โปรดทราบ

ร่วมแจ้งข่าวสารต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน "เมืองแกลงนิวส์" ได้ที่ muangklangnews@gmail.com เพื่อที่กองบรรณาธิการข่าวจะได้พิจารณานำเผยแพร่ต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

มองเมืองแกลง..เมืองที่ตั้งริมฝั่งคลอง ผ่านสายน้ำคลองประแส และสะพาน "รักข้ามคลอง" (ตอนที่ ๑)

สะพานบ้านตลาดสามย่าน ปีพ.ศ.๒๔๖๖
       จากการที่เมืองแกลง เป็น "เมืองที่ตั้ง..ริมฝั่งคลอง"  โดยที่ในปี พ.ศ.๒๓๔๙ สุนทรภู่ได้เขียนไว้ในหนังสือนิราศเมืองแกลงตอนหนึ่งว่า "แล้วไปชมกรมการบ้านดอนเค็ด..." ซึ่งหมายถึงบ้านของเจ้าเมืองตั้งอยู่บริเวณ "บ้านดอนเค็ด" ย่านวัดโพธิ์ทองพุทธารามในยุคนั้น  จนต่อมา คราวเสด็จประพาสเมืองจันบุรี ของรัชกาลที่ ๕ ได้ทอดเรือพระที่นั่งอยู่ ณ "ปากน้ำประแส" แขวงเมืองแกลง ทรงมีพระราชนิพนธ์ไว้คราวมีราษฎรมารับเสด็จบริเวณตรงนั้นว่า "....ที่พระแกลงแกล้วกล้าอยู่...." 

สะพานฝั่งธนในปี พ.ศ.๒๕๐๒ ตรงกลางผลักให้สะพานหัน
เพื่อให้เรือผ่านไปมาได้
       ความข้างต้น จึงคาดว่า เมืองแกลงในสมัยสุนทรภู่มาเยี่ยมบิดา สมัยรัชกาลที่ ๓  ตั้งอยู่ที่บ้านดอนเค็ด และสม้ัยรัชกาลที่ ๕ "อาจจะ" อยู่ที่บ้านปากน้ำประแส  แต่จะในยุคใดก็ตาม ที่ตั้งของเมือง ก็ล้วนแต่อยู่ริมคลองประแสตลอดมา กระทั่งหนหลังสุด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ ได้ย้ายเมืองจากบ้านดอนเค็ด มาอยู่ ณ "บ้านตลาดสามย่าน" จนถึงปัจจุบัน ก็ยังมาสร้างบ้านสร้างเมืองกันอยู่ริมคลองประแสเช่นเดิม เพียงแต่ที่บ้านตลาดสามย่านนี้ พื้นที่ด้านทิศตะวันตกของคลองเป็นที่สูงกว่า ไ่ม่ได้เป็นพื้นที่ลุ่มทั้งสองฝั่งคลองเหมือนที่บ้านดอนเค็ด

       เหตุดังกล่าว จึงกล่าวได้ว่า พื้นที่ตั้งของเมืองแกลงบริเวณเทศบาลตำบลบ้านนา อบต.ทางเกวียน เทศบาลตำบลทุ่งควายกิน เทศบาลตำบลเมืองแกลง เทศบาลตำบลเนินฆ้อ เทศบาลตำบลปากน้ำประแส อบต.คลองปูน อบต.วังหว้า ย่านนี้ ล้วนแต่เป็นพื้นที่ลุ่ม มีคลองสายหลัก และมือคลอง หรือคลองซอยอยู่ทั่วไป อาชีพดั้งเดิมของคนย่านนี้ จึงทำนากันมาเป็นพื้นเดิม ก่อนที่ผู้คนจะเพิ่มขึ้นและขยับกันขึ้นไปทางทิศเหนือซึ่งเป็นพื้นที่สูงกว่า แล้วทำอาชีพทำสวนนานาชนิดกันต่อมา

งานฉลองสะพาน ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน ปีพ.ศ.๒๕๕๒
       ที่น่าติดตามต่อไป ก็คือ การไปมาระหว่างคนสองฝั่งคลองในอดีตเขาทำกันอย่างไร นอกจากทำสะพานแล้ว ก็ยังมีข้ามคลองด้วยเรือข้ามฟาก เช่น แถบบ้านแหลมยาง แถบบ้านดอนกอกล่าง หากจะไปมากับบ้านปากน้ำประแส  ต้องนั่งเรือหรือที่ไปจักรยานก็ต้องใส่เรือข้ามฟากไป  นอกจากนี้ ย่านที่น้ำขังในหน้าฝน และท้องนาที่มีผู้คนอยู่กันเป็นหมู่ ก็ยังมีการทำสะพานคนเดิน เช่น สะพานไม้เก่าแก่สำหรับคนเดินอยู่ด้านหลังวัดโพธิ์ทองพุทธาราม สะพานไม้คนเดินคลองบุญสัมพันธ์ในเขตบ้านนาที่รื้อทิ้งไปหมดแล้ว  

สะพาน ๑๐๐ ปีคราวงานบุญกลางบ้าน
       ส่วนสะพานที่อยู่ในย่านการค้าการขายที่คึกคักที่สุดในยุคก่อน ก็คือ สะพานหน้าที่ว่าการอำเภอแกลงหลังเก่า ที่ตลาดสามย่าน ซึ่งนิยมเรียกกันว่า "สะพานฝั่งธน"   แต่เดิมคาดว่าคงมีสะพานเก่าอยู่ก่อนแล้วเมื่อมีการย้ายที่ตั้งเมืองแกลงมาอยู่บ้านตลาดสามย่าน ในปีพ.ศ.๒๔๕๑ จนเมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๖๖ มีการปรับปรุงก่อสร้างสะพานตรงนี้ขึ้นใหม่ เป็นสะัพานคนเดินกว้างประมาณ ๒ เมตร มีบอกชนิดเนื้อไม้ที่ใช้ทำสะพานและราวสะพานไว้เสร็จสรรพ และแจ้งว่าได้รวบรวมเงินบริจาคมาทำสะพานที่ยาว ๓๒ เมตรนี้ด้วยเงิน ๑,๐๖๔ บาท  ซึ่งเทศบาลตำบลเมืองแกลงพบหลักฐานภาพถ่าย และหลักฐานที่ปรากฎอยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาระบุไว้ชัดเจน  จนเมื่อมีการสร้่างโรงเลื่อยเหนือขึ้นไปจากสะพาน ในราวปี พ.ศ.๒๔๙๐ ก็มีการออกแบบสะพานให้ตรงกลางสามารถใช้แรงคนผลักให้เปิดออกได้ เพื่อให้เรือบรรทุกไม้และสินค้าอื่น ๆ เข้าออกได้

แสดงความแตกต่างของธรณีสัณฐานที่ตั้งเมืองทั้งสองยุค
        ต่อมามีการออกแบบให้สะพานกว้างขึ้นแต่ยังเป็นสะพานไม้อยู่ เพื่อให้รถวิ่งผ่านไปมาได้ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๓๕ สะพานคอนกรีตจึงได้ก่อสร้างขึ้นมาแทนจนแล้วเสร็จใช้การได้ โดยกรมโยธาธิการเป็นผู้สร้าง  และเมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๑ เทศบาลตำบลเมืองแกลง จึงได้ออกแบบสะพานแห่งนี้ขึันใหม่ โดยคงโครงสร้างเดิมของสะพานไว้ แล้วประดิษฐ์บรรจงให้ราวสะพานมีลวดลายสวยงามยิ่งขึ้นแล้วจัดพิธีฉลองในโอกาสงานบุญกลางบ้าน ตอน "ฉลอง ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน" ด้วยบริเวณสะพานแห่งนี้ นับว่าเป็นจุดตั้งต้นของเมืองแกลงในยุคที่ ๒ ที่มีการย้ายเมืองจากบ้านดอนเค็ดมาอยู่ที่นี่ เมื่อปีพ.ศ.๒๔๕๑

แสดงตำแหน่งสะพานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี
       ส่วนไม้ทำสะพานนั้น เทศบาลตำบลเมืองแกลง (ทางเกวียนในยุคนั้น) ได้ถอดไปปรับปรุงซ่อมแซมสะพานที่ซอยลมโชย กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ สะพานไม้มีสภาพชำรุดทรุดโทรมจนอาจเป็นอันตรายต่อการสัญจรไปมา เทศบาลฯ จึงได้ก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นใหม่ที่ตรงนี้ พร้อมได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อสะพานนี้ว่า "สะพานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี"

(ตอนต่อไป พบกับสะพานทั้งหลายในเมืองแกลง)


   

     

   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื่องจากบล็อกนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องราวการดำเนินงานของเทศบาล โปรดให้ข้อสังเกต คำแนะนำ หรือเติมเต็มองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเมืองต่อไป