บ่อแก๊สที่ฉาบและเคลือบด้วยน้ำยากันซึมใหม่แล้ว |
งานก่อสร้างประกอบด้วยตัวอาคารที่ตั้งเครื่องจักรในการบดย่อย ระบบลำเลียงวัตถุดิบ และมีระบบถังหมักขนาดใหญ่อยู่ด้านข้างอาคาร มีความสามารถในการรับขยะอินทรีย์ในการหมักเพื่อแปรสภาพให้เป็นแีก๊สชีวภาพได้ถึงวันละ ๔.๒๕ ตัน หรือสี่พันสองร้อยห้าสิบกิโลกรัม การทดสอบในครั้งแรก พบมีการรั่วซึมในระบบบ่อหมัก ทำให้ต้องมีการกะเทาะปูนถังหมัก และทำการฉาบใหม่ นอกจากนี้ยังเคลือบด้วยน้ำยากันซึมอย่างดีถึงสองชั้น
ทดสอบที่ระดับสูงสุดของวัตถุดิบ |
ล่าสุด ได้ทดสอบโดยการนำน้ำเสียปล่อยเข้าไปทดสอบการรั่วซึมในทุก ๆ ระดับความสูงของผนังบ่อหมัก ทิ้งไว้นานกว่าหนึ่งสัปดาห์ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ระดับน้ำเสียไม่ลดลง ไม่มีการรั่วซึมของบ่อหมักซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ
ในสัปดาห์หน้านี้ จะมีการครอบปากบ่อหมักด้วยผ้าพลาสติคอย่างหนา และเมื่อสามารถจัดการปัญหาการรั่วซึมทั้งระบบได้แล้ว จะเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมการผลิตแก๊สชีวภาพ ซึ่งเทศบาลฯ มีความพร้อมแล้วในส่วนของบุคลากร และข้อสำคัญที่สุดคือ "การสร้างกระบวนการจัดการ" กับระบบผลิตแก๊สชีวภาพนี้ให้สามารถเดินเครื่องได้ทุกวัน นั่นคือ ต้องสร้างกระบวนการจัดเก็บขยะอินทรีย์จากครัวเรือนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งวงจร นอกเหนือจากที่ดำเนินการอยู่แล้วในขณะนี้ เพื่อให้มีปริมาณวัตถุดิบมากพอที่จะผลิตแำก๊สชีวภาพเพื่อที่จำนำไปใช้ที่โรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลฯ ได้ในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อยุติการใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงต่อไป
ทดสอบที่ระดับสูงสุดของผนังบ่อ |
ประโยชน์่ของระบบหมักแก๊สชีวภาพที่กรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้มาดำเนินการก่อสร้างให้นี้ จะช่วยให้เมืองแกลง มีขีดความสามารถในการจัดการกับของเสียของเมืองในรูปของขยะอินทรี์ได้อีกไม่น้อยกว่าวันละ ๑๐๐๐ ถึง ๔๐๐๐ กิโลกรัม เมื่อได้สร้างกระบวนการในการจัดการแล้ว เป็นการยืดอายุการใช้งานของหลุมฝังกลบขยะให้สามารถรองรับปริมาณขยะออกไปได้อีกนาน เป็นการช่วยประหยัดงบประมาณของเทศบาลฯ ที่ต้องหมดไปเกี่ยวกับการขนถ่ายขยะไปทิ้งทั้งกระบวนการ ประหยัดงบประมาณในการซื้อไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงใช้ในโรงฆ่าสัตว์ด้วยการใช้แก๊สชีวภาพเข้าแทนที่ ส่วนที่เหลือจากการหมักแก๊สแล้ว สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดินต่อไปได้ และเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภัยพิบัติมากมายจากธรรมชาติอยู่ในขณะนี้ ด้วยการนำวัตถุดิบในรูปของขยะอินทรีย์ไปใช้ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
เทศบาลตำบลเมืองแกลงจะได้ร่วมกับกรมพลังงานฯ ในการผลักดันให้ระบบหมักแก๊สชีวภาพขนาดใหญ่ตามแบบของกรมฯ นี้สามารถเดินเครื่องได้โดยเร็วต่อไป ก่อนที่จะมีการตรวจรับมอบงานตามระเบียบวิธีของทางราชการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
เนื่องจากบล็อกนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องราวการดำเนินงานของเทศบาล โปรดให้ข้อสังเกต คำแนะนำ หรือเติมเต็มองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเมืองต่อไป