โปรดทราบ

ร่วมแจ้งข่าวสารต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน "เมืองแกลงนิวส์" ได้ที่ muangklangnews@gmail.com เพื่อที่กองบรรณาธิการข่าวจะได้พิจารณานำเผยแพร่ต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เผยแล้ว...อยู่เมืองแกลงมานานปี ช่วยตอบที..บ้านเรานี้ มีกี่สะพาน? (ตอนที่๒)

สะพานดำ 
       ...ต่อเมื่อมีการตัดถนนสุขุมวิทจากกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ เรื่อยมาทางหัวเมืองทิศตะวันออก ถนนสุขุมวิทในยุคแรกก็เริ่มตัดเข้ามาในพื้นที่เมืองแกลง ซึ่งผู้อาวุโสในวัยแปดสิบปีขึ้นไปหลายท่านได้เคยเล่าว่า เคยไปรับจ้างทำถนนสุขุมวิทโดยการขุดดินขึ้นมาถมเป็นถนน คิดค่าแรงขุดดินกันเป็นหลุม ๆ ขนาดกว้างยาวลึกด้านละ ๑ หลา เรียกว่า "หลุมหลา"

แสดงธรณีสัณฐานที่ลุ่มในเขตเมืองแกลง
       เมื่อจะทำสะพานข้ามคลองสามย่าน (หลายแห่งคลองผ่านที่ไหน ก็เรียกชื่อตามนั้น อาทิ คลองดอนมะกอก คลองกระแสบน เป็นต้น)  ถนนสุขุมวิทก็ได้เลือกเอาบริเวณบ้านยายดำเป็นแนวสะพาน  ซึ่งทำกันเป็นสะพานไม้ในระยะแรก  จึงเป็นที่มาของคำว่า "สะพานดำ" ที่อยู่หน้าร้านเจียวโภชนา แล้วก็ไปทำ "สะพานดอนมะกอก" ข้ามคลองดอนมะกอกอีกแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลฯ

       พื้นที่ระหว่างสะพานทั้งสองแห่ง หรือพื้นที่ที่มีน้ำคลองประแสล้อมรอบ เป็นเหมือนพื้นที่เกาะที่เป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำหลากในหน้าน้ำ

       ส่วนจุดข้ามคลองอื่น ๆ ในบริเวณเขตเทศบาลและพื้นที่โดยรอบ นอกจากทำเป็นสะพานแล้ว ยังมีการวางท่อสี่เหลี่ยมในบางแห่ง ปรากฎดังนี้
 แผนที่แสดงตำแหน่งสะพานข้ามคลองประแส จุดต่าง ๆ ทั้งในเขตเทศบาลและพื้นที่รอบ ๆ 
๑.ท่อสี่เหลี่ยม Block Convert ข้างที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลทางเกวียนและข้างแนวเวนคืนทำถนนวงแหวนบายพาสซึ่งใช้จัดงานของดีเมืองแกลง เพื่อให้น้ำจากคลองใช้ ด้านทิศตะวันตกไหลลอดถนนบ้านบึงแกลงไปได้

๒. สะพานหลังวัดหนองจรเข้ และหลังวัดบ้านนา

๓. สะพานโรงประปาบ้านหนองแหวน ซึ่งเดิมข้ามคลองไปมาด้วยคันเขื่อนดินถมกักเก็บน้ำและกันน้ำเค็มเอ่อเข้าโรงประปา ปัจจุบันกรมทางหลวงชนบทมาสร้างสะพานคอนกรีตขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑

๔. สะพานบริเวณหมู่บ้านพวงเพชรข้ามไปโรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย

๕. สะพานที่ถนนบ้านนา เนินอู่ทอง ที่เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างเทศบาลตำบลเมืองแกลง และบ้านนา

๖. สะพานซอยลมโชย สะพานดำ สะพานดอนมะกอก สะพานฝั่งธน ดังที่อธิบายข้างต้นมาแล้ว

๗. สะพานบ้านท่ากะพัก ทางด้านทิศใต้ของเมืองเชื่อมระหว่างบ้านทะเลน้อยกับบ้านทุ่งควายกิน

       เมื่อนับจำนวนแล้ว ในเขตเทศบาลตำบลเมืองแกลงจึงมีสะพานข้ามคลองประแสอยู่รวมถึง ๗ แห่ง ไม่นับรวมจุดข้ามคลองที่อยู่นอกเขต และสะพานข้ามคลองวังหว้าด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้อีกหนึ่งแห่ง

       เป็นข้อบ่งชี้ถึงความที่เมืองแกลง เป็น "เมืองที่ตั้ง...ริมฝั่งคลอง"  บ่งบอกถึงสภาพธรณีสัณฐาน บอกถึงรากอาชีพดั้งเดิม  การคมนาคมแต่ในอดีต ความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหาร....ฯ.....


       รวมไปถึงเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการนำพาพัฒนาเมืองว่าจะเดินหน้ากันอย่างไรต่อไป เพื่อมิให้ความเป็นแกลงต้องเสียอาการ หรือเสียทรง และส่งเสริมให้เมืองแกลงอยู่อย่างสอดคล้องกับตำแหน่งที่ตั้ง และสภาพดินฟ้าอากาศต่อไป



  (ตอนต่อไป...พบคำตอบว่า เหตุใดต้องมีสะพานเพิ่มขึ้นในเมืองแกลง)

     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื่องจากบล็อกนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องราวการดำเนินงานของเทศบาล โปรดให้ข้อสังเกต คำแนะนำ หรือเติมเต็มองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเมืองต่อไป