โปรดทราบ

ร่วมแจ้งข่าวสารต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน "เมืองแกลงนิวส์" ได้ที่ muangklangnews@gmail.com เพื่อที่กองบรรณาธิการข่าวจะได้พิจารณานำเผยแพร่ต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กระบวนการหมักปุ๋ยได้ผลดีขึ้น เร็วขึ้น... หลังเพิ่มขนาดลูกหมุนและย้ายติดตั้งเหนือหลังคา

คลิปกระบวนการใ้ช้ลูกหมุนเติมอากาศผ่านท่อส่งลมลงสู่กองปุ๋ยหมัก
http://www.youtube.com/watch?v=hST4GdnH5lk

กลุ่มภาพแสดงการติดตั้งท่อส่งลมจากลูกหมุนเติมอากาศถึงในกองปุ๋ยหมัก
https://picasaweb.google.com/muangklangnews/AirBlowCompressIntoTheCompost26Jun2011?authkey=Gv1sRgCIHSzf-_lrL3-QE


ลูกหมุนเติมอากาศลงกองปุ๋ยแบบเดิม
       จากการที่เทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้เข้าสู่กระบวนการนำขยะของเสียกลับมาใช้ใหม่ในหลายรูปแบบเพิ่มยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งล่าสุด สามารถคัดแยกขยะที่มีต้นค่าใช้จ่ายในการเก็บและขนไปฝังกลบ ณ บ้านชำฆ้อกิโลกรัมละ ๑ บาทได้ถึงเดือนละกว่า ๗๐ ตันหรือกว่าเจ็ดหมื่นกิโลกรัมแล้วในขณะนี้ ทำให้ต้องกลับมาให้น้ำหนักกับการพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ในกระบวนการจัดการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากขยะที่สามารถคัดแยกจนสามารถลดงบประมาณค่าใช้จ่ายของเทศบาลลงได้นั้น มีจำนวนมากยิ่งขึ้น

       เช่นในกรณีของการนำขยะอินทรีย์จำพวกเศษผักผลไม้จากครัวเรือน ตลาดสด และที่ติดมากับรถบรรทุกขยะ เพื่อคัดแยกนำไปทำปุ๋ยหมัีกนั้น เนื่องจากพื้นที่การกองปุ๋ยหมักบริเวณศูนย์การเรียนรู้ ด้านหลังอาคารป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ค่อนข้างจำกัด กอปรกับหากแม้ว่าสามารถจะมีพื้นที่มากก็ตาม การกลับกองปุ๋ยหมักเพื่อให้เกิดการถ่ายเทอากาศในกองปุ๋ยได้ทั่วถึง ก็ต้องใช้เครื่องจักรในการโกยพลิกกลับกอง สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ดี หรือหากไม่ใช้วิธีการดังกล่าว หากต่อท่อเติมอากาศในกองปุ๋ย ก็อาจใช้เครื่องเป่าลม อัดอากาศเข้าไปวันละสองเวลาเช้าเย็น ซึ่งก็ต้องสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าเช่นเดียวกัน

ยกระดับความสูงไปเหนือหลังคาและเพิ่มขนาดลูกหมุน
อากาศถ่ายเทสู่กองปุ๋ยดีขึ้นมาก
       เทศบาลฯ จึงเลือกใช้เทคโนโลยีการเติมอากาศลงในกองปุ๋ยหมักด้วยการใช้ลูกหมุนเติมอากาศที่อาศัยแรงลมจากธรรมชาติ เช่นลูกหมุนที่ติดตั้งอยู่ทั่วไปตามหลังคาอาคารโรงงานต่าง ๆ เพื่อระบายอากาศ  โดยในระยะแรก ใช้วิธีต่อลูกหมุนเข้ากับท่อส่งลม สูงจากระดับพื้นประมาณ ๒ เมตร ซึ่งทำให้มีรอบระยะเวลาการหมักปุ๋ยจากเดิมที่หมักไว้โดยเสียบท่อลงไปในกองปุ๋ยเพียงอย่างเดียวซึ่งต้องอาศัยเวลานานถึง ๔ เดือนขึ้นไป มาเหลือประมาณ ๓ เดือน

       จนกระทั่ง ได้พิจารณว่า หากเราสามารถนำลูกหมุนไปติดตั้งยังหลังคาอาคารได้ ก็จะได้แรงลมที่มากยิ่งขึ้น เพราะสูงจากระดับพื้นไม่น้อยกว่า ๖ เมตร ซึ่งมีลมพัดมากกว่า พร้อมกับเพิ่มขนาดลูกหมุนให้ใหญ่ขึ้น  เมื่อติดตั้งใหม่แล้วเสร็จ จากการติดตามทดสอบพบว่า มีการระบายอากาศลงไปในกองปุ๋ยหมักได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับจุลินทรีย์ในกองปุ๋ยต้องอาศัยอากาศในการย่อยสารอินทรีย์  และปุ๋ยมีความชื้นลดลงในระยะเวลาที่สั้นขึ้น โดยสังเกตจากการยุบตัวของกองปุ๋ย จนสามารถย่นเวลาจากการหมักเดิม ๓ เดือนเหลือเพียง ๒ เดือน รวมถึงการบดย่อยขยะอินทรีย์ให้ละเอียดก่อนนำขึ้นกอง ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปุ๋ยหมักสามารถนำไปใช้ได้ในระยะเวลาเพียงไม่เกิน ๒ เดือนดังกล่าว

       การใช้แรงลมที่นับเป็นพลังงานสะอาดทางธรรมชาติเพื่อช่วยในกระบวนการทำปุ๋ยหมัก จึงช่วยให้ไม่ต้องนำพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิง หรือพลังงานจากกระแสไฟฟ้ามาแลกเพื่อให้ได้พลังงานในรูปของปุ๋ยกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนอกจากการลงทุนวัสดุอุปกรณ์เพียงครั้งแรกเท่านั้นแล้ว ก็สามารถนำพลังงานจากธรรมชาติมาใช้ได้อย่างยั่งยืนและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบ้านเรา

       หากท่านสนใจกระบวนการลูกหมุนเติมอากาศในการทำปุ๋ยหมักดังกล่าว เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งมีราคาแพงขึ้นทุกวัน ก็สามารถเข้าชมได้ที่บริเวณศูนย์การเรียนรู้ฯ ด้านหลังอาคารป้องกันบรรเทาสาธารณภัยของเทศาลฯ ได้ทุกวันเวลาราชการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื่องจากบล็อกนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องราวการดำเนินงานของเทศบาล โปรดให้ข้อสังเกต คำแนะนำ หรือเติมเต็มองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเมืองต่อไป