โปรดทราบ

ร่วมแจ้งข่าวสารต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน "เมืองแกลงนิวส์" ได้ที่ muangklangnews@gmail.com เพื่อที่กองบรรณาธิการข่าวจะได้พิจารณานำเผยแพร่ต่อไป

วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

รักษาดิน รักษาน้ำคือรักษาชาติบ้านเมือง..ฟื้นนาร้างปีที่ ๓..เตรียมตั้งโรงสีข้าว ตรา "ข้าวแกลง"...

จะฝากผีฝากไข้ไว้กับคนรุ่นต่อไป...ต้องถ่ายทอดรากของเมืิองเอง
       ตลอดเดือนกรกฎาคม ซึ่งอยู่ในช่วงของฤดูฝนอย่างเต็มรูปแบบนั้น ในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลเมืองแกลง และพื้นที่รอยต่อโดยรอบ ตั้งแต่ จำรุง เนินฆ้อ วังหว้า ทะเลน้อย ทุ่งควายกิน คลองปูน พังราด นับเป็นวาระสำคัญของการทำนาปลูกข้าวประจำปี  เนื่องจากเมืองแกลง พึ่งพาฟ้าฝนในการทำ "นาปี"

       และสำหรับในพื้นที่เขตเทศบาลฯ เองนั้น บริเวณชุมชนดอนมะกอกทั้งสองฝั่งถนนสุขุมวิท บริเวณชุมชนพลงช้างเผือก หนองควายเขาหักติดต่อกับเขตบ้านทะเลน้อย อบต.ทางเกวียน ก็มีกิจกรรมทำนานี้เช่นกัน บ้างใช้การตกกล้าแล้วไปดำนาเช่นของคนบ้านหนองกระโดง คนบ้านดอนมะกอก  ส่วนคนบ้านหนองควายเขาหักนั้นอาศัยการหว่านกล้าลงแปลงนา แล้วแต่ความถนัดถนี่ว่าจะใช้วิธีใดกัน

สายลม..แสงแดด..และยิ้มบาน
       นอกจากนี้ ที่ผืนนาบ้านพลงช้างเผือก ยังมีการนำเด็กและเยาวชนจากโรงเรียนวัดพลงช้างเผือกมาช่วยกันดำนาเป็นที่สนุกสนานกันอีกด้วย เพื่อให้มีโอกาสได้เรียนรู้การปลูกข้าวที่เราต้องอาศัยรับประทานกันตลอดชีวิตนั่นเอง

       เทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้ให้การสนับสนุนและร่วมกับชุึมชนต่าง ๆ และเครือข่ายการทำนา เพาะปลูกพืชผักมาเข้าปีที่ ๓ แล้ว และยังพยายามขยายวงเพื่อให้พื้นที่นาว่างเปล่ารกร้างได้กลับมาใช้ประโยชน์เพาะปลูกกันอีกครั้งหนึ่ง  ให้การทำนาในเขตเทศบาลฯ ซึ่งเมื่อสามปีก่อน มีเหลืออยู่เพียงย่านหนองปรือใกล้ซอยวีโออาร์อยู่เพียงสามถึงสี่ไร่สุดท้ายเท่านั้น ได้ขยายพื้นที่ออกไป รวมถึงเมื่อปีที่ผ่านมา ได้เข้าไประดมทุนจากชุมชนและผู้สนใจเพื่อตั้งเป็นกองทุนข้าว เพื่อนำเงินทุนนี้ ไปซื้อทั้งข้าวเปลือก และข้าวสารจากโรงสีที่เหลืออยู่สองสามแห่ง มาจำหน่ายเป็นข้าวกล้องตรา "ข้าวแกลง" เพื่อเป็นการระบายข้าวให้กับชาวนา และเพื่อให้ชาวเมืองแกลงได้บริโภคข้าวที่ปลูกในพื้นที่ของตนเอง

มีนา...มีข้าว...มีกิน
       ปัจจุบันได้มีการสำรวจแล้วว่า มีการทำนาเพิ่มขึ้นในเขตเทศบาลฯ ย่านดอนมะกอก หนองควายเขาหัก หนองกระโดง พลงช้างเผือก รวมประมาณ ๑๐๐ ไร่  โดยที่ในส่วนเทศบาลฯ เองเตรียมที่จะก่อสร้างโรงสีข้าวขึ้นที่บริเวณศาลาแหลมท่าตะเคียนในเร็ววันนี้ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกต่อไป เพื่อรองรับผลผลิตข้าวเปลือก ไม่ต้องส่งไปสียังจังหวัดอื่นแล้วขนข้าวสารกลับมาขายอีกครั้งหนึ่งดังเช่นที่่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายและสิ้นเปลืองพลังงานน้ำมันโดยใช่เหตุ

บริเิวณพื้นที่นาที่ขยับเพิ่มขึ้น ที่เหลือเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง
       ทั้งนี้ หากกล่าวโดยภาพรวมของจังหวัดระยองทั้งจังหวัด ข้อมูลเมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๒ พบว่าปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเหลืออยู่ไม่มากนัก และไม่สามารถมีผลผลิตข้าวที่เป็นของตนเอง เพียงพอที่จะเลี้ยงประชากรในจังหวัดที่มีถึงกว่าเจ็ดแสนคนได้เลย ต้องพึ่งพาการซื้อข้าวจากจังหวัดอื่น ๆ  เช่นเดียวกับ "ผัก" ที่แทบจะต้องพึ่งพาจากจังหวัดอื่นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ จากสาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินไปเป็นอย่างอื่น เช่นที่ อำเภอบ้านค่าย อำเภอเมือง เป็นต้น และเกิดจากสาเหตุที่มีการเปลี่ยนไปปลูกพืชพลังงานอย่างปาล์มน้ำมัน และยางพารา มันสำปะหลังกันเป็นจำนวนมาก ทำให้พืชอาหารอย่างข้าวได้รับผลกระทบ  โครงสร้า่งผลผลิตทางการเกษตรของจังหวัดระยองในเรื่องของข้าวและผัก ซึ่งเป็นปัจจัยหลักแห่ง "ความมั่นคงทางอาหาร" ของเราจึงไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้เลย

       สถานการณ์เหล่านี้ จึงเป็นเรื่องที่เราควรต้องร่วมกันพิจารณาช่วยกันให้จังหวัดระยอง ได้มีโครงสร้างผลผลิตทางการเกษตรที่ปัจจุบันมีมูลค่ารวมทั้งจังหวัดปีละกว่า ๑๓,๐๐๐ ล้านบาท ได้มีสัดส่วนระหว่างพืชอาหาร และ พืชพลังงานที่มีดุลยภาพยิ่งขึ้น ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และลดการพึ่งพาข้าวปลาอาหารจากเมืองอื่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญแห่งการพัฒนาเพื่อไปสู่ความ "กินดี" และ "อยู่ดี" ของพี่น้องประชาชนนั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื่องจากบล็อกนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องราวการดำเนินงานของเทศบาล โปรดให้ข้อสังเกต คำแนะนำ หรือเติมเต็มองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเมืองต่อไป