ขณะนี้ หากเราได้มีโอกาสเดินทางผ่านโรงเรียนแกลง วิทยสถาวร ก็จะพบว่า กำแพงโรงเรียนตลอดแนวด้านหน้า ถนนพลงช้างเืผือก ได้มีการรื้อปรับปรุงก่อสร้่างเป็นกำแพงในรูปลักษณ์ใหม่ โดยที่งบประมาณการก่อสร้างครั้งนี้ ได้มาจากการระดมทุนจากบรรดานักเรียนเก่าโรงเรียนแกลงฯ ในคราวจัดงานครบรอบ ๙๓ ปีของโรงเรียน และในโอกาสต่าง ๆ เรื่อยมา ประมาณแปดแสนบาท
สำหรับรั้วโรงเรียนรูปลักษณ์ใหม่นี้ เทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้รับการประสานงานจากนายสุพจน์ เบญจามฤต ผู้อำนวยการโรงเรียนแกลงฯ ให้ออกแบบและถอดประมาณราคาก่อนจะลงมือก่อสร้าง เทศบาลฯ จึงกำหนดหลักคิดในการออกแบบรั้วกำแพงโรงเรียนไว้ว่า รูปแบบใหม่นี้ ควรที่จะสื่อความหมายถึงการเป็นสถานศึกษาอบรมให้ความรู้ สื่อความหมายถึงความที่เป็นโรงเรียนเก่าแก่ที่มีอายุกว่าเก้าสิบปีผ่านมาที่ได้ผลิตลูกศิษย์ลูกหาสำเร็จการศึกษาออกไปมากมาย จากนั้น จึงได้นำเอาหลักคิดนี้มาพิจารณาออกแบบเสารั้วโรงเรียนให้มีลักษณะเหมือนด้ามปากกาคอแร็งส์ ซึ่งสื่อนัยยะของการเป็นสถานที่เล่าเรียนเขียนอ่าน ตัวเสาเป็นด้ามปากกา มีลวดลายพอประมาณไม่ให้เกิดความเป็นเสากำแพงธรรมดาเกินไปนัก หัวเสาเป็นรูปทรงหัวปากกาคอแร็งส์ ที่หัวเสามีตัวหนังสือ "วส" และสัญลักษณ์พระอาทิตย์ขึ้น อันเป็นตราสัญลักษณ์ของโรงเรียน แกลง วิทยสถาวร
ส่วนช่องกำแพงนั้น มีลักษณะเป็นโครงสร้างเหล็กดัดมีลวดลายสวยงาม โปร่งตา เพื่อเปิดมุมมองพื้นที่ภายในบริเวณโรงเรียนให้เห็นชัดเจนขึ้น และเพื่อการถ่ายเทอากาศที่ดี ตรงกลางช่องกำแพงมีตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนไว้อีกช่องละหนึ่งชุด เพื่อให้นักเรียนของโรงเรียนได้ตระหนักและเกิดความรักความภาคภูมิใจในความเป็นมา และเกียรติประวัติของโรงเรียน โดยเรื่องการให้สีรั้วกำแพงนั้น ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นผู้กำหนดขึ้นให้สอดคล้องกับสีเหลืองแดง อันเป็นสีประจำโรงเรียน
เทศบาลฯ คาดหวังว่า นอกจากการถ่ายทอดความรู้สึกไปยังสิ่งปลูกสร้างเช่นในกรณีของรั้วกำแพงโรงเรียนแกลงฯ ซึ่งเป็นหน่วยสำคัญหน่วยหนึ่งในพื้นที่เมืองแกลงนี้แล้ว ก็ยังจะสามารถสะท้อนถึงรากและความเป็นมาของบ้านเมืองแห่งตนได้อีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้ดำเนินการไปแล้วในหลาย ๆ สิ่งปลูกสร้าง คือ ศาลาต้นโพธิ์ อนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่สนามกีฬาฯ ถนนแกลงกล้าหาญที่เป็นเส้นทางเข้าสู่สนามกีฬาฯ สะพาน ๑๐๐ ปี บ้านตลาดสามย่าน เรือนหอประวัติเมืองแกลง ศาลาแหลมท่าตะเคียน หากพวกเราช่วยกันให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ในการออกแบบสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะเป็นถาวรวัตถุ ก็เชื่อได้ว่า อัตลักษณ์แห่งเมืองก็จะเกิดขึ้นได้อยู่ทั่วไป โดยอัตลักษณ์ความงดงาม ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่สถานที่สำคัญ ๆ ในเมืองหลวงหรือตามหัวเมืองใหญ่ ๆ และไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งปลูกสร้างแต่ในส่วนของภาคราชการเท่านั้น เพราะบ้านเมืองเป็นของเราทุกคน เราต้องมาช่วยกัน และในวันที่เราไม่อยู่ ถาวรวัตถุเหล่านี้ยังจะอยู่ไปกับบ้านเมืองอีกตราบนานเท่านาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
เนื่องจากบล็อกนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องราวการดำเนินงานของเทศบาล โปรดให้ข้อสังเกต คำแนะนำ หรือเติมเต็มองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเมืองต่อไป