โปรดทราบ

ร่วมแจ้งข่าวสารต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน "เมืองแกลงนิวส์" ได้ที่ muangklangnews@gmail.com เพื่อที่กองบรรณาธิการข่าวจะได้พิจารณานำเผยแพร่ต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สภาเทศบาลฯ ผ่านความเห็นชอบงานใหม่ เร่งต่อยอดโครงการเดิมกว่าสิบโครงการ... ให้สถานธนานุบาลเพิ่มทุนเตรียมความพร้อมการเข้าถึงแหล่งทุนช่วงใกล้ฤดูผลไม้ ขยายงานบริการที่สวนสาธารณะ 30-12-2012

       



วันศุกร์ที่ ๒๘ ธันวาคม นี้ นายปรวีร์ วัฒนานุกิจ ประธานสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้เรียกประชุมสภา สมัยวิสามัญ เป็นการส่งท้ายปี ๒๕๕๕ ตามที่คณะผู้บริหารเทศบาลฯ ร้องขอ เพื่อนำโครงการเสนอสภาฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อประสิทธิภาพและความฉับไว

       ในการนี้ สภาฯ ได้ให้ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ในการรับโอนอาคารคอนกรีตที่มีผู้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างในวงเงิน ๒.๕ ล้านบาท และเทศบาลฯ สมทบอีก ๔ แสนบาทข้างบ้านก๋ง โครงการปรับปรุงก่อสร้างซอยบ้านนายเวช ฝั่งตรงข้ามศาลาแหลมท่าตะเคียนภายหลังที่ถนนสองแหลมฝั่งทิศตะวันตกก่อสร้างแล้วเสร็จ การปรับปรุงก่อสร้างถนนพร้อมท่อระบายน้ำ การปรับปรุงห้องสุขาสำหรับพนักงานเทศบาล และบุคคลภายนอก การก่อสร้างโรงจอดยานพาหนะ และโรงจอดรถขสมก. การก่อสร้างอาคารแสดงผลิตภัณฑ์ ภายในบริเวณศูนย์การเรียนรู้ ด้านการจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อม ประจำภาคตะวันออก (บริเวณอาคารป้องกันบรรเทาสาธารณภัย) เพื่อเตรียมความพร้อมยิ่งขึ้นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรองรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community) ที่ใกล้จะถึงนี้

       นอกจากนี้ สภาฯ ยังได้ให้ความเห็นชอบการเตรียมเงินทุนสำรองสำหรับการเข้าถึงแหล่งทุนของเกษตรกรในฤดูปิดหน้ายาง และการดูแลผลผลิตผลไม้ที่ใกล้จะเข้าสู่ฤดูกาลภายในสองสามเดือนข้างหน้านี้ และการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับผู้ปกครองนักเรียนในช่วงเปิดเทอมเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นอีกจำนวน ๓๐ ล้านบาท โครงการจ้างเหมาออกแบบอาคารสโมสรบ้านเราชาวแกลง อาคารโรงละครสุนทรภู่ งานต่อขยายอาคารเอนกประสงค์รูปทรงคล้ายสถานีรถไฟหัวลำโพง และการเตรียมระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยแผงโซล่าร์เซลเพื่อป้อนเข้าสู่อาคารบ้านดิน และบ้านก๋ง ภายในบริเวณศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ ณ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พระพรรษา โดยโครงการทั้งหมดจะเร่งดำเนินการแต่ต้นปี ๒๕๕๖ เป็นต้นไป


วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ตลาดสีเขียว นัดที่สาม..พรึ่บพรั่บด้วยถุงผ้า ตะกร้า เชือกกล้วย




       นัดที่สามของตลาดกลางแกลง...ท่ามกลางความแย้มยิ้มไมตรี ยังได้พบเห็นสิ่งดี ๆ ที่ฝ่ายผู้ขาย และผู้ซื้อ ต่างไม่พยายามจะใช้ถุงพลาสติค กล่องโฟม แต่เลือกที่จะใช้ใบตองห่อของ ใช้เชือกกล้วยร้อยเหงือกปลา ใช้ถุงผ้า และหิเวตะกร้ามาจ่ายตลาด

       เทศบาลฯ จัดเตรียมแคร่ไม้ไผ่เพิ่มไว้อีกสามสิบตัว และเมื่อตลาดวาย ยังได้เห็นพ่อค้าแม่ขายขวนขวายยกแคร่กลับมาคืนน่าชื่นใจ ไม่นับรวมการทิ้งขยะในที่ที่จัดไว้ให้

      ที่สำคัญมากมาย คือการได้ความจากพ่อค้าแม่ค้าหลาย ๆ รายว่าได้ปลูกพืชผักสวนครัวกันเพิ่มขึ้นอีก ด้วยแน่ใจว่าหากมีเหลือก็มีที่ขายที่ตลาดนี้.... และลำดับต่อไปในอีกไม่ช้านาน  ยังหวังใจจะได้เห็นผลผลิตจำพวกพืชผักจากอีกหลายต่อหลายโรงเรียนที่ได้มีการติดต่อประสานงานกันนอกรอบให้บรรดานักเรียนได้ลงแรงช่วยกันปลูก ได้มาวางซื้อขายแลกเปลี่ยนกันที่นี่  โดยที่เทศบาลฯ เต็มใจและยินดีสนับสนุนทั้งปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกที่ผลิตได้เองให้ครับ

       นี้จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ชีวิตที่เราทั้งหลายได้มาช่วยกันประดิษฐ์ปรุงแต่งให้เกิดขึ้นในเมืองแกลงถิ่นเนาว์....

วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ส่องแหล่งข้าวปลาอาหาร หนตะวันออกของเมืองแกลง



        วันอาทิตย์ที่ ๒๓ ธันวาใช้เวลาออกสำรวจแวะเยี่ยมเยียนพวก จากแหลมท่าตะเคียนไปหมู่ ๗ ทางเกวียน ถิ่นผู้ใหญ่เอ๋ เพราะอยากรู้หนักว่าปลากะพงที่ตาสุทธิ์แกจับมาขายทำไมมันช่างสดอ้วนน่ากินนัก...จึงได้รู้ว่าเขาเลี้ยงกันในสระธรรมชาติริมคลอง ขุนปลาข้างเหลืองให้กินเป็นครั้งคราวนั่นเอง

        ใกล้เที่ยงไปบ้านดอนมะกอก แวะเยี่ยมวรรณ คนขยันที่ปีนี้ทั้งควายหาย ทั้งนาข้าวไม่ได้ตามเป้าหมายเพราะน้ำหลากท่วมในการหว่านหนสอง ยังดีที่มีไก่ไข่และแปลงผักพอประทังไปได้บ้าง....บ้านนี้เอาเศษข้าวเศษอาหารมาหมักเป็นแก๊สชีวภาพใช้ได้สบาย ไม่นับรวม ที่รับจ้างคนแถวบ้านซักผ้า แล้วไม่ยอมปล่อยน้ำทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ แต่เอากลับไปไหลรอบแปลงให้ดินชุ่มชื้นน่าสนใจ

        บ่ายตามไปดูปลาที่บ่อพี่จรูญ ที่เขาว่ากันว่าใครไปตกขึ้นมา แกคิดเหมาโลละ ๔๐ บาท ได้ตังค์บ้างแจกบ้าง ตัวเล็กก็โยนกลับลงไป ขณะที่ยายปลูกกับเจ๊แหม่ดผู้ลูก ยังสาละวนฝัดข้าวสารเตรียมส่งกลับไปบรรจุเป็น "ข้าวแกลง" อย่างเข้มแข็ง...ส่วนเยปาน แม่ค้าที่เที่ยวรับผักรับปลาบ้านโน้นบ้านนี้ยันย่านหนองกะพ้อ พันจำ มอบประธานจ๋ำไปทาบทามให้มาขายที่ตลาดนัดกันครับ

        ตกเย็นไปประชุมกับชาวบ้านโพธิ์ทอง ที่แทบไม่ต้องสาธยายเรื่องผักปลา ได้แต่บอกไปว่า อันตลาดกลางแกลง ตลาดนัดสีเขียวของชาวเมืองแกลงนี้ แม้ตั้งอยู่ในที่สนามกีฬา แต่ก็อยู่ในเขตพื้นที่ชุมชนแห่งนี้ อย่าได้ปล่อยให้ใครเขาเข้ามาลูบคมลูบจมูกเสือเจ้าถิ่นเรื่องข้าวปลาอาหาร เรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้บ้านเราได้ง่าย ๆ เชียว ที่นี่มีหมึกกับโสภาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงลงแรงเองด้วยน่าประทับใจ

        ตกค่ำ นัดประธานชุมชนย่านนั้นไปคุยนอกรอบที่ร้านบ้านตากาแฟ ระหว่างรอไปสำรวจชั้นวาง "ข้าวแกลง" ในร้านขาย อดขอบใจในใจถึงพี่หนุ่มไม่ได้ ได้เห็นถุงข้าวแกลง วางเรียงราย ที่ลูกน้องในร้านบอกขายดี...เราเองก็รู้สึกลึก ๆ ว่าในถุงนี้ นี่คือของที่แม่โพสพเขาปั้นดิน ผสม น้ำในเมืองแกลงอยู่้สามสี่เดือนแล้วมาแปลงสภาพเป็นเมล็ดข้าวชั้นดีไว้ให้เราทั้งหลายนี่เอง

วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

รื่นรมย์ หรรษา สัปดาห์ละนัดเดียว...ทั้งถือ ทั้งทัก ทั้งเคี้ยวเพลิน

  

.....นัดที่สองของตลาดกลางแกลงผ่านไป
       สำคัญกว่าการซื้อ การขาย...ว่าไหม...คือความยิ้มแย้มทักทายที่ได้มาพบปะกัน...

.......ฝันว่าอยากเห็นตลาดเป็นแบบไหน....
       อยากทำให้เป็นตลาดผักสีเขียวพื้นบ้าน ปลูกกันเอง ซื้อขายกันเอง
       กุ้ง หอย ปู ปลา หากันมาแต่ในคลองบ้านเรา
       งานประดิษฐ์ งานฝีมือ เมื่อไม่ทำด้วยเครื่องจักรแล้วไซร้ ให้เอามาขายกัน
      
...... ใช้ใบตอง เชือกกล้วย ถุงผ้า ตะกร้า เป็นภาชนะใส่ของ
       อย่ายีดครองพื้นที่ตรงนี้ตรงนั้นฉันจอง
       ไม่ทำอะไรมากไปกว่าวัตถุประสงค์ให้ได้มาพบเจอกัน นำของดี ๆ มาสู่กัน 
       ถ้าขนาดตลาดจะเล็ก ก็ให้เล็กอย่างอัดแน่นด้วยคุณภาพ
      และถ้าตลาดจะขยาย ก็ต้องคุมหัวคุมท้ายไม่ให้ข้าวของฉีกแนวไปจากเมื่อคราวตั้งต้นตรงนี้

.......นัดหน้ามาเสาะหารอยยิ้ม มาโปรยคำทักทาย มาบองของสด สะอาด ปลอดภัย กันใหม่ครับ
       
       


วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ชมรม Klaeng Honda Classic รวมพลเกือบห้าพัน ร่วมกันอุทิศเงินเพื่อการศึกษาและการค้นคว้าพลังงาน

        


 เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๕ ธันวาคมศกนี้ ชมรม Klaeng HondamClassic เมืองแกลง ได้จัดกิจกรรมรวมพลคนรักรถสำหรับมวลหมู่สมาชิกจากจังหวัดต่าง ๆ ขึ้น ณ สนามกีฬากลาง เมืองแกลง ตามที่กำหนดไว้ในเดือนธันวาคมทุกปี

       การนี้ ได้มอบเงินรายได้จำนวนทั้งสิ้น ๕๕,๐๐๐ บาท แก่เทศบาลตำบลเมืองแกลง โดยนำเข้าสมทบกองทุนโรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยา จำนวน ๓๕,๐๐๐ บาท เพื่อใช้ในกิจกรรมการจัดการศึกษา และนำเข้ากองทุนของศูนย์การเรียนรู้ ด้านการจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อม ประจำภาคตะวันออก จำนวน ๒๕,๐๐๐ บาท
เพื่อใช้ต่อยอดงานค้นคว้าวิจัยการใช้ังงานทางเลือกต่อเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

       พร้อมนี้ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ด้านพลังงานสำหรับผู้รักยานยนต์ สถานการณ์ต้นทุนพลังงาน และทิศทางการปรับตัวเพื่อช่วยกันลดมลพิษด้วยวิธีการต่าง ๆ  เทศบาลตำบลเมืองแกลงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อาคารส่วนต่อเติมจากบ้านก๋ง ได้ปริมาณงานตามแผนขั้นตอนที่ ๑ ..ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายใส่ใจหมายเสร็จตามกำหนด

       

  ๑๑ ธันวาที่ผ่านมา คุณนงพัลค์ จั่นเจริญ จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หนึ่งในคณะกรรมการตรวจการจ้างตามที่เทศบาลฯ ได้เรียนเชิญเข้าร่วมในโครงการก่อสร้างอาคารขนาดหน้ากว้าง ๑๖ เมตร ลึก ๖ เมตร ต่อเติมเชื่อโยงกับบ้านก๋ง อันมีรูปแบบลักษณะอาคารที่เกิดอยู่ในยุคเดียวกัน ได้เดินทางลงพื้นที่สำรวจตรวจสอบความก้าวหน้าของงานในขั้นตอนการกำหนดผังตำแหน่ง และงานวางฐานรากอาคาร ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนงวดงานที่ ๑ ปรากฎได้ปริมาณงานทันตามแผนเป็นที่น่าพอใจ

       ล่าสุด ขณะนี้อยู่ในแผนงานช่วงที่ ๒ คืองานปรับเทพื้นชั้นล่าง ตั้งเสาเทคานรับน้ำหนักเตรียมขึ้นพื้นชั้นที่สองของอาคาร ก่อนที่จะเข้าสู่งานก่อผนัง มุงหลังคา ฯ เพื่อให้ทันการเข้าจัดนิทรรศการในตัวอาคารในราวต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ต่อไป ทั้งนี้อาคารบริเวณนี้ที่ได้วางแผนการออกแบบวัสดุการก่อสร้างอาคารโดยจำแนกออกเป็น วัสดุดิน ไม้ คอนกรีต นั้น  เมื่อแล้วเสร็จ จะสามารถเปิดให้ประชาชนทุกรุ่นวัยทั้งในและนอกพื้นที่ตลอดจนผู้สนใจเข้าศึกษาหาความรู้ได้ในราวสัปดาห์ที่ ๓ ของเดือนมีนาคม ศกหน้าเป็นต้นไป

       

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ผลหมากรากไม้จากดิน น้ำ... ย่ำเท้ามาตามนัดที่ "ตลาดกลางแกลง" ...นัดแรกผ่านได้ละมัย ๆ ...



  ...ครั้นถึงวันกำหนดนัดแรกสำหรับตลาดนัดสีเขียว "ตลาดกลางแกลง" เมื่อพุธที่ ๑๒ ที่ผ่านมา ประดาพ่อค้าแม่ขายที่เป็นมือสมัครเล่น หากแต่ใจสมัครรักที่จะหยิบยื่นสิ่งดี ๆ แก่ผู้อื่นอเนล้วนแต่คุ้นหน้าคุ้นตาจากชุมชนต่าง ๆ  ต่างพากันมาด้วยสีหน้าแช่มชื่น ด้วยเป็นตลาดนัดใหม่ในสถานที่ใหม่ ณ ลานหน้าชานบ้านก๋ง สนามกีฬาเมืองแกลง ตกเพลาบ่ายคล้อย ผู้คนที่ได้ทราบข่าวจากสื่อต่าง ๆ ก็ทยอยกันมาจนในบางเวลาให้รู้สึกอุ่นหนาฝาคั่งแซมแทรกด้วยความคุ้นเคยเป็นกันเอง

       ผักสวนครัวสีเขียวหลากชนิดจากหลังบ้าน และจากในสวน เป็นเขียวอันชวนพิศในวันพิเศษเช่นนี้ ที่มาไกลยังมีผลผลิตตรา "ควายยิ้ม" จากกลุ่มรักษ์เขาชะเมา บ้านทุ่งควายกินที่พกเอาเมล็ดพันธุ์ผักมาแจกอีกด้วย มีปลากระพงสด ๆ ที่ดิ้นไปมาอยู่ในข้องด้วยเพิ่งตกขึ้นมาจากหนองน้ำย่านบ้านพลงช้างเผือกมาขายกันถูก ๆ ขณะที่ดอนมะกอก หนองควายเขาหัก ก็ไม่น้อยหน้าขนข้าวปลาอาหารมาวางขายกันอยู่มิใช่น้อย ไม่นับรวมงานฝีมืออย่างกระเป๋าจักสาน ถุงผ้า สลับกับการเต้นลีลาศของชมรมลีลาศที่มาสร้างสีสรรความครื้นเครงบนชานบ้านก๋งอย่างเพลินตา

       ก่อนที่จะถึงนัดหน้า ยังมีเรื่องต้องมาให้แก้ไข เพื่อไปสู่จุดหมาย การส่งเสริมให้ชาวเมืองแกลงกลับไปช่วยกันจัดแจงฟื้นฟูให้มีแหล่งอาหารพืชผักเป็นของตัวเองไว้ที่สวนหลังบ้าน ปลุกเลี้ยงพืชผักกันด้วยความรักผู้อื่น เพื่อผู้อื่นได้บริโภคกันแต่ของดีและปลอดภัยจากเคมียาฆ่าแมลง ช่วยให้แกลงมีแหล่งอาหารเป็นของตนเอง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั้งยืนมั่นคงต่อไป 

วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ฤดูเกี่ยวข้าวกำลังเครื่องร้อน โรงสี "ข้าวแกลง" อ้าแขนรับผลผลิตจากดินน้ำประจำถิ่นเมืองแกลงอย่างเต็มใจ หมายช่วยลดการเดินทางของอาหาร บรรเทาโลกป่วย

       

  ศุภวารแต่ปลายพฤศจิกาเรื่อยมา ผืนนาที่เปล่งสีทองของรวงข้าวยามต้องแสงตะวันนับแต่ย่านดอนมะกอก หนองควายเขาหัก เนินฆ้อ คลองปูน ฯ ส่งสัญญาณสู่การเก็บเกี่ยวผลผลิตจากน้ำพักน้ำแรง และจากธรรมชาติแห่งดิน น้ำ ฟ้าที่เมืองแกลง ป้อนสู่การเก็บข้าวเปลือกรอบใหม่ เพื่อรอเวลาให้เป็นข้าวเก่าพร้อมที่จะสีออกมาเป็นข้าวกล้องตรา "ข้าวแกลง" ขณะที่ข้าวเปลือกฤดูกาลเดิมก็ถูกลำเลียงเข้าเครื่องสีข้าวจนร่อยหรอลงเรื่อย ๆ 

       ดิน น้ำ ฟ้าที่ช่วยกันประคบประหงมต้นกล้าสู่เมล็ดข้าวมาสู่ชาวแกลงที่ลงแรงตกกล้า เป็นเรื่องมีรากจากการมีปฐพีสัณฐานด้านใกล้ชายทะเลเป็นที่ลุ่มต่ำดังเทวดาสร้าง เราจึงควรใส่ใจกับเรื่องอันว่าด้วยข้าว ที่ต้องกินกันวันละสามเวลาไปจนตลอดชีวิต อันเมืองที่ประกอบด้วยคนจำนวนมาก พึงต้องมีแหล่งผลิตไว้ประจำฐานด้วย ใช่แต่ทำงานไปแลกเงิน แล้วเอาเงินไปแลกข้าวที่ต้องขนส่งมาจากที่ไกล ๆ ตามสไตล์การพัฒนาเมืองที่ทอดทิ้งเรื่องความมั่นคงทางอาหารไปอย่างน่าสะพรึง

       "เมื่อใดที่ไม่ดัดแปลงที่ดินให้ผิดไปจากภาคเกษตร สวนผลไม้ ยางพารา นาข้าว เมื่อนัั้นแกลงก็ยังเป็นของคนเมืองแกลงเป็นส่วนใหญ่...ยิ่งพึ่งพาดิน น่ำ ฟ้าลดลงเท่าใด แกลงก็เหมือนยิ่งใกล้จะขาดใจมากเท่านั้น"......

       ช่วยกันอุดหนุน "ข้าวแกลง" เหมือนช่วยแปลงดิน น้ำ ฟ้า ให้เป็นเงินตราแก่ชาวนาบ้านเราให้มีรายได้  เพื่อขยายพื้นที่ปลูกข้าวออกไปให้เหมือนอดีตที่เคยเรืองรองมีข้าวส่งออกกันครับ ( พบ "ข้าวแกลง" ที่ตลาดกลางแกลงทุกวันพุธ และร้านจำหน่ายใกล้บ้าน)

วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ส่งท้ายวันแห่งความชุ่มชื่นใจ เมืองแกลงปรับปรุงสะพานข้ามคลองตั้งใจถวายพ่อ

     














 งานส่งท้ายที่เทศบาลฯ ตั้งใจทำถวายพ่อวันที่ ๕ ธันวาคมปีนี้ คือการปรับปรุงทาสีสะพาน "เฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี " ที่อาศัยข้ามคลองประแสอยู่บริเวณถนนท่ายายบุญ - บ้านบนเนิน ( ซอยลมโชย) มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ 

       สะพานนี้ แต่เดิม เมื่อกรมโยธาธิการมาการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นแทนสะพานไม้เดิมที่เรียกกันว่าสะพานฝั่งธน ถนนโพธิ์ทองเมื่อปี ๒๕๓๕ ก็ได้มีการรื้อถอนนำไม้สะพานจากตรงนี้ มาสร้างที่ซอยลมโชย  จนเมื่อปี ๒๕๔๗ สะพานไม้ซอยลมโชยทรุดโทรมบำรุดอย่างหนัก รถยนต์ไม่สามารถข้ามไปมาได้  เทศบาลจึงออกแบบก่อสร้างใหม่เป็นสะพานคอนกรีต ความยาว ๓๒ เมตร ความกว้าง ๖ เมตร สองฝั่งสะพานมีทางเดินเท้ากว้าง ๑ เมตร แต่ละฝั่งมีช่องยืนขนาดกว้าง ๑ เมตร ๒ ช่อง แยกออกจากทางเท้า ใช้สำหรับชมวิวคลอง ที่รอสะพานทั้งสี่ด้าน ออกแบบเป็นเสาสูงสำหรับติดไฟฟ้าแสงสว่างที่หัวเสา

       ระหว่างการก่อสร้าง เทศบาลได้ประสานงานไปยังสำนักราชเลขาธิการในพระองค์ และได้รับอนุญาตให้ติดตราสัญลักษณ์ พร้อมกับชื่อสะพานว่า "สะพานเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี" เมื่อปี ๒๕๔๙ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานมาถึง ๖๐ ปี ยิ่งกว่ากษัตริย์ใด ๆ ในโลกนี้

       ปัจจุบัน มีผู้ใช้สะพานและเส้นทางสายนี้กันมาก ด้วยเป็นเส้นทางมุ่งสู่สนามกีฬาและสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พระพรรษา และใช้เชื่อมโยงเป็นถนนของผู้คนในท้องถิ่นเมืองแกลงระหว่างทิศตะวันออกทตะวันตกเข้าด้วยกันโดยไม่ต้องไปพึ่งพาทางหลวงแผ่นดินอย่างถนนสุขุมวิท สร้างความปลอดภัยต่อชีวิตทรัพย์สินและประหยัดระยะการเดินทางได้มาก

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กิ่งกาดชาดอำเภอแกลงจับมือเมืองแกลงทำกุศลวันพ่อ

         

๔ ธันวาคม... กิ่งกาชาดอำเภอแกลง จับมือเทศบาลตำบลเมืองแกลงเปิดรับบริจาคโลหิต ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันพ่อแห่งชาติขึ้น ที่ หอประวัติเมืองแกลง ในการนี้ นายสุรพล เทียนสุวรรณ นายอำเภอแกลง เดินทางมาเป็นประธานในพิธีกล่าวราชสดุดี... ในการนี้ มีสมาชิกกิ่งกาชาดฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เทศบาลฯ อสม. โรงพยาบาลแกลง เป็นฝ่ายดำเนินงาน มีประชาชนทั่วไป นักศึกษาจากวิทยาลัยการอาชีพแกลง พนักงานจากบริษัทเอพีน่ามอุตสาหกรรม จำกัด เข้าบริจาคโลหิต

       เมื่อเสร็จการ สามารถรวมรวมโลหิตได้ ๕๐,๔๐๐ ซีซี จากผู้บริจาคจำนวน ๑๑๒ คน (คนละ ๔๕๐ ซีซี) ทั้งนี้ ยังมีประชาชนที่แสดงความประสงค์มาบริจาคดวงตาไว้ในโอกาสนี้อีก ๓๖ ราย บริจาคอวัยวะส่วนอื่นๆ (ปอด ตับ ไต หัวใจ) อีก ๑๓ ราย ....ขอขอบคุณคุณดวงพร เทียนสุวรรณ นายกกิ่งกาชาดอำเภอแกลง พร้อมคณะและผู้เข้าร่วมกิจกรรมอันเป็นกุศลแก่เพื่อนมนุษย์ที่เจ็บป่วยรอความช่วยเหลือมา ณ โอกาสนี้ ขณะที่ คณะกรรมการทุกชุมชนในพื้นที่ ออกบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะในโอกาสวันพ่อเช่นเดียวกัน

วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

2 Act. 2 school + plus in Muangklang...นัดทำกิจกรรมใกล้วันพ่อ

      

   วันจันทร์ที่ ๓ ธันวาคม โรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยา จัดกิจกรรมวันพ่อขึ้นเป็นครั้งแรกหลังเปิดการเรียนการสอนมาแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้เชิญคุณนิคม สุวรรณกิจ ผู้บริจาคที่ดินให้แก่เทศบาลตำบลเมืองแกลงเพื่อสมทบการก่อสร้างโรงเรียน มาเป็นประธานถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมการกล่าวสดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวันพ่อ กับเป็นประธานรับความเคารพจากนักเรียน ในการนี้ มีสมาชิกสภาเทศบาลร่วมเดินทางมาร่วมงาน  ตลอดจนคุณพ่อคุณแม่ของนักเรียนมาร่วมรับการแสดงความเคารพกตัญญูจากลูก ๆ ด้วย ไม่นับรวมการแสดงของเด็ก ๆ ที่สร้างความอบอุ่น และความรู้สึกชื่นบานใจต่อบุพการี.....เป็นภาพตรึงใจจากการโอบกอดหอมฟอดอันละมุมนละมัยจากสายใยสู่สายใยของความผูกพันทั่วไปในวันนี้อย่างน่าจดจำ

       ในขณะที่อีกฟากหนึ่ง ลูกเสือเนตรนารี จากโรงเรียนแกล วิทยสถาวร ถึง ๕๕๕ ชีวิต ออกเดินทางไกลตามหลักสูตร โดยปีนี้เลือกใช้เส้นทางจากที่ตั้ง มุ่งหน้าสู่ท่าน้ำศาลาต้นโพธิ์ ศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อม ท่าน้ำศาลาแหลมท่าตะเคียน วัดสารนาถธรรมาราม เพื่อศึกษาเรียนรู้เรื่องราวพื้นที่ตั้งบ้านเมืองแห่งตน โดยมีทีมวิทยากรของเทศบาลตำบลเมืองแกลงคอยประจำฐานเพื่อส่งถ่ายข้อมูลประจำเมืองแก่ลูกเสือ เนตรนารีในทุกพื้นที่เป้าหมาย

วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

แล้วขิงแก่เมืองแกลง.. หัวใจก็ไม่ยอมแพ้จริง ๆ..กว่าสี่ร้อยชีวิต ฝ่าเดินเพื่อในหลวงกว่า 3.5 กิโลเมตรฉลุยหลังทุกผู้นามพร้อมกันเปล่งเสียงสดุดีมหาราชาดังกึกก้องในหัวใจ

  




    


    มาตามนัดโดยมิต้องขึ้นป้ายประกาศแม้เพียงสักป้าย สำหรับชาวชมรมผู้สูงวัย เมืองแกลง...ที่เปรียบดังขิงแก่ อันยิ่งแก่ยิ่งเผ็ด เด็ดสะระตี่...พลันพร้อมส.ส.นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ นายอำเภอแกลง นายกกิ่งกาชาดอำเภอแกลงเปล่งเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี และสดุดีมหาราชาแล้ว ขบวนที่เคล้าเสียงเพลงแห่งความจงรักภักดีได้เคลื่อนออกจากหอประวัติเมืองแกลง มาตามเส้นทางสุนทรโวหาร สุขุมวิท ลอดอุโมงค์ร่มไม้ที่ถนนแกลงกล้าหาญ ด้วยระยะทางกว่า ๓.๕ กิโลเมตร ถึงสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พระพรรษา เดินตามกันมาเป็นริ้วสีชมพูครบถ้วนทั่วทุกตัวคน

     มิเพียงนัยอันยิ่งใหญ่ที่จะสำแดงหัวใจในความเป็นข้ารองพระบาทที่จะถวายพระพรแด่พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระเจริญในโอกาสทรงมีพระชนมายุครบ ๘๕ พรรษาแล้ว ชาวขิงแก่ยังนับเอาเป็นกิจกรรมพบปะสร้างเสริมพลานามัย บวกกับการจำหน่ายเสื้อ "ขิงแก่ หัวใจไม่ยอมแพ้" เพื่อระดมทุนสำหรับการดำเนินงานของชมรมด้วยพลังของชาวขิงแก่เองอย่างน่ายกย่องสรรเสริญอีกด้วย

     อดขึ้นข่าว ติดป้ายติดแท็กชื่นชมใจทุกดวงที่ไม่ยอมแพ้ อันมารวมกันเพื่อพ่อไว้ในโอกาสนี้มิได้ ที่ทำให้ชุ่มชื้นชื่นใจ....


วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555

"ศาลาว่าแกลง แถลงการณ์โลกร้อน...ผุดหลังที่ ๔ แล้ว...เดิมพันต่องเสร็จต้นกุมภาหน้า




  












       วันพุธที่ ๒๘ พฤศจิกายนนี้ อาคารหลังที่ ๔ ในบริเวณโรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยา ได้ฤกษ์ลงมือก่อสร้างในขั้นตอนแรก คือขุดดินเทฐานราก ขนาดหน้ากว้าง ๑๖เมตร ความลึกตัวอาคาร ๖ เมตร ทิ้งระยะห่างจากบ้านก๋ง ๔ เมตรเพื่อทำเป็นพื้นทางเชื่อมสองอาคารเข้าด้วยกัน ที่ระดับพื้นสูงจากพื้นดินเดิมเท่ากัน

เทศบาลฯ ได้รับการประสานงานจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัดในวงเงินสองล้านห้าแสนบาท เทศบาลฯ สมทบอีกสี่แสนบาท รวมมูลค่างานก่อสร้างอาคารเป็นเงิน ๒.๙ ล้านบาท โดยมีความจำเป็นจะต้องเร่งงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จในราวต้นเดือนกุมภาพันธ์ศกหน้า เพื่อใบ้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการของศูนย์การเรียนรู้ " ศาลาว่าแกลง แถลงการณ์โลกร้อน" สำหรับบริการนักเรียน เยาวชน และประชาชนที่สนใจทั่วไป

       เทศบาลฯ มุ่งหวังจะถ่ายทอดลักษณะเฉพาะตัวของงานก่อสร้างอาคารเหล่านี้ไว้เพื่อได้เรียนรู้ศึกษาลักษณะการอยู่อาศัยของคนสมัยก่อนตามย่านหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ที่รับส่งถ่ายเททุกสิ่งอย่างและปรับตัวจากการเดินทางคมนาคมไปมาค้าขายอย่างกลมกลืนไว้อีกทางหนึ่งด้วย เพื่อได้มีข้อสังเกตสังกาจากการสัมผัสและเข้าใช้อาคารเหล่านี้โดยไม่ปล่อยให้อาคารรุ่นเก่า ๆ ต้องมีค่าเหลือเพียงแค่ความทรงจำ