เขาคือ ครูอุทัย วงศ์สุบิน เจ้าของบ้านที่มีบริเวณเนื้อที่กว่า ๒๐๐ ตารางวา กับศรีภรรยา คุณวัชราภรณ์ อยู่กันสองคนตายาย เพราะลูกชายสองคนเติบโตจนแยกครอบครัวออกไป และไปทำงานต่างถิ่นหลายปีแล้ว
ที่น่าสนใจคือ ครั้งที่ครูอุทัยปลูกบ้านเสร็จ เห็นมีที่ว่างรอบ ๆ บ้านอยู่อีกมาก แกจึงปลูกไม้ยืนต้นและไม้ดอก ไม้ประดับไว้เรื่อยมา โดยมีทั้ง ไม้ให้ผล เช่น กระท้อน มะม่วง มังคุด มะพร้าว เป็นต้น ส่วนไม้ดอกไม้ประดับ แม่บ้านรับหน้าที่ปลูก มีทั้งจำพวกไม้ให้กลิ่นหอม เช่น
เศรษฐีสยาม โมกพวง พุดสลับ เป็นต้น ไม้ประดับอื่นๆก็มี เช่น โกศล เข็ม ลีลาวดีลูกศร ดอลลี่ดอลย่า รวมถึงต้นหางนกยูงแคระที่เคยขอปันจากเทศบาลไปเมื่อหลายปีก่อนด้วย ครูอุทัย ไม่ได้คิดจะปลูกต้นไม้เหล่านี้ไว้เพื่อหวังได้นำผลมารับประทานเพียงหรือเพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว ครูยังคิดว่า ต้นไม้นั้นไม่ว่าจะเป็นไม้ดอกหรือไม้ประดับย่อมให้ประโยชน์ในด้านความร่มรื่น ร่มเงาและยังช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดให้กับเราได้ในยามที่เราแบ่งเวลาไปใส่ใจสังเกตสังกาอยู่กับเขา จนเป็นงานอดิเรกที่เป็นความสุขชนิดที่ไม่ต้องเดินทางไปไกล ไม่ต้องใช้เงินซื้อหา เมื่อเราเลี้ยงให้เขาเจริญเติบโต เขาก็ชูกิ่งใบให้ร่มเงาแก่เราเป็นการตอบแทน ช่วยลดความร้อนภายในบ้านจากร่มเงาของต้นไม้ได้เป็นอย่างดี
เมื่อไรที่ลงมือปลูกต้นไม้ ก็ค่อนข้างจะมั่นใจได้แต่ต้นเลยว่า เราสามารถคิดหวังได้ว่าต้นไม้ที่เราปลูกจะเติบใหญ่ได้ต่อไป เพราะดินฟ้าอากาศบ้านเราเป็นใจ ครูอุทัย จึงอยากเชิญชวนทุกท่านให้หาพื้นที่ว่าง จากพื้นที่ที่ดูเหมือนจะไม่ว่างในบริเวณบ้านให้ได้ แล้วลงมือปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะในหน้าฝนอย่างในขณะนี้ เพื่อให้เทวดารดน้ำต้นไม้ให้เราได้อย่างสบาย ๆ นอกจากนี้ ครูยังมีแผนการปลูกพืชระยะสั้นจำพวกผักสวนครัวไว้ในบริเวณบ้านอีกด้วย อย่างน้อย เพื่อเตือนใจให้รู้ว่า เราสามารถปลูกพืชที่เป็นอาหารที่เก็บเกี่ยวได้ในระยะเวลาอันสั้นไว้รับประทานเองได้เหมือนกับผลไม้ที่มีระยะเก็บเกี่ยวผลที่นานกว่า และเพื่อเตือนใจเรื่องดินฟ้าอากาศของโลกที่แปรปรวนจากการกระทำของมนุษย์ เรื่องการพึ่งพาตนเองโดยการปลูกไม้กินได้ และซื้อหาพืชผักไว้รับประทานเพิ่มเติมตามความจำเป็น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
เนื่องจากบล็อกนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องราวการดำเนินงานของเทศบาล โปรดให้ข้อสังเกต คำแนะนำ หรือเติมเต็มองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเมืองต่อไป