ชมวีดีโอการทำปุ๋ยคอกจากหมูหลุมที่นี่ http://www.youtube.com/watch?v=Rh1idU-dGQQ
ท่ามกลางกระแสการพัฒนา ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคมแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาติดตามมาของชุมชนเมืองนั่นคือ เรื่องขยะหรือของเสียของเมืองต่าง ๆ ที่ได้สร้างปัญหาให้กับแต่ละพื้นที่ทั้งด้านสุขอนามัย ด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่นเทศบาลในพื้นที่เอง จนอาจกล่าวได้ว่า หากเทศบาลใดสามารถประหยัดตัดค่าใช้จ่ายที่หมดไปกับค่าจัดการขยะของเสียได้มากเท่าใด นั่นหมายถึง จะยิ่งมีความรวดเร็วในการพัฒนาเมืองได้มากเท่านั้น เนื่องจากเงินงบประมาณไม่ต้องเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์
เทศบาลตำบลเมืองแกลงตระหนักในปัญหานี้และสร้างกระบวนการในการจัดการเรื่องขยะของเสียของเมืองร่วมกับพี่น้องชาวเทศบาลมาเป็นระยะเวลาหลายปี จนสามารถลดงบประมาณไปเพื่อการนี้ได้เป็นจำนวนมาก จนอาจกล่าวได้ว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงของการสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพยิ่ง ๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการเขตปลอดถังขยะที่ต้องอาศัยวินัยความร่วมมือเป็นกิจวัตร โครงการรับซื้อขยะตามโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตเทศบาลและรับซื้อกล่องนม กล่องน้ำผลไม้ ถุงพลาสติคจากชุมชนและโรงเรียนต่าง ๆ เกือบ ๑๐๐ โรงเรียน เพื่อสกัดมิให้ขยะที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้อีกเหล่้านี้ต้องไปที่หลุมฝังกลบอย่างเปล่าประโยชน์ โครงการคัดแยกเศษอาหาร เศษผักผลไม้จากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ อาทิ ร้านอาหาร ร้านผลไม้ ตลาดสด เพื่อนำไปกำจัดด้วยวิธีธรรมชาติ โดยการอาศัยสิ่งมีชีวิต ตั้งแต่ขนาดเล็กมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น อย่างจุิลินทรีย์ ไปจนถึงสัตว์ใหญ่ ๆ อย่างวัว โดยมีคำตอบเป็นผลผลิตในรูปของปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอกที่สามารถนำกลับไปใช้ฟื้นฟูปรับปรุงคุณภาพดินและน้ำได้ ซึ่งเป็นหัวใจอันสำคัญของเมืองที่มีชีวิตความเป็นอยู่ด้วยการทำเกษตรอย่างเมืองแกลง และผูกพันไปถึงธุรกิจทั่วไปในเขตเทศบาลตำบลเมืองแกลง
และขณะนี้ เทศบาลตำบลเมืองแกลงขยับปรับปรุงการเลี้ยงหมูหลุม จำนวน ๕๐ ตัวเพื่อกำจัดเศษอาหารของเมืองไปสู่การนำเอามูลของมันไปทำแก๊สชีวภาพเพื่อใช้ในโรงฆ่าสัตว์ และนำไปผึ่งบนลานตากให้เหลือความชื้นพอประมาณก่อนที่จะนำไปใช้ในรูปของปุ๋ยคอก บำรุงต้นไม้ต่าง ๆ ในเขตเทศบาล ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยบำรุงดินลงไปได้จำนวนมาก
เทศบาลฯ จึงขอเชิญชวนทุกท่านได้ร่วมกันตระหนักและเห็นคุณค่าของขยะของเสียเหล่านี้ร่วมกัน ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด คือนำเศษผักเศษอาหารเหล่านี้กลับไปหมักทำปุ๋ย หรือฝังลงดินเพื่อให้จุลินทรีย์ตามธรรมชาติในเนื้อดินย่อยสลายให้เป็นปุ๋ยได้เอง เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ซึ่งนับเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
เนื่องจากบล็อกนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องราวการดำเนินงานของเทศบาล โปรดให้ข้อสังเกต คำแนะนำ หรือเติมเต็มองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเมืองต่อไป