คลิ้กภาพเพื่อดูภาพขนาดใหญ่พร้อมคำอธิบาย |
แต่สำหรับด้านทิศใต้ซึ่งมีประชากรอยู่อาศัยกันมาก และยังผลให้การจราจรคับคั่งในเขตเทศบาลฯ สะพานตัวสุดท้ายที่ได้ก่อสร้างไว้ คือสะพาน ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน หรือ "สะพานฝั่งธน" ที่ได้ทำเป็นสะพานคอนกรีตแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ หรือเกือบยี่สิบปีมาแล้ว ขณะที่ยุคนั้นมีจำนวนครัวเรือนในเขตเทศบาลอยู่ไม่ถึงห้าพันหลังคาเรือน แต่ปัจจุบันมีถึงเกือบเก้าพันหลังคาเรือน มีสถานประกอบการต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โรงเรียนมีการรับนักเรียนเพิ่มมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้นคือ ปัจจุบันเส้นทางสายพลง ทะเลน้อยสามารถเชื่อมต่อไปยังบ้านทุ่งควายกินโดยข้ามคลองประแสที่สะพานบ้านท่ากะพัก ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปปากน้ำประแสได้ มีผู้นิยมใช้เส้นทางสายนี้เพื่อขึ้นมาที่ตลาดสามย่านกันมากขึ้น
ภาพแสดงเส้นทางและย่านที่มีประชากรคนและรถคับคั่ง |
สภาพการณ์ดังกล่าว จึงส่งผลให้ถนนเทศบาลด้านทิศใต้ถนนสุขุมวิท มีปริมาณยานยนต์เพิ่มมากขึ้นมาก แม้ว่าเทศบาลฯ จะได้พยายามวางมาตรการหลายอย่าง อา่ทิ การออกเทศบัญญัติการจัดระเบียบการจอดยานยนต์ ปีพ.ศ.๒๕๕๐ เพื่อเข้มงวดวินัยจราจรยิ่งขึ้น การส่งเสริมให้ประชาชนทำที่จอดรถให้เช่าในเขตชุมชนหนาแน่น การขอความร่วมมือให้ออกแบบที่จอดรถสำหรับบ้านที่มีบริเวณเหลือ รวมถึงการนำรถขนส่งเมืองแกลง (ขสมก.) มาวิ่งให้บริการถึง ๔ คันเพื่อลดจำนวนยานยนต์ส่วนตัวลง แต่เป็นที่แน่นอนว่า ยังมีความจำเป็นต้องมีมาตรการให้มากไปกว่านี้ จึงจะสามารถแก้ปัญหาความแออัดคับคั่งของยวดยานลงได้
เทศบาลฯ จึงได้พิจารณาเรื่องการสร้่างสะพานแห่งใหม่ขึ้นบริเวณแหลมท่าตะเคียน เนื่องจากหากวัดระยะทางทางน้ำ ระหว่างสะพาน๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน (สะพานฝั่งธน) ซึ่งอยู่ในเขตเมืองชั้นใน มีการจราจรคับคั่ง กับสะพานที่บ้านท่ากะพัก ห่างกันถึงร่วม ๑๐ กิโลเมตร ซึ่งทำให้ขาดการเชื่อมต่อการเดินทางในลักษณะการช่วยระบายการจราจรระหว่างสะพานทั้งสองแห่ง
หากสามารถก่อสร้่างสะพานเพิ่มขึ้นที่แหลมท่าตะเคียน และก่อสร้างถนนไปเชื่อมกับชุมชนบ้านแหลมยางที่โค้งยายนาง สะพานแห่งนี้จะช่วยให้นักเรียนและคนในระบบโรงงานตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ไปมาระหว่างชุมชนวัดพลงช้่างเผือกกับเส้นทางด้านทิศตะวันออกของเมืองได้สะดวกขึ้น สามารถไปโรงพยาบาลและสถานีตำรวจได้สะดวกรวดเร็วขึ้น...โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าไปแออัดกันในเขตเมืองชั้นในแต่อย่างใด
ทั้งนี้ หลักสำคัญคือ เมื่อได้ทำสะพานและถนนดังว่านี้แล้ว ยังต้องตระหนักอยู่เสมอว่า เมื่อสามารถระบายการจราจรให้ออกไปนอกเมืองได้ ในมุมกลับกัน สะพานและถนนดังกล่าว ก็สามารถพายานยนต์เข้ามาแออัดเบียดเสียดในเมืองได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ต้องประเมินว่า อะไรจะเหมาะสมกว่ากันต่อไป
(ตอนสุดท้าย... พบกับวันออกสำรวจเส้นทาง)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
เนื่องจากบล็อกนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องราวการดำเนินงานของเทศบาล โปรดให้ข้อสังเกต คำแนะนำ หรือเติมเต็มองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเมืองต่อไป