติสุข  ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ให้เกิดความพอเพียงในการประกอบสัมมาอาชีพ  เคารพพื้นที่ซึ่งบรรพชนได้มาตั้งรกรากอยู่อาศัยมาแต่เก่าก่อน ด้วยการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่สอดคล้องกับสภาพที่ตั้งของเมือง คือการทำมาค้าขาย ทำอาชีพเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ด้วยความพอดี และเกื้อกูลช่วยเหลือกัน ให้เมืองแกลงของเราได้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป 
พายุฝนลูกล่าปลายมิถุนา พาชาวนาไปปักดำ
  
ทะมัีดทะแมง แข็งแรงไม่แพ้ชาย

วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เมืองแกลง แม่ฮ่องสอน นครพิษณุโลกเข้าร่วมการประชุม Asean Pacific Urban Forum ครั้งที่ ๕

        ในระหว่างวันที่ ๒๑ ถึง ๒๕ มิถุนายนที่ผ่านมานี้ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเซียและแปซิฟิค แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN ESCAP) ร่วมกับ หน่วยงาน IGES จากประเทศญี่ปุ่น ได้จัดการประชุมสัมนา ASEAN PACIFIC URBAN FORUM ครั้งที่ ๕ ขึ้น ณ สำนักงานองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาเมืองร่วมกันในหมู่ประเทศในแถบเอเซียแปซิฟิค

       โอกาสเดียวกันนี้ สำนักนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้คัดเลือกเทศบาลเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวพร้อมนำเสนอโครงการสำคัญ ๆ ของเทศบาลต่อการพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อม จำนวน ๓ เทศบาล คือ เทศบาลนครพิษณุโลก เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน และเทศบาลตำบลเมืองแกลง ซึ่งนอกจากประเด็นการพัฒนาเมืองแล้ว ยังมีประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ ที่มีการพูดคุยกันในระหว่างการประชุม อาทิ ปัญหาการกระจายอำนาจสู่เมืองขนาดเล็ก การให้การสนับสนุนทุนในการพัฒนาเมืองจากหน่วยงานระหว่างประเทศ  ปัญหาการพัฒนาเมืองที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน  ปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้ประสบภาวะยากจน  การสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อการพัฒนาเมือง เป็นต้น

       และในส่วนของเทศบาลตัวแทนจากไทยนั้น  เทศบาลนครพิษณุโลก ได้สำเสนอแนวทางกาีรพัฒนาเมืองสู่การเป็นเมืองแห่งการศึกษา  เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ได้นำเสนอการพัฒนาเมืองในรูปแบบเมืองแห่งพิพิธภัฑ์มีชีวิต (Living Museum city)  และเทศบาลตำบลเมืองแกลงได้นำเสนอการพัฒนาสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ (Low Cabon City) ที่มีประเด็นสำคัญคือ การเป็นเมืองสีเขียวที่มีพื้นที่โล่งสำหรับประชาชนเพื่อการมีสุขภาพพลานามัยที่ดี  การเป็นเมืองที่มีระบบการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน  การเป็นเมืองที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ และการเป็นเมืองแห่งความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารเพื่อความมั่นคงของเมือง  โดยนอกจากวีดีโอท้า่ยข่าวนี้แล้ว ท่านสามารถติดตามชมรายละเอียดผ่านทางวีดีโอได้ที่ www.muangklang.com ได้อีกทางหนึ่ง


คลิ้กเพื่อชมวีดีโอ http://www.youtube.com/watch?v=phHZQxpV51M

เร่งดันโครงการโรงเีรียนเทศบาลฯ..เข้ารับประเมินความพร้อมภายในกรกฏาคมนี้

       ในกรอบการทำงานในโครงการก่อสร้างโรงเรียนของเทศบาลตำบลเมืองแกลง ซึ่งได้กำหนดสถานที่ก่อสร้างไว้แล้ว บนพื้นที่ ๒๘ ไร่ ในบริเวณสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พระพรรษาแล้วนั้น

       ในลำดับขั้นตอนการดำเนินงานเมื่อได้มีการเปิดรับความคิดเห็นจากชาวเทศบาลตำบลเมืองแกลง และได้นำเสนอขอความเห็นชอบต่อสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลงมาโดยลำดับ รวมถึงการประสานงานกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ซึ่งนายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองและคณะผู้บริหาร ได้เดินทางมาดูสถานที่ก่อสร้างเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายนที่ผ่านมาแล้ว

       ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๗ มิถุนายนที่ผ่านมานี้ นายสมชาย จริยเจริญ นายกเทศมนตรี พร้อมด้วยคณะทำงานโครงการโรงเรียนเทศบาล ได้เดินทางไปพบนางอิสรีย์ ปานงาม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดพลงช้างเผือก เพื่อปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนแนวคิด และแนวทางการจัดตั้งโรงเรียน พร้อมรับทราบสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาลและระดับประถมศึกษาของโรงเรียนในเขตเทศบาลฯ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการดำเนินงานต่อไป

       จากนั้น ในวันอังคารที่ ๒๘ มิถุนายน เทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้เชิญคณะสมาชิกสภาเทศบาลฯ ประธานชุมชน ร่วมประชุมแผนพัฒนาเทศบาลพร้อมกับคณะกรรมการจัดทำแผน คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผน และคณะกรรมการติดตามแผนพัฒนาเทศบาล เพื่อนำแผนงานการก่อสร้างโรงเรียนเทศบาลบรรจุเข้าไว้ในแผนพัฒนาเทศบาล ฉบับเพิ่มเติม ครั้งที่ ๕ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๔  และบรรจุเข้าไว้ในแผนพัฒนาเทศบาล ระยะ ๓ ปี ที่จะเริ่มตั้งแต่ปีั ๒๕๕๕ ถึงปี ๒๕๕๗  รวมถึงการกำหนดโครงการก่อสร้่างโรงเรียนเทศบาลเข้าไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาเทศบาล ของเทศบาลตำบลเมืองแกลง  โดยกระบวนการต่าง ๆ ข้างต้น ได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ แล้ว

       และในอนาคตอันใกล้ คณะทำงานจะได้เดินทางไปพบกับผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เพื่อศึกษาแนวทางการขอรับการประเมิน การวางกรอบโครงสร้่างอัตรากำลังบุคลากรครู แผนงาน การจัดการด้านงบประมาณ การจัดหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งนี้ เพื่อความพร้อมในการยื่นขอรับการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษา ระยองเขต ๒ ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อให้สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ทันภายในภาคการศึกษา ๒๕๕๕ กลางปีหน้าต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กระบวนการหมักปุ๋ยได้ผลดีขึ้น เร็วขึ้น... หลังเพิ่มขนาดลูกหมุนและย้ายติดตั้งเหนือหลังคา

คลิปกระบวนการใ้ช้ลูกหมุนเติมอากาศผ่านท่อส่งลมลงสู่กองปุ๋ยหมัก
http://www.youtube.com/watch?v=hST4GdnH5lk

กลุ่มภาพแสดงการติดตั้งท่อส่งลมจากลูกหมุนเติมอากาศถึงในกองปุ๋ยหมัก
https://picasaweb.google.com/muangklangnews/AirBlowCompressIntoTheCompost26Jun2011?authkey=Gv1sRgCIHSzf-_lrL3-QE


ลูกหมุนเติมอากาศลงกองปุ๋ยแบบเดิม
       จากการที่เทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้เข้าสู่กระบวนการนำขยะของเสียกลับมาใช้ใหม่ในหลายรูปแบบเพิ่มยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งล่าสุด สามารถคัดแยกขยะที่มีต้นค่าใช้จ่ายในการเก็บและขนไปฝังกลบ ณ บ้านชำฆ้อกิโลกรัมละ ๑ บาทได้ถึงเดือนละกว่า ๗๐ ตันหรือกว่าเจ็ดหมื่นกิโลกรัมแล้วในขณะนี้ ทำให้ต้องกลับมาให้น้ำหนักกับการพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ในกระบวนการจัดการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากขยะที่สามารถคัดแยกจนสามารถลดงบประมาณค่าใช้จ่ายของเทศบาลลงได้นั้น มีจำนวนมากยิ่งขึ้น

       เช่นในกรณีของการนำขยะอินทรีย์จำพวกเศษผักผลไม้จากครัวเรือน ตลาดสด และที่ติดมากับรถบรรทุกขยะ เพื่อคัดแยกนำไปทำปุ๋ยหมัีกนั้น เนื่องจากพื้นที่การกองปุ๋ยหมักบริเวณศูนย์การเรียนรู้ ด้านหลังอาคารป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ค่อนข้างจำกัด กอปรกับหากแม้ว่าสามารถจะมีพื้นที่มากก็ตาม การกลับกองปุ๋ยหมักเพื่อให้เกิดการถ่ายเทอากาศในกองปุ๋ยได้ทั่วถึง ก็ต้องใช้เครื่องจักรในการโกยพลิกกลับกอง สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ดี หรือหากไม่ใช้วิธีการดังกล่าว หากต่อท่อเติมอากาศในกองปุ๋ย ก็อาจใช้เครื่องเป่าลม อัดอากาศเข้าไปวันละสองเวลาเช้าเย็น ซึ่งก็ต้องสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าเช่นเดียวกัน

ยกระดับความสูงไปเหนือหลังคาและเพิ่มขนาดลูกหมุน
อากาศถ่ายเทสู่กองปุ๋ยดีขึ้นมาก
       เทศบาลฯ จึงเลือกใช้เทคโนโลยีการเติมอากาศลงในกองปุ๋ยหมักด้วยการใช้ลูกหมุนเติมอากาศที่อาศัยแรงลมจากธรรมชาติ เช่นลูกหมุนที่ติดตั้งอยู่ทั่วไปตามหลังคาอาคารโรงงานต่าง ๆ เพื่อระบายอากาศ  โดยในระยะแรก ใช้วิธีต่อลูกหมุนเข้ากับท่อส่งลม สูงจากระดับพื้นประมาณ ๒ เมตร ซึ่งทำให้มีรอบระยะเวลาการหมักปุ๋ยจากเดิมที่หมักไว้โดยเสียบท่อลงไปในกองปุ๋ยเพียงอย่างเดียวซึ่งต้องอาศัยเวลานานถึง ๔ เดือนขึ้นไป มาเหลือประมาณ ๓ เดือน

       จนกระทั่ง ได้พิจารณว่า หากเราสามารถนำลูกหมุนไปติดตั้งยังหลังคาอาคารได้ ก็จะได้แรงลมที่มากยิ่งขึ้น เพราะสูงจากระดับพื้นไม่น้อยกว่า ๖ เมตร ซึ่งมีลมพัดมากกว่า พร้อมกับเพิ่มขนาดลูกหมุนให้ใหญ่ขึ้น  เมื่อติดตั้งใหม่แล้วเสร็จ จากการติดตามทดสอบพบว่า มีการระบายอากาศลงไปในกองปุ๋ยหมักได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับจุลินทรีย์ในกองปุ๋ยต้องอาศัยอากาศในการย่อยสารอินทรีย์  และปุ๋ยมีความชื้นลดลงในระยะเวลาที่สั้นขึ้น โดยสังเกตจากการยุบตัวของกองปุ๋ย จนสามารถย่นเวลาจากการหมักเดิม ๓ เดือนเหลือเพียง ๒ เดือน รวมถึงการบดย่อยขยะอินทรีย์ให้ละเอียดก่อนนำขึ้นกอง ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปุ๋ยหมักสามารถนำไปใช้ได้ในระยะเวลาเพียงไม่เกิน ๒ เดือนดังกล่าว

       การใช้แรงลมที่นับเป็นพลังงานสะอาดทางธรรมชาติเพื่อช่วยในกระบวนการทำปุ๋ยหมัก จึงช่วยให้ไม่ต้องนำพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิง หรือพลังงานจากกระแสไฟฟ้ามาแลกเพื่อให้ได้พลังงานในรูปของปุ๋ยกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนอกจากการลงทุนวัสดุอุปกรณ์เพียงครั้งแรกเท่านั้นแล้ว ก็สามารถนำพลังงานจากธรรมชาติมาใช้ได้อย่างยั่งยืนและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบ้านเรา

       หากท่านสนใจกระบวนการลูกหมุนเติมอากาศในการทำปุ๋ยหมักดังกล่าว เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งมีราคาแพงขึ้นทุกวัน ก็สามารถเข้าชมได้ที่บริเวณศูนย์การเรียนรู้ฯ ด้านหลังอาคารป้องกันบรรเทาสาธารณภัยของเทศาลฯ ได้ทุกวันเวลาราชการ

Delgosea นำผู้แทนจากเมือง Wagatobi อินโดนีเซียเยือนถิ่นเมืองแกลง..สามวันรวด

       ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ ๒๑ ถึง ๒๔ มิถุนายนนี้ เทศบาลตำบลเมืองแกลง ในฐานะเป็นพื้นที่เป้าหมายของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อันประกอบไปด้วย ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ในเครือข่ายองค์การความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เรียกว่า Delgosea นั้น ได้ให้การต้อนรับการมาเยือนของคณะผู้แทนจากเมืองวากา่โตยิ (Wagatobi) จากประเทศอินโดนีเซีย


ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ https://picasaweb.google.com/wallaya.pat/EveningIndonesia?authkey=Gv1sRgCOGdhOjxx-zyfA&feat=email

       ทั้งนี้ ผู้แทนจากเมืองวากาโตบิ ได้ให้ความสนใจกับแนวการพัฒนาเมืองในรูปแบบ "เมืองคาร์บอนต่ำ" (low Cabon City) ของเทศบาลตำบลเมืองแกลง ที่มุ่งแก้ไขปัญหาและเตรียมการป้องกันปัญหาใน ๔ แนวทางคือ การเป็นเมืองสีเขียวที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  เมืองที่มีการจัดการของเสียเพื่อลดภาวะโลกร้อน เมืองที่มีการพัฒนาสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเมืองที่มุ่งสู่การบริโภคอย่างยั่งยืนด้วยการสร้่างความมั่นคงทางอาหารการกินอันอุดมสมบูรณ์สำหรับประชาชนในเมือง  ซึ่งตลอดเวลาของการมาเรียนรู้ รวมถึงการนำประเด็นการพัฒนาเมืองวากาโตบิมาเรียนรู้แลกเปลี่ยนร่วมกันด้วยในครั้งนี้  นอกจากคณะผู้บริหารเทศบาลแล้ว ยังมีคณะสมาชิกสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลง ประธานชุมชน และข้าราชการของเทศบาล ได้เข้าีร่วมการประชุมเสวนาอย่างพร้อมเพรียง  และได้เติมเต็มองค์ความรู้ร่วมกันได้ตามวัตถุประสงค์ของการเดินทางจากประเทศอินโดนีเซียมายังเทศบาลตำบลเมืองแกลง  และเป็นไปตามความมุ่งหมายของเทศบาลตำบลเมืองแกลง ที่มีนโยบายขับเคลื่อนให้เทศบาลเป็นองค์กรแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศระหว่างกันต่อไป

       อนึ่ง เครือข่ายองค์การความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เรียกว่า Delgosea นี้ เป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนงบประมาณจากกลุ่มสหภาพยุโรป ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศอย่าง Konrad Adenauer Stiftung  UCLG ASPAC รวมถึงสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่มีวัตถุประสงค์ให้เกิดการศึกษาอบรม เรียนรู้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารแนวทางการพัฒนาเมืองในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเทศบาลตำบลเมืองแกลงได้รับเชิญให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวมาัตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.๒๕๕๓ ที่ผ่านมา

      

วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ฝนซาเมื่อไร ลงมือก่อสร้างศาลาเก้าเหลี่ยม ที่สนามกีฬาฯ ได้ทันที

       เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างลานเอนกประสงค์ ตลอดจนสะพานทางเดิน และศาลาเก้าเหลี่ยม ซึ่งเทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้ออกแบบให้มีการก่อสร้างขึ้นที่สระน้ำ ณ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พระพรรษา ได้เดินทางมาเพื่อพบนายกเทศมนตรีและคณะผู้บริหาร พร้อมเจ้าหน้าที่กองช่าง ผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว เพื่อซักซ้อม ประสานงาน และหารือการเตรียมงานและการก่อสร้างดังกล่าวซึ่งเทศบาลฯ มีวัตถุประสงค์ ความตั้งใจก่อสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษาในปี ๒๕๕๔ นี้

       ข้อสรุปจากการประชุมการก่อสร้าง เทศบาลฯ จะอนุญาตให้มีการสูบน้ำทั้งหมดออกจากสระน้ำ เพื่อความสะดวก ความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง และความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี ๒๕๕๔ นี้  ส่วนปลาใหญ่น้อยทั้งหลาย จะได้ล้อมจับและนำไปปล่อยเลี้ยงไว้ในสระน้ำแห่งใหม่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หลังสนามฟุตซอลที่อยู่ในบริิเวณเดียวกัน 


       นอกจากนี้ จะได้ลงพื้นที่ร่วมกันพิจารณาการกำหนดเขตพื้นที่การก่อสร้างและการกองวัสดุ เนื่องจากต้องมีการตอกเสาเข็มในงานโครงสร้างฐานรากความยาวต้นละประมาณ ๑๐ เมตรจำนวนมาก และมีผู้ไปใช้สนามกีฬาอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะในวันอาทิตย์ที่กำลังมีการแข่งขันฟุตบอลชุมชนอยู่ในขณะนี้ จึงต้องมีการเตรียมด้านความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้างไว้ก่อน

       และหากฝนไม่ตกชุกจนเกินไปนัก ก็จะเริ่มเข้างานได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ต่อไป โดยเมื่องานก่อสร้างเริ่มต้นขึ้น เทศบาลฯ ใคร่ขอความกรุณาให้ท่านได้โปรดหลีกเลี่ยงบริเวณงานก่อสร้างดังกล่าวไว้ เพื่อความปลอดภัย และความสะดวกในการดำเนินงาน  

วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

โรงเรียนเทศบาลฯ เตรียมขอรับการประเมินกรกฎาคมนี้...นายกอบจ.ระยองรุดดูสถานที่ก่อสร้่าง

       เมื่อวันพุธที่ ๑๖ มิถุนายนนี้ เวลา ๑๐ นาฬิกา เทศบาลตำบลเมืองแกลงได้จัดประชุมเตรียมความพร้อมของคณะทำงาน ในเรื่องการขอรับการประเมินการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งโรงเรียนในสังกัดของเทศบาลตำบลเมืองแกลงขึ้น ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักงานเทศบาลตำบลเมืองแกลง

ปิยะ ปิตุเตชะ นายกอบจ.ระยอง (คนขวา) พร้อมคณะ
ตรวจเยี่ยมสถานที่ก่อสร้างอาคารโรงเรียนเทศบาล
ณ สนามกีฬาฯ เทศบาลตำบลเมืองแกลง
โดยมีมนตรี สิ้นเคราะห์ ที่ปรึกษานายกฯ ทต.เมืองแกลง
ให้การต้อนรับ
       ในการนี้ เทศบาลฯ ได้ขอความร่วมมือไปยังนายวรวิทย์ ศุภโชคชัย นายกเทศมนตรีนครระยอง ซึ่งได้มอบหมายให้นางชวนชม ใจชะอุ่ม ผู้อำนวยการกองการศึกษา เทศบาลนครระยองมาเป็นผู้ให้ข้อมูล รายละเอียดต่าง ๆ ตลอดจนกระบวนการในการจัดเตรียมเอกสารรายละเอียดสำหรับการขอรับการประเมินความพร้อมในการจัดตั้งโรงเรียน ซึ่งคาดว่า จะสามารถยื่นเสนอขอรับการประเมินได้ทันภายในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ หลังจากที่ได้ข้อแนะนำซึ่งทำให้เกิดความชัดเจนครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยจากการประเมินเบื้องต้น กิจกรรมต่าง ๆ ที่คณะผู้บริหารเทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้ตระเตรียม ด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับงานกิจการด้านเด็กและเยาวชนในโครงการต่าง ๆ จำนวนมากที่ผ่านมา อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ รักแม่น้ำประแส  โครงการรับซื้อขยะรีไซเคิลในโรงเรียน  โครงการจัดรถขสมก.รับส่งนักเรียนไปกลับโรงเรียน  โครงการก่อสร้างลานหน้าเสาธง  โรงเรียนแกลง วิทยสถาวร โครงการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอล  โรงเรียนวัดพลงช้่างเผือก  โครงการเข้าบวชเณรภาคฤดูร้อน ที่วัดโพธิ์ทองพุทธาราม และวัดในเขตเทศบาล ภาคฤดูร้อน  โครงการจัดสอนพิเศษเพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย  โครงการจัดส่งบุคลากรช่วยสอนเข้าไปให้ข้อมูลความรู้เรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นของตัวเอง และโครงการอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผู้อำนวยการ กองการศึกษา เทศบาลนครระยอง ได้พิจารณาเบื้องต้นแล้ว เห็นว่า มีความพร้อมสูงสุดที่จะขอเข้ารับการประเมินการจัดตั้งโรงเรียนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษา ระยอง เขต ๒ ได้ต่อไป

ชวนชม ใจชะอุ่ม ผู้อำนวยการกองการศึกษา
เทศบาลนครระยอง
บางส่วนของคณะทำงานจัดตั้งโรงเรียนเทศบาลฯ
       ขณะที่เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายนที่ผ่านมานี้ นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง นายจารุวัฒน์ สุนทรเวชพงศ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และนายธิวัตถ์ ผ่องแผ้ว เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมสถานที่การก่อสร้างอาคารโรงเรียนหลังแรกของเทศบาล ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง จะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างมูลค่า ๒๘ ล้านบาทให้ โดยขณะนี้ได้เห็นชอบกับแบบแปลนของทางเทศบาลตำบลเมืองแกลง และอยู่ระหว่างการประกาศประกวดราคาเพื่อเตรียมลงมือก่อสร้างในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไปแล้ว














ชมภาพการประชุมเพิ่มเติมได้ที่...https://picasaweb.google.com/112954231219227709171/jvjkYG?authkey=Gv1sRgCNaiic7hha7uaA

เพื่อนอาเซียน ภาครัฐ ภาคเอกชน ฝ่าสายฝน เยือนแกลง

คุณนงพัลค์ จั่นเจริญ และคณะผู้แทน
จากบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
      ในช่วงตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ เทศบาลตำบลเมืองแกลง ในฐานะศูนย์การเรียนรู้ เครือข่ายด้านการบริหารจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อม ประจำภาคตะวันออก ได้มีโอกาสให้การต้อนรับคณะผู้มาเยือนจากหลายแห่งด้วยกัน ทั้งนี้ นอกจากเพื่อวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้แลกเปลี่ยนระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาล และ อบต. แล้ว ยังมีภาคเยาวชนและนักเรียน อาทิ จากโรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย และโรงเรียนปลวกแดงพิทยาคมที่จะเข้าพื้นที่ในวันที่ ๑๗ นี้ รวมถึงจากสถาบันการศึกษาอย่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีด้วย

       ขณะที่ในส่วนของภาคราชการเช่นจากโรงพยาบาลแกดำ จังหวัดมหาสารคาม  งานพัฒนาชุมชนของที่ว่าการอำเภอผักไห่ จังหวัดอยุธยา ก็ยังได้เข้าพื้นที่เขตเทศบาลตำบลเมืองแกลง เพื่อศึกษา เรียนรู้แลกเปลี่ยนกระบวนทัศน์ กระบวนงานในการพัฒนาเมืองร่วมกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังมีผู้แทนสายงานพัฒนาชุมชนและสังคม ของบริษัท ปตท. จำกัด ทั้งจากสำนักงานใหญ่ ที่กรุงเทพมหานคร และในพื้นที่จังหวัดระยองได้เดินทางมาเยี่ยมชมการดำเนินงานของเทศบาลด้วย

นายกเทศมนตรีจากเมือง Misamis Oriental ประเทศฟิลิปปินส์ (ขวา)
และผู้ร่วมคณะ
       และในโปรแกรมของเครือข่ายกลุ่มงานเดลโก้ซี (Delgosea) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับภูมิภาคของอาเซียนนั้น เมื่อวันที่ ๑๒ และ ๑๓ มิถุนายนที่ผ่านมา ผู้แทนจากเมือง Misamis Oriental จากหมู่เกาะมินดาเนาทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ ก็ได้เข้าสู่โหมด (Mode) ของการแวะเพิ่มเติมองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเมือง ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศในวันถัดไป

คณะจากเทศบาลตำบลเกล็ดแก้ว สัตหีบ ชลบุรี
       นอกจากนี้ ยังมีคณะผู้แทนจากบริษัท โตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยการประสานงานของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย อีกคณะหนึ่งซึ่งได้เดินทางมาเมืองแกลงเมื่อวันอังคารที่ ๑๔ มิถุนายน ที่ผ่านมา เพื่อรับฟังข้อมูลความพร้อม และตรวจประเมินสถานที่ในโครงการความร่วมมือในการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ "เมืองแกลงลดโลกร้อน" ซึ่งจะเป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งที่ ๓ ในประเทศไทยที่บริษัท โตโยต้าฯ ได้ริเริ่มโครงการร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยมาแล้ว ๒ แห่งก่อนหน้า คือที่เทศบาลเืมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และเทศบาลตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน  ในการนี้ นอกจากคณะผู้บริหารเทศบาลแล้ว ยังมีสมาชิกสภาเทศบาลตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งความคืบหน้าของการพิจารณาดำเนินการในระยะต่อไปของเรื่องนี้ จะได้นำเสนอสู่ท่านทราบต่อไป

ชมภาพเพิ่มเติมการประชุมร่วมกันระหว่างเทศบาลฯ บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
https://picasaweb.google.com/ddu2530/142011?authkey=Gv1sRgCKGd3OHSkuS00QE

ภาพการมาเยือนของเทศบาลตำบลเกล็ดแก้ว อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
https://picasaweb.google.com/ddu2530/1454?authkey=Gv1sRgCJifpryT0_6xEA


ภาพคณะผู้แทนจากเมือง Misamis Oriental ,Philippine
https://picasaweb.google.com/ddu2530/1354?authkey=Gv1sRgCPKwuMPj89bl8wE

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กีฬา ๑๓ ชุมชนสัมพันธ์ ปีที่ ๖ บอล เปตอง ตะกร้อ มีพลิก หักปากกาเซียน..บอลในยาง มาบใหญ่ มาแหล่ม

    

       ประเดิมการแข่งขันกีฬาชุมชนสัมพันธ์ กีฬาประจำปีที่จัดกันมาเป็นปีที่ ๖ แล้ว สำหรับ ๑๓ ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลเมืองแกลง เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน ที่ผ่านมานี้







(ชมภาพการเปิดการแข่งขันเพิ่มเติมได้ที่
https://picasaweb.google.com/ddu2530/6?authkey=Gv1sRgCMOq0oPDi7yDOg#5617220152016847074)

       ในพิธีเปิดดังกล่าว นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหว้ัดระยอง พร้อมคณะผู้บริหาร ได้เดินทางมาเป็นประธาน โดยมีคณะผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลง ให้การต้อนรับ ซึ่งได้แบ่งการแข่งขันออกเป็น ๓ ชนิดกีฬา คือ ฟุตบอล เปตอง และตะกร้อ นับจากนี้เป็นต้นไป จะแข่งแบบพบกันหมดทุกชนิดกีฬา ทุกวันอาทิตย์ ไปจนถึงวันที่ ๑๑ กันยายน รวม ๓ เดือน เพื่อส่งเสริมสุขภาพพลานามัยของพี่น้องประชาชน และเพื่อเป็นโอกาสได้พบปะกันของผู้คนในเขตเทศบาล 

       สำหรับนักกีฬาอาวุโสในปีนี้ซึ่งเป็นผู้จุดไฟกระถางคบเพลิงเปิดการแข่งขันกีฬา และนำตัวแทนนักกีฬาของทั้ง ๑๓ ชุมชนกล่าวปฏิญาณตนในการเป็นนักกีฬาที่ดี ได้แก่ คุณอั๊ง อดีตพนักงานธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาแกลง ซึ่งเป็นอดีตนักกีฬาฟุตบอลที่ผ่านการแข่งขันมาในหลาย ๆ ระดับ และสามารถครองถ้วยรางวัลมามากมาย และสิ่งสำคัญคือ เมื่อประมาณหกปีก่อน ได้เกิดภาวะของอาการอัมพฤกษ์ขึ้นกับร่างกาย จนล้มป่วยต้องพักรักษาตัวเป็นระยะเวลาพอสมควร จนสามารถกลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงได้อีกครั้งหนึ่งอย่างน่าชื่นชม และเิป็นแบบอย่างที่ดีของความใจสู้ และความที่เชื่อในหลักการที่ว่า ตนเองย่อมเป็นหมอให้กับสุขภาพร่างกายของตนเองได้ดีกว่าใคร

       เทศบาลฯ จึงขอเชิญชวนทุกท่านได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของการออกกำลังกายเป็นกิจวัตร ซึ่งไม่เพียงแต่ท่านจะมีตวามสดชื่นแจ่มใสเท่านั้น คนรอบข้างก็จะพลอยมีความสุขไปกับการมีสุขภาพที่ดีของเราด้วย เพราะรากฐานที่สำคัญที่สุดของการดำเนินชีวิต ประกอบอาชีพการงาน คือการมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรงสมบูรณ์นั่นเอง

       เทศบาลฯ ขอขอบคุณส่วนฝ่ายต่าง ๆ ที่ได้เข้าร่วมสนับสนุนกิจกรรมกีฬาชุมชนสัมพันธ์ในครั้งนี้ คือ โรงเรียนแกลง วิทยสถาวร โรงเรียนมกุฏเมืองราชวิทยาลัย โรงเรียนบ้านเนินสำรอง คณะสมาชิกสภาเทศบาล คณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง คณะกรรมการชุมชนทั้ง ๑๓ แห่ง มา ณ โอกาสนี้


       สำหรับผลการแข่งขันกีฬาทั้ง ๓ ประเภท สามารถติดตามได้ทางเว้ปไซต์เมืองแกลงดอทคอมของเทศบาล ซึ่งจะมีการปรับข้อมูลทุกวันจันทร์ วันถัดไปของการแข่งขันทุกสัปดาห์ หรือติดตามได้ทางวิทยุเอฟเอ็ม ๑๐๔ เสียงจากเมืองแกลง หรือทางเสียงตามสาย หอกระจายข่าว ส่วนสมาชิกข่าวผ่านโทรศัพท์มือถือ สามารถรับผลการแข่งขันได้ทางระบบ sms ของเทศบาลเช่นทุกปีที่ผ่านมา


       ร่วมกันไปชมการแข่งขัน ร่วมกันเป็นกำลังใจ ร่วมกันเชียร์ แต่งชุดกีฬา ใส่ชุดวอร์ม ไปเติมเต็มสุขภาพพลานามัยของเรา ของชุมชน ของหมู่เราชาวเมืองแกลงได้ทันที ที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พระพรรษา สนามกีฬากลางของเทศบาล

    


https://picasaweb.google.com/ddu2530/6?authkey=Gv1sRgCMOq0oPDi7yDOg#5617220152016847074

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เทศบาลฯ พร้อมเข้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามงบประมาณปี ๕๔ แล้วจากนี้เป็นต้นไป

ภาพแสดงบริเวณที่จะมีการพัฒนาตามงบประมาณ ปี ๕๔
แสดงชื่อโครงการบนตำแหน่งภาพ
       เดือนมิถุนายน ในปีงบประมาณ ๒๕๕๔ นี้ นับเป็นปลายไตรมาสที่ ๓ ของปีงบประมาณซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ ๓๐ เดือนกันยายนที่จะถึงนี้ เทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้จัดทำโครงการต่าง ๆ ตามนโยบายของคณะผู้บริหารที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลง ด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาเมืองให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ซึ่งขณะนี้ ได้ดำเนินการจนสามารถก่อสัญญาได้แล้วเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และกำลังจะเริ่มดำเนินการในเร็ววันนี้ ดังนี้

       ๑. งานปรับปรุงผิวจราจรและวางท่อระบายน้ำถนนมาบใหญ่ ซอย ๒ และซอย ๔ หรือบริเวณซอยบ้านลุงง้วนและซอยถัดไป ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ เส้นทางบริเวณนี้ก็จะสามารถใช้การได้ด้วยความสะดวกครบครัน


       ๒. งานปรับปรุงผิวจราจรซอยบ้านป้าฝุ่น ตั้งสงบ จากที่เป็นผิวทางลูกรังมาแต่เดิม


       ๓. ถนนนพเก้า ซอย ๙ หรือซอยบ้านช่างต๋อง ไฟฟ้า ซึ่งจะปรับปรุงเป็นผิวจราจรมาตรฐานพร้อมวางท่อระบายน้ำ หลัีงจากที่เทศบาลฯ ได้ดำเนินการด้านนิติกรรมเป็นทางหลวงเทศบาลเรียบร้อยแล้ว


       ๔. งานปรับปรุงผิวจราจรซอยสนามแบดนันทบุตรเดิม เนื่องจากผิวทางเดิมมีสภาพชำรุดเสื่อมโทรมตามอายุการใช้งาน


       ๕. ถนนซอยรูปเกือกม้า บ้านคุณโหนก ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งผิวทางแอสฟัลท์ติกเดิมหมดสภาพเพราะอายุการใช้งาน


       ๖. งานวางท่อระบายน้ำจากบริเวณหลังโรงเจกุยอิงเกาะถึงปากซอยข้างร้านแว่นบิวตี้ฟูล เพื่อระบายน้ำจากถนนหนองกันเกรา ป้ายทันใจมาออกถนนสุขุมวิทอีกช่องทางหนึ่ง


       ๗. งานก่อสร้่างศาลาเก้าเหลี่ยม ณ กลางสระน้ำ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พระพรรษา ซึ่งนำรูปทรงศาลาทรงงาน ณ พระราชวังไกลกังวลมาเป็นแบบ เพื่อเทอดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา


       ๘. งานก่อสร้างถนนคอนกรีต พร้อมวางท่อระบายน้ำ ซอยบนเนิน ตอนที่ ๓ ตอนสุดท้าย บริเวณหน้าบ้านนายจำนงค์ เจริญกิจ ชุมชนวัดโพธิ์ทอง ที่จะทำให้การสัญจรไปมาสะดวกยิ่งขึ้น


       ๙. งานปรับปรุงก่อสร้างถนนพร้อท่อระบายน้ำ ในหมู่บ้านลาวัณย์เสถียร ตอนที่ ๓ ต่อจากของเดิม


       ๑๐. งานวางท่อระบายน้ำถนนพลงช้างเผือก ซอย ๑ ฝั่งตรงข้ามบ้านหมอฉวนเพื่อระบายน้ำบริเวณถนนพลงช้างเผือกได้ดีขึ้น


       ๑๑. งานลาดยางถนนซอยข้างอู่ช่างจุ่น จากผิวทางลูกรังเดิม


       ๑๒. งานก่อสร้างผิวทางลาดยางซอยแยกจากซอยนายหยง กล้าหาญ จากสภาพผิวทางลูกรังเดิม

             นอกจากนี้ เทศบาลฯ ยังเตรียมที่จะประกาศสอบราคางานปรับปรุงอาคารตลาดสด เทศบาล ๑ หรือตลาดเย็นในเร็ววันนี้จากเงินรางวัลการพัฒนาตลาดสดที่ได้รับประมาณ ๖ แสนบาท และเทศบาลฯ โดยความเห็นชอบของสภาเทศบาลฯ สมทบเพิ่มอีกประมาณ ๔ แสนบาท เพื่อปรับปรุงอาคารตลาดสดหลังเดิมให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น รวมถึงงานติดตั้งสนามเด็กเล่น พร้อมอุปกรณ์ตามช่วงวัย ที่สนามกีฬาฯ เทศบาล โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ในวันที่ ๑๕ มิถุนายนนี้เป็นต้นไป 


       จึงประกาศแจ้งมาเพื่อทราบ โปรดเพิ่มความระมัดระวังในพื้นที่บริเวณก่อสร้าง และขออภัยในความไม่สะดวกขณะดำเนินการมา ณ โอกาสนี้ โดยหากมีข้อแนะนำเพิ่มเติมระหว่างการดำเนินการ โปรดติดต่องานประชาสัมพันธ์ที่ ๐๓๘ ๖๗๑๑๓๒ ในวันและเวลาทำการ 

      

  

โยมวัดพลงฯ จับมือเทศบาล ช่วยกันซ้ำพื้นที่ ๑๓ ไร่ให้เป็นป่า รอบสอง

       เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ มิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการและศิษยานุศิษย์ วัดพลงช้างเผือก ได้ร่วมกันปลูกป่าในที่ดิน ๑๓ ไร่ บริเวณด้านหลังของวัด เป็นครั้งที่ ๒  โดยการปลูกในครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยังมีพื้นที่ว่างเหลืออยู่อีกจำนวนหนึ่ง และไม้ยืนต้นที่เทศบาลฯ ได้นำไปปลูกในครั้งแรก มีการเติบโตได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน ดินฟ้าอากาศเป็นใจให้ต้นไม้ได้งอกงาม

       และล่าสุด เมื่อวันพุธที่ ๘ มิถุนายน ที่ผ่านมานี้ เจ้าหน้าที่งานพืชผักภูมิทัศน์และสวนสาธารณะ กองช่าง เทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้นำไม้ยืนต้นไปปลูกเพิ่มเติมอีก คือ ต้นตะแบก จำนวน ๒๐ ต้น  ต้นขี้เหล็ก จำนวน ๑๐ ต้น  ต้นสะเดา จำนวน ๑๐ ต้น  ต้นตะเคียน จำนวน ๔ ต้น  ต้นกันเกรา จำนวน ๕ ต้น  ต้นยางนา จำนวน ๖ ต้น  ต้นประดู่ จำนวน ๔ ต้น รวมการปลูกไม้ยืนต้นในครั้งที่ ๒ นี้ จำนวนทั้งสิ้น ๕๙  ต้น ซึ่งยังคงอาศัยหลักการปลูกสวนป่าไว้คือ เพื่อให้คนและสัตว์ใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต  ไม่จัดระเบียบระยะระหว่างแถวหรือระยะระหว่างต้น การดูแลรักษาจะไม่ใช้ยาหรือปุ๋ยที่เป็นสารเคมี แต่จะดูแลด้วยปุ๋ยอินทรีย์ของเทศบาล จำพวกปุ๋ยน้ำอีเอ็ม หรือปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เพื่อให้สภาพดินได้ฟื้นตัวมีสภาพเหมาะสมในระยะยาว


       เทศบาลฯ จึงของเชิญชวนทุกท่านได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ในช่วงฤดูฝนนี้ เพื่อประโยชน์ของเราเอง เพื่อความร่มรื่นสวยงาม และเพื่อลดภาวะสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงจนเกิดความแปรปรวนอยู่ทั่วไปในขณะนี้


       และในโอกาสต่อไป จะได้นำเสนอเรื่องการปลูกต้นสนเป็นแนวยาวตลอดริมฝั่งแม่น้ำประแส เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ กันพื้นที่ริมน้ำไว้ให้เป็นที่อนุบาลของสัตว์น้ำขนาดเล็กสู่ท่านต่อไป


ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่...
https://picasaweb.google.com/wongsubinuthai233/mCGBbD?authkey=Gv1sRgCKaIsv_Djea_Lg#


       


วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เยี่ยมเรือนเยือนถิ่นเมืองแกลง ตอนที่ ๕ สวนรอบบ้านอุทัย วงศ์สุิบิน..ใช่แค่สุบิน..ลงมือปลูกจนได้กินผล

       ในซอยสุนทรภู่    ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า  “ซอยชนบท”  แยกเข้าไปสายซอยอีกประมาณ  ๑๔๐ เมตร  เป็นบ้านของอดีตครูโรงเรียนวัดพลงช้างเผือก ข้าราชการบำนาญที่ปัจจุบันไม่ยอมอยู่หายใจทิ้งไปวัน ๆ โดยผันตัวเองมาทำหน้าที่สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลงเพื่อร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองต่อไป


            เขาคือ ครูอุทัย วงศ์สุบิน เจ้าของบ้านที่มีบริเวณเนื้อที่กว่า ๒๐๐ ตารางวา กับศรีภรรยา  คุณวัชราภรณ์  อยู่กันสองคนตายาย เพราะลูกชายสองคนเติบโตจนแยกครอบครัวออกไป และไปทำงานต่างถิ่นหลายปีแล้ว


              ที่น่าสนใจคือ ครั้งที่ครูอุทัยปลูกบ้านเสร็จ เห็นมีที่ว่างรอบ ๆ บ้านอยู่อีกมาก แกจึงปลูกไม้ยืนต้นและไม้ดอก ไม้ประดับไว้เรื่อยมา  โดยมีทั้ง ไม้ให้ผล เช่น กระท้อน มะม่วง มังคุด มะพร้าว เป็นต้น  ส่วนไม้ดอกไม้ประดับ แม่บ้านรับหน้าที่ปลูก มีทั้งจำพวกไม้ให้กลิ่นหอม เช่น
เศรษฐีสยาม  โมกพวง  พุดสลับ  เป็นต้น  ไม้ประดับอื่นๆก็มี  เช่น  โกศล  เข็ม  ลีลาวดีลูกศร  ดอลลี่ดอลย่า  รวมถึงต้นหางนกยูงแคระที่เคยขอปันจากเทศบาลไปเมื่อหลายปีก่อนด้วย 

        ครูอุทัย  ไม่ได้คิดจะปลูกต้นไม้เหล่านี้ไว้เพื่อหวังได้นำผลมารับประทานเพียงหรือเพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว ครูยังคิดว่า  ต้นไม้นั้นไม่ว่าจะเป็นไม้ดอกหรือไม้ประดับย่อมให้ประโยชน์ในด้านความร่มรื่น  ร่มเงาและยังช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดให้กับเราได้ในยามที่เราแบ่งเวลาไปใส่ใจสังเกตสังกาอยู่กับเขา  จนเป็นงานอดิเรกที่เป็นความสุขชนิดที่ไม่ต้องเดินทางไปไกล ไม่ต้องใช้เงินซื้อหา  เมื่อเราเลี้ยงให้เขาเจริญเติบโต เขาก็ชูกิ่งใบให้ร่มเงาแก่เราเป็นการตอบแทน  ช่วยลดความร้อนภายในบ้านจากร่มเงาของต้นไม้ได้เป็นอย่างดี

       เมื่อไรที่ลงมือปลูกต้นไม้ ก็ค่อนข้างจะมั่นใจได้แต่ต้นเลยว่า เราสามารถคิดหวังได้ว่าต้นไม้ที่เราปลูกจะเติบใหญ่ได้ต่อไป เพราะดินฟ้าอากาศบ้านเราเป็นใจ  ครูอุทัย จึงอยากเชิญชวนทุกท่านให้หาพื้นที่ว่าง จากพื้นที่ที่ดูเหมือนจะไม่ว่างในบริเวณบ้านให้ได้ แล้วลงมือปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะในหน้าฝนอย่างในขณะนี้ เพื่อให้เทวดารดน้ำต้นไม้ให้เราได้อย่างสบาย ๆ  นอกจากนี้ ครูยังมีแผนการปลูกพืชระยะสั้นจำพวกผักสวนครัวไว้ในบริเวณบ้านอีกด้วย อย่างน้อย เพื่อเตือนใจให้รู้ว่า เราสามารถปลูกพืชที่เป็นอาหารที่เก็บเกี่ยวได้ในระยะเวลาอันสั้นไว้รับประทานเองได้เหมือนกับผลไม้ที่มีระยะเก็บเกี่ยวผลที่นานกว่า และเพื่อเตือนใจเรื่องดินฟ้าอากาศของโลกที่แปรปรวนจากการกระทำของมนุษย์ เรื่องการพึ่งพาตนเองโดยการปลูกไม้กินได้  และซื้อหาพืชผักไว้รับปรทานเพิ่มเติมตามความจำเป็น   


            

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เตือนขับขี่ด้วยความระมัดระวังขณะฝนตกหนักใน ๖ เส้นทาง

บริเวณจุดที่ควรชลอความเร็วของยานพาหนะขณะฝนตกหนักเพื่อความปลอดภัย
       ในระยะนี้ สภาพดินฟ้าอากาศโดยรวมอยู่ในช่วงฤดูฝน โดยที่พื้นที่บ้านเรา มีฝนตกหนักสลับเบาค่อนข้างถี่กว่าในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  เป็นระยะที่ชาวนาเตรียมตกกล้าทำนา บ้างก็ไถพรวนและปักดำไปแล้ว

       และในพื้นที่เขตชุมชนเมือง  เทศบาลตำบลเมืองแกลงได้เตรียมการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำไม่ทันในกรณีฝนตกหนักติดต่อกันไว้มาโดยตลอด และเทศบาลฯ จะขอแจ้งให้ทราบว่า กรณีชุมชนด้านทิศเหนือของถนนสุขุมวิท ขอให้ท่านโปรดใช้ความระมัดระวังเมื่อขับขี่ขณะฝนตกหนักในบริเวณ กลางซอยวัดสารนาถฯ บริเวณหน้าศูนย์เยาวชนฯ ตลาด ๔ ถนนหนองกันเกรา ป้ายทันใจ และบริเวณปากซอยนพเก้า ถนนมาบใหญ่ เนื่องจากทั้ง ๓ แห่งนี้ อาจมีระดับน้ำท่วมผิวถนนกรณีฝนตกหนัก ขอให้ท่านชลอความเร็วของรถลง เพื่อความปลอดภัย

แผงกั้นบนถนนทาสีขาวแดงที่เตรียมไว้ใช้หากเกิดปัญหาระบายน้ำไม่ทัน
ขอให้สังเกตให้ดีขณะขับขี่ผ่านพื้นที่ที่อาจมีน้ำเ่อ่อสูงหากฝนตกหนัก 
       ส่วนพื้นที่ทางด้านทิศใต้ของถนนสุขุมวิท มีบริเวณที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่คือ บริเวณช่วงกลางถนนเทศบาล ๑ หน้าร้านก๋วยเตี๋ยวเจ๊น้อง  บริเวณถนนเทศบาล ๒ หน้าร้านหมู มิตรยนต์ และบริเวณปากซอยบ้านหมอฉวน พลงช้่างเผือก ซอย ๑  ซึ่งอาจเกิดปัญหาลักษณะเดียวกันคือมีระดับน้ำเ่อ่อขึ้นบนถนน ทั้งนี้ เพื่อความสะดวก ก็อาจหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางดังกล่าว โดยหันไปใช้เส้นทางอื่นแทน โดยเฉพาะในช่วงเช้าก่อนเข้าเรียนของโรงเรียนแกลง วิทยสถาวร ฯ มีเส้นทางอื่นให้ท่านเลือกเดินทางได้อีกหลายสาย

       เทศบาลฯ จึงขอแจ้งมายังท่านได้โปรดเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะการลดความเร็วของยวดยานพาหนะลง ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้รับความปลอดภัยแล้ว ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชนทั้งสองฝั่งถนนในกรณีน้ำกระซ่านหรือไม่ถูกคลื่นน้ำซัดเข้าบ้าน  จากการขับขี่ยวดยานรวดเร็วเกินไป ทั้งนี้ เทศบาลฯ ได้จัดเตรียมกระสอบทรายไว้ป้องกันน้ำซัดเข้าบ้านไว้ในจุดเสี่ยงแล้ว และได้เตรียมแผงไม้ทาสีขาวแดงไว้ตามจุดต่าง ๆ เพื่อให้ท่านที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว สามารถพิจารณานำมากั้นปิดเส้นทางหรือใช้ชลอความเร็วของรถได้ทันที หากเกิดกรณีฉุกเฉิน

       จึงขอความร่วมมือมา ณ โอกาสนี้

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เมืองแกลงเดินหน้าติดอาวุธทางความคิดช่วยกันแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อน


(ชมภาพเพิ่มเติมที่..https://picasaweb.google.com/maepim/22011?authkey=Gv1sRgCIfjubLqt5mZcw# )
    
       ตลอดเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ เทศบาลตำบลเมืองแกลง ยังคงเดินหน้าในภารกิจของการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้แลกเปลี่ยน ตามนโยบายของนายกเทศมนตรีที่ได้แถลงต่อสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลง ในคราวเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ 

       เทศบาลตำบลเมืองแกลงในฐานะของศูนย์การเรียนรู้ เครือข่ายด้านการจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อม ประจำภาคตะวันออก จึงได้ให้การต้อนรับผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนภิกษุสามเณร ที่มีความประสงค์จะเข้ามาต่อยอดเติมเต็ม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในภารกิจด้านการพัฒนาเมืองของเทศบาลตำบลเมืองแกลง ซึ่งมีคณะต่าง ๆ เข้ามาในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ ถึง ๑๔ คณะ จำนวนกว่าหนึ่งพันคน  (รายละเอียดปรากฏตามข้อมูลในภาพถ่าย)

       ในขณะเดียวกัน ในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุำกฝ่าย ได้พยายามปฏิบัิตงานเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของนายกเทศมนตรีในอีก ๔ ประเด็นหลัก คือ การทำให้บ้านเมืองน่าอยู่ ผู้คนมีความสุข บ้านเมืองมีสิ่งแวดล้อมยั่งยืน และการเป็นองค์กรแห่งการเรียนู้และพัฒนา โดยภารกิจต่าง ๆ จะมีการตรวจติดตามประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องเพื่อประสิทธิภาพในการตอบสนองการแก้ปัญหาและการพัฒนาโดยยึดพื้นที่บ้านเมืองแห่งตนเป็นหลักต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ดวงสุริยฉาย ที่ปลายหัวเสารั้วกำแพงเหลืองแดง "แกลง วิทยสถาวร"

       ขณะนี้ หากเราได้มีโอกาสเดินทางผ่านโรงเรียนแกลง วิทยสถาวร ก็จะพบว่า กำแพงโรงเรียนตลอดแนวด้านหน้า ถนนพลงช้างเืผือก ได้มีการรื้อปรับปรุงก่อสร้่างเป็นกำแพงในรูปลักษณ์ใหม่ โดยที่งบประมาณการก่อสร้างครั้งนี้ ได้มาจากการระดมทุนจากบรรดานักเรียนเก่าโรงเรียนแกลงฯ ในคราวจัดงานครบรอบ ๙๓ ปีของโรงเรียน และในโอกาสต่าง ๆ เรื่อยมา ประมาณแปดแสนบาท

       สำหรับรั้วโรงเรียนรูปลักษณ์ใหม่นี้ เทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้รับการประสานงานจากนายสุพจน์ เบญจามฤต ผู้อำนวยการโรงเรียนแกลงฯ ให้ออกแบบและถอดประมาณราคาก่อนจะลงมือก่อสร้าง  เทศบาลฯ จึงกำหนดหลักคิดในการออกแบบรั้วกำแพงโรงเรียนไว้ว่า รูปแบบใหม่นี้ ควรที่จะสื่อความหมายถึงการเป็นสถานศึกษาอบรมให้ความรู้ สื่อความหมายถึงความที่เป็นโรงเรียนเก่าแก่ที่มีอายุกว่าเก้าสิบปีผ่านมาที่ได้ผลิตลูกศิษย์ลูกหาสำเร็จการศึกษาออกไปมากมาย  จากนั้น จึงได้นำเอาหลักคิดนี้มาพิจารณาออกแบบเสารั้วโรงเรียนให้มีลักษณะเหมือนด้ามปากกาคอแร็งส์ ซึ่งสื่อนัยยะของการเป็นสถานที่เล่าเรียนเขียนอ่าน ตัวเสาเป็นด้ามปากกา มีลวดลายพอประมาณไม่ให้เกิดความเป็นเสากำแพงธรรมดาเกินไปนัก  หัวเสาเป็นรูปทรงหัวปากกาคอแร็งส์ ที่หัวเสามีตัวหนังสือ "วส" และสัญลักษณ์พระอาทิตย์ขึ้น อันเป็นตราสัญลักษณ์ของโรงเรียน แกลง วิทยสถาวร  

       ส่วนช่องกำแพงนั้น มีลักษณะเป็นโครงสร้างเหล็กดัดมีลวดลายสวยงาม  โปร่งตา เพื่อเปิดมุมมองพื้นที่ภายในบริเวณโรงเรียนให้เห็นชัดเจนขึ้น  และเพื่อการถ่ายเทอากาศที่ดี  ตรงกลางช่องกำแพงมีตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนไว้อีกช่องละหนึ่งชุด เพื่อให้นักเรียนของโรงเรียนได้ตระหนักและเกิดความรักความภาคภูมิใจในความเป็นมา และเกียรติประวัติของโรงเรียน โดยเรื่องการให้สีรั้วกำแพงนั้น ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นผู้กำหนดขึ้นให้สอดคล้องกับสีเหลืองแดง อันเป็นสีประจำโรงเรียน

       เทศบาลฯ คาดหวังว่า นอกจากการถ่ายทอดความรู้สึกไปยังสิ่งปลูกสร้างเช่นในกรณีของรั้วกำแพงโรงเรียนแกลงฯ ซึ่งเป็นหน่วยสำคัญหน่วยหนึ่งในพื้นที่เมืองแกลงนี้แล้ว ก็ยังจะสามารถสะท้อนถึงรากและความเป็นมาของบ้านเมืองแห่งตนได้อีกส่วนหนึ่งด้วย  ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้ดำเนินการไปแล้วในหลาย ๆ สิ่งปลูกสร้าง คือ ศาลาต้นโพธิ์  อนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่สนามกีฬาฯ  ถนนแกลงกล้าหาญที่เป็นเส้นทางเข้าสู่สนามกีฬาฯ  สะพาน ๑๐๐ ปี บ้านตลาดสามย่าน  เรือนหอประวัติเมืองแกลง  ศาลาแหลมท่าตะเคียน  หากพวกเราช่วยกันให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ในการออกแบบสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะเป็นถาวรวัตถุ ก็เชื่อได้ว่า อัตลักษณ์แห่งเมืองก็จะเกิดขึ้นได้อยู่ทั่วไป โดยอัตลักษณ์ความงดงาม ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่สถานที่สำคัญ ๆ ในเมืองหลวงหรือตามหัวเมืองใหญ่ ๆ  และไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งปลูกสร้างแต่ในส่วนของภาคราชการเท่านั้น เพราะบ้านเมืองเป็นของเราทุกคน  เราต้องมาช่วยกัน และในวันที่เราไม่อยู่ ถาวรวัตถุเหล่านี้ยังจะอยู่ไปกับบ้านเมืองอีกตราบนานเท่านาน