โปรดทราบ

ร่วมแจ้งข่าวสารต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน "เมืองแกลงนิวส์" ได้ที่ muangklangnews@gmail.com เพื่อที่กองบรรณาธิการข่าวจะได้พิจารณานำเผยแพร่ต่อไป

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เตรียมขยายเขตบริการประปาอีก ๗ สายย่อย...ตอบโจทย์ความต้องการใช้น้ำของประชาชน หลังการลงประชาคมทั้ง ๑๓ ชุมชนเมื่อเดือนมีนาที่ผ่านมา

       เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคมนี้ นายกเทศมนตรีได้เชิญนายบุญลือ ล้อคำ หัวหน้ากองการประปา นางดวงเนตร สุริยะพรรณพงศ์ เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ และนายประเสริฐ วิสุทธาธรรม เจ้าหน้าที่ฝ่ายช่าง กองการประปาเข้าพบเพื่อนำโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการประปา จากการที่เทศบาลฯ ได้ลงพื้นที่ทำประชาคมในทุก ๆ ชุมชนเมื่อเร็ว ๆ นี้มาพิจารณาเหตุผลความจำเป็นร่วมกัน โดยมีรายการต่าง ๆ ดังนี้

       ๑. งานวางท่อประปาเพื่อขยายเขตบริการฝั่งทิศตะวันออกจากแยกป้ายทันใจผ่านห้องแถวครูจรินทร์ไปถึงแยกทางเข้าหลังวัดสารนาถฯ 
       ๒. งานวางท่อประปาเพื่อขยายเขตบริการจากบริเวณโรงงานพรเทพ ถนนมาบใหญ่ ผ่านบ้่านครูติ๊ดดนตรีไทยจนสุดเขตเทศบาลฯ
       ๓. งานขยายขนาดเส้นท่อประปาจากเดิม ๒ นิ้ว เป็น ๔ นิ้ว บริเวณซอยบนเนิน ชุมชนวัดโพธิ์ทองฯ เพื่อเพิ่มแรงดันให้เพียงพอกับจำนวนบ้านผู้ใช้น้ำ
       ๔. งานวางท่อประปาขยายเขตบริการซอยข้างปั๊มบางจาก ถนนสุนทรภู่ มาจรดถนนพลงช้างเผือก


       ๕. งานวางท่อประปาขยายเขตบริการซอยโรงยางสวนันท์ฝั่งทิศใต้ เชื่อถนนสุนทรภู่กับถนนพลงช้างเผือก
       ๖. งานวางท่อประปาขยายเขตบริการจากบ้านพันจ่าอากาศเอกจำลอง ไปจนสุดเขตเทศบาล ถนนสุนทรภู่
       ๗. งานวางท่อประปาขยายเขตบริการจากซอยข้างตลาดนัดคลองถมผ่านบ้านป้าถัมภ์จรดหลังโรงเรียนวัดสารนาถฯ

       โดยทั้ง ๗ โครงการดังกล่าว กองการประปาจะสำรวจโดยละเอียดอีกครั้ง ก่อนจะนำเสนอนายกเทศมนตรีพิจารณาอนุมัติในวงเงินรวมทั้งสิ้น ๗ โครงการประมาณ ๒.๕ ล้านบาท  และนอกจากนี้ ได้มอบให้กองการประปาเตรียมสำรวจงานปรับปรุงฟื้นฟูการผลิตน้ำประปา ระบบบ่อคอนกรีตของโยธาฯ ที่มีอยู่เดิม เพื่อให้สามารถสำรองกำลังผลิตจากที่มีอยู่เดิม ๓๕๐ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นอีก ๑๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สำหรับรองรับการขยายตัวของบ้านเรือนประชาชน ทั้งนี้ ระบบผลิตน้ำประปาที่ข้างอาคารป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ถนนสุนทรภู่ ซึ่งนำน้ำดิบมาจากคลองวังหว้านั้น สามารถผลิตได้ ๕๐ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ขณะนี้งานใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถผลิตน้ำได้ในราวต้นเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้เพื่อเสริมระบบผลิตใหญ่ต่อไป.............ความคืบหน้าจะนำเสนอในโอกาสต่อไป

วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ตะลึง... "ภูเขาทอง" โผล่ในอำเภอแกลง...อนาคตด้านพลังงาน พอได้เห็นทางออกช่วยโลก

ต้อยกับสุวรรณ เจ้าของ "ภูเขาทอง" ที่มองดี ๆ จะเห็นพลังงาน
ในภูเขานี้...อันจะมีไปแบบไม่รู้จบ และไม่ทำร้ายโลก
       วันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม นายกเทศมนตรีพร้อมนางนุชนาถ สุขาวดี ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฯ ได้เดินทางไปยังตำบลกระแสบน อำเภอแกลง ที่พิสิษฐ์ฟาร์ม และ ฟาร์มผู้ใหญ่เขียว ซึ่งเลี้ยงสุกรขนาด ๓,๐๐๐ ตัว และ ๖๐๐ ตัวตามลำดับเพื่อเยี่ยมชมกระบวนการจัดการฟาร์ม โดยเฉพาะการจัดการมูลสุกร

       โดยพิสิษฐ์ฟาร์ม สามารถนำมูลสุกรมาหมักในบ่อขนาดใหญ่ปริมาตรถึง ๖๐๐ ลูกบาศก์เมตร เพื่อนำแก๊สมีเทนไปเข้าเครื่องยนต์กำเนิดพลังงานไฟฟ้าไปจ่ายเข้าระบบมอเตอร์พัดลมระบายอากาศในโรงเรือนเลี้ยงสุกรขนาดใหญ่ได้ครบทั้ง ๕ โรง ทุ่นค่าไฟไปได้ปีละนับแสนบาท ขณะที่มูลสุกรที่หมักได้แก๊สมีเทนแล้ว นำไปใช้กับสวนหมาก สวนผลไม้ของตนเองได้เพียงพอ และบรรจุกระสอบปุ๋ยขายได้ถึงกระสอบละ ๔๐ บาท จบปัญหาของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการฟาร์มเลี้ยงสุกรชนิดที่แปรของเสียให้เป็นของที่มีมูลค่าด้านพลังงานและเป็นประโยชน์สำหรับการบำรุง "ดิน" ให้ผลิตพืชภัณฑ์ธัญญาหารได้เป็นอย่างดี


ลูกเขย ลูกสาว ชาวแกลง เรียนจบแล้วกลับบ้าน
ทำเรื่องพวกนี้ และไม่ทิ้งการสื่อสารกับภายนอก
แน่มากครับ....
       ขณะที่ฟาร์มผู้ใหญ่เขียว ได้เข้าพบกับคุณอ้อ ที่เป็นผู้ออกแบบเอง ลงมือเองด้วยการลงทุนต่ำ ในการนำแก๊สมีเทนจากในบ่อกักมูลสุกรไปใช้กับเครื่องยนต์เบนซิน เครื่องเซียงกง ระบายความร้อนเครื่องยนต์ด้วยน้ำที่บรรจุในปลอกบ่อ นำกำลังเครื่องยนต์ไปดันพัดลมระบายอากาศได้ทั้งโรงเรือน โดยลงทุนเพียงหลักหมื่น ซึ่งสามารถลดค่าไฟฟ้าลงไปได้มากเช่นเดียวกัน ทั้งยังนำมูลสุกรไปทำปุ๋ยได้อีกทางหนึ่งด้วย

คุณนพพล ปวช.เทคนิคระยองลงมือออกแบบถุงลมโป่งพอง
จากบ่อขี้หมูเอง ติดตั้งเครื่องยนต์ใช้แก๊สและ บ่อน้ำระบาย
ความร้อนเครื่องยนต์เอง....ประทับใจ ๆ
       เทศบาลตำบลเมืองแกลง เตรียมเชิญเข้าีร่วมเป็นเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อประชาชนทั่วไป และเตรียมที่จะเริ่มดำเนินการสร้างกระบวนการนำแ๊ก๊สมีเทนจากบ่อหมักเศษอาหารของเทศบาลฯ ซึ่งใช้ต้มน้ำร้อนในกระบวนการในโรงฆ่าสัตว์ แต่ยังมีแก๊สเหลือมากเพียงพอ ไปเป็นพลังงานให้เครื่องยนต์ผลักดันมอเตอร์สายพานคัดแยกขยะแทนการใช้กระแสไฟฟ้าสร้างพลังงานจากนี้ไป

     
 

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เริ่มตัีดแต่งปรับภูมิทัศน์ถนนสายพลงฯ รับเปิดเทอม...Grow Group ลงพื้นที่สำรวจงานเสริมต้นสนแนวกันชนป้องกันนิเวศน์ริมฝั่งถูกคุกคาม...โรงจำนำเทศบาลฯ เพิ่มทุนอีก ๒๐ ล้านรับยุคข้าวของแพง

       วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤษภาคม งานพืชผักภูมิทัศน์ และสวนสาธารณะ กองช่าง เทศบาลฯ พร้อมด้วยนักเรียนเยาวชนในโครงการจ้างงานช่วงปิดเทอม ออกตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณถนนพลงช้างเผือก เพื่อเตรียมรับการใช้ถนนสายดังกล่าวในวันเปิดเทอมที่ ๑๖ พฤษภาคมนี้ โดยต้นไม้สองฝั่งทางเป็นต้นราชพฤกษ์ หรือต้นคูณแตกกิ่งใบให้ร่มเงาในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาได้ดี ขณะที่กิ่งใบยังสามารถนำไปบดย่อยเป็นปุ๋ยหมักหรือกิ่งใบใช้เป็นอาหารของแพะได้ดี


       ช่วงบ่ายวันเดียวกัน คุณปาริชาติ แสงอัมพร (Social Responsibility Manager - Public Relations) จากบริษัท Grow Group ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดระยอง ได้เดินทางเข้าพบนายกเทศมนตรีเพื่อประสานงานการลงพื้นที่ปลูกป่าของพนักงานบริษัทในช่วงฤดูฝนนี้ โดยได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ออกสำรวจแนวต้นสนที่เทศบาลฯ ปลูกไว้เป็นแนวกันชนสำหรับป้องกันระบบนิเวศน์ชายคลองไม่ให้ถูกรุกล้ำบริเวณฝั่งตรงข้ามบ้านแหลมยาง เพื่อนำไปพิจารณาหาหนทางการสนับสนุนภารกิจดังกล่าวต่อไป 


บ่ายวันเดียวกัน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาแกลง ได้เดินทางมาลงนามในสัญญาให้กู้แก่สถานธนานุบาล เทศบาลตำบลเมืองแกลง วงเงิน ๒๐ ล้านบาทหลังจากที่สภาเทศบาลฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้ให้ความเห็นชอบตามที่นายกเทศมนตรีเสนอ เพื่อนำเงินดังกล่าวสำรองไว้สำหรับประชาชนทั่วไปได้นำทรัพย์สินมาจำนำเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายลงทุนในกิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้เปิดเทอมที่จะถึงนี้ 
       ปัจจุบัน สถานธนานุบาล เทศบาลฯ ได้ให้การช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ประชาชนนับพันราย และสามารถสร้างรายรับเพื่อนำกลับมาพัฒนาท้องถิ่นได้พร้อม ๆ กัน โดยอัตราดอกเบี้ยรับจำนำเป็นไปตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย

วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เมืองแกลงเขยิบขึ้นชั้นการบดย่อยผลไม้เปลือกแข็งได้แล้ว...ตัดตอนการขนไปทิ้งถ่ายเดียว...พบเหมาะเป็นปุ๋ยช่วยดินมีรูพรุนร่วนซุยมากขึ้น

เปลือกทุเรียน เปลือกขนุน ทั้งแข็ง ทั้งหนา
       สถานการณ์ทุเรียนระยองวันนี้...เรื่องปลูกเพิ่มเงียบสนิท ที่ปลูกเพิ่มเอา ๆ คือ ยาง และปาล์มน้ำมัน...ขอทำนายแบบไม่ต้องคิดว่า...ราคาทุเรียนต้องดีขึ้น...(เพราะการปลูกลดลง ค่าปุ๋ย ค่าไฟ ค่าน้ำมันแพงขึ้น) 

       ในแต่ละปี ฤดูทุเรียนออกสู่ตลาด จะออกไล่ ๆ กับลองกอง มังคุด เงาะ ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีผลไม้ให้เลือกในเวลาเดียวกันอยู่หลายชนิด...ตลาดจึงดูเหมือนจะเป็นของพ่อค้าแม่่ค้า และผู้ซื้อไปโดยปริยาย ราคาตกกันเป็นประจำ

       ผลไม้ข้างต้น ดูแลกันทั้งปี รดน้ำให้ปุ๋ยกันทั้งปี แต่ได้ขายกันอยู่ไม่เกินสองถึงสามเดือน...เวลาซื้อเขาชั่งน้ำหนักรวมเปลือกไปด้วย ก็เพราะมันต้องดูแลกันมารวมทั้งหมดไม่สามารถแยกได้....

เปลือกมะพร้าวทั้งลูก และเปลือกอื่น ๆ เปลี่ยนสภาพหลังบดย่อยแล้ว
       เปลือกเงาะ เปลือกลองกองยังพอว่า เพราะทั้งมีขนาดเล็กและน้ำหนักไม่มาก ผิดกับเปลือกทุเรียน เปลือกขนุน และลูกมะพร้าว ที่ทั้งหนา เปลี่ยนรูปยาก และแข็ง จึงจากสถิติจะพบว่า ปริมาณน้ำหนักขยะเดือนพฤษภาคม มิถุนายนของทุกปีจะสูงกว่าเดือนอื่น ๆ  ก็เพราะเจ้าเปลือกผลไม้ข้างต้นเหล่านี้นี่เอง

ขั้นตอนจากเปลือกสู่กากที่บดย่อยแล้ว มีสองทางเลือก...ทำปุ๋ยหมักกับทำแก๊ส
       น้ำหนักขยะผูกพันกับค่าจัดการขยะ ยิ่งน้ำหนักมากยิ่งเปลืองงบประมาณมาก นี่ข้อหนึ่ง และโดยเหตุที่เปลือกผลไม้ทั้งหลายเหล่านี้มันแฝงต้นทุนค่าน้ำ ค่าปุ๋ย ค่าไฟ ค่าน้ำมันในกระบวนการผลิตเอาไว้ นี่ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ว่า "ทำอย่างไรจึงจะใช้เจ้าผลไม้เปลือกแข็งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์มากกว่าเก็บขึ้นรถขนไปดั๊มพ์ทิ้งในหลุมอย่างเดียว"

เปลือกที่บดย่อยแล้ว ใส่น้ำผสมมากและน้อยระหว่างบดย่อย
สีที่ออกมาจะต่างกันเห็นได้ชัด
       พึงจำไว้เสมอว่า "ในวัสดุธรรมชาติต่าง ๆ ที่มีความชื้นอมผสมอยู่ ล้วนคือแหล่งพลังงาน" อุปมาดั่งเมล็ดข้าว ใบผัก เนื้อสัตว์ ฯ เป็นต้น  เวลาเรารับประทานสิ่งเหล่านี้ นั่นหมายถึงเรากำลังรับประทาน "แหล่งสะสมพลังงาน" ซึ่งกระบวนการย่อยของร่างกาย จะผลักพลังงานที่สะสมออกมาให้ร่างกายของเราได้ใช้ต่อไป 

       ที่สุดแล้วจึงนำเจ้าผลไม้เปลือกแข็งเหล่านี้ ทั้งเปลือกทุเรียน ขนุน ลองกอง มะพร้าว เข้าเครื่องบดที่มีใบตีที่ทั้งใหญ่ หนา มีน้ำหนัก และคมมาก เพื่อให้มีความละเอียดย่อยสลายได้ง่ายขึ้น ผลการนำเข้าสู่เครื่องย่อยพบว่า...

ลักษณะเปลือกที่บดย่อยแล้ว มีทั้งเศษผลไม้
และกากใย
       เปลือกผลไม้หนาและแข็งเหล่านี้ ไม่เหลือสภาพเดิมให้เห็น แต่กลายเป็นเศษเปลือกชิ้นเล็กชิ้นน้อย มีทั้งกาก (ทุเรียน ขนุน ลองกอง) และใย (มะพร้าว) 

       กระบวนการระหว่างย่อย ต้องอาศัย "น้ำ" เป็นตัวช่วยลดความหนืดเหนียว เพราะเปลือกทุเรียน ขนุนมีส่วนผสมหลักเป็นแป้งและน้ำตาล หากใส่น้ำมากจะทำให้บดย่อยดีขึ้น แต่จะเพิ่มน้ำหนักและทำให้กากแห้งช้าลง (สีและลักษณะการจับตัวของเศษที่บดย่อยออกมา ระหว่างให้น้ำมาก และน้ำน้อยจะต่างกันเห็นได้ชัด)

       ขอประเมินจากการหารือร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ว่า ระหว่างนำเศษเปลือกผลไม้ที่บดย่อยนี้ไปหมักทำไบโอแก๊ส กับไปทำปุ๋ยหมัก น่าจะเหมาะกับการทำปุ๋ยหมักมากกว่า เพราะมีกากใยที่จำไปช่วยทำให้ดินมีสภาพร่วนซุยมีรูอากาศเพิ่มได้ แต่หากนำไปทำแก๊ส การบูดเน่าจากเปลือกเหล่านี้น่าจะได้แก๊สมีเทนในปริมาณน้อยกว่าการหมักด้วยเศษอาหารเศษผัก

หน้าตาเครื่องบดย่อยผลไม้เปลือกแข็ง
       จึงระยะนับจากนี้ จะได้แยกเปลือกผลไม้เหล่านี้เพื่อนำกลับไปบำรุงดินในรูปของปุ๋ยหมักให้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของเทศบาลไปได้มากพร้อมกันในตัว  และเมื่อพ้นสิ้นฤดูกาลผลไม้เปลือกแข็งอย่างทุเรียน มังคุดแล้ว ขนุน มะพร้าวจะยังมีให้แยกออกมาได้อีก เพราะเป็นผลไม้ที่ออกได้ทั้งปี มิรวมถึงลูกจากที่วันนี้ยังผ่าเอาลูก แล้วเอาเปลือกโยนทิ้งลงคลองกันอยู่อีกไม่น้อย แม้จะไม่เป็นโทษต่อระบบนิเวศน์คลองนักก็ตาม


       

     

     

วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รวมประเด็นข่าวสั้นเมืองแกลง... ส่งท้ายเมษามหาสงกรานต์

งานสงกรานต์ผ่านพ้นไปแต่วันที่ ๑๓ เมษา ตามมาด้วยวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ๑๔ เมษา หากแต่ที่เมืองแกลงและย่านนี้ มีการทำบุญส่งท้ายสงกรานต์กันแทบจะทุกชุมชนชนิดใกล้ที่ไหน ทำที่นั่น สะดวกตรงไหน ทำตรงนั้น เหมือนเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการสรงน้ำพระ แล้วตบท้ายด้วยการอุิทิศส่วนบุญกุศลแก่ผู้ล่วงลับ เพื่อความเป็นสิริมงคล
       ปีนี้ทำบุญส่งท้ายสงกรานต์กันสองแห่งสุดท้ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ เมษาคือที่ชุมชนบ้านแหลมยางและหนองควายเขาหัก และอีกหลายชุมชนก่อนหน้านี้ก็อดที่เลี่ยงกันทำบุญวันตรงกันไม่ได้ชนิดต้องนิมนต์พระมาจากนอกพื้นที่..."จะทำบุญกันซะอย่าง ใครอย่าขวางเชียวนา"


เบื้องหลังการถ่ายทำสำหรับการนำไปสู่การเปิดเทอมของโรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยา มีรายละเอียดมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมความพร้อมด้านการจัดการ ที่หัวใจสำคัญอยู่ที่ครูผู้สอนที่ขณะนี้ต้องไปอบรมเรียนรู้จากโรงเรียนอนุบาลของจริงก่อนเปิดเทอม เพราะเป็นปีการศึกษาแรกของทั้งนักเรียนและของทั้งโรงเรียน เพื่อที่จะได้มุ่งสู่ความวัตถุประสงค์และสมความตั้งใจ
       และเป็นที่น่าอุ่นใจ ที่ศาสตราจารย์ดร.เยาวพา เดชะคุปต์ นักการศึกษาปฐมวัย จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ตอบรับที่จะเดินทางมาอำนวยการตั้งแต่ก่อนเปิดเทอมและจะอยู่บริหารงานให้ในระยะที่ ๑ จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้


       งานปรับระดับถมดินโซนพื้นที่บริเวณโรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยาพื้นที่กว่า ๒ ไร่ เพื่อให้มีระดับเท่ากับพื้นสนามกีฬาโดยรวม อาศัยดินทรายจากท้องคลอง และดินที่ได้จากการขุดสระน้ำซึ่งเทศบาลฯ สต็อกไว้ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือแล้วเสร็จตามเป้าหมาย แต่น่าเสียดายที่ก่อนบดอัดเพื่อไม่ให้เกิดการยุบตัว ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะฝนตก ยังผลให้งานปรับภูมิทัศน์และทางเดินเชื่อมอาคารต้องล่าช้าไม่เป็นไปตามกำหนด
       กระนั้นก็ดี ยังใจจดจ่อรอทำให้ครบกระบวนการตามเป้าหมาย โดยอาจต้องมีการปรับแผนให้สอดรับสถานการณ์อยู่บ้าง ทั้งเรื่องบริเวณปรับปรุงก่อน หลัง และการจัดการด้านต้นไม้ใบเขียวเพื่อความสวยงามร่มรื่น






ก่อนหน้าที่มิสเตอร์ปีเตอร์จะมาเยือนแกลงเป็นรอบที่ ๒ มิสเตอร์รีชาร์ดก็ได้เคยมาก่อนที่จะแนะนำเพื่อนให้มาที่นี่ ทั้งสองคนทำธุรกิจไส้เดือนอยู่ออสเตรเลีย ที่เมืองเมลเบริน และแทสมาเนียตามลำดับ ปีเตอร์ตั้งใจมานำพันธุ์ไส้เดือนจากเมืองแกลงไปเพาะเลี้ยงที่ชาญกรุงพนมเปญ และเขาบอกได้แรงบันดาลใจจากกระบวนการจัดการของเสียของเมืองแกลงมากเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง รวมความว่าเขามีเรื่องของจิตอาสารองพื้นเป็นทุนเดิมอยู่นั่นเอง
       เมื่อเห็นถุงบรรจุมูลไส้เดือนของเทศบาลฯ เขาบอกว่า ถ้าเราซีลปิดผนึกถุงแบบไม่ให้มีอากาศเล็ดลอดเข้าไปได้ ไข่ของไส้เดือนที่ตกค้างจะไม่สามารถเพาะเป็นตัวได้ต่อไป.....อุเหม่ ๆ หมอนี่ละเอียดดีจัง


อย่าทำเป็นไม่สนใจกับคนที่เราเห็นอยู่บ่อย ๆ อย่างชาวอปพร. หรืออาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน เพราะชมรมนี้เขามีสมาชิกกระจายอยู่ทุกอบต. เทศบาลในอำเภอแกลงทีเดียว มีการประชุมของทุก ๆ หัวหน้าศูนย์ฯ ทุกเดือน แม้ภารกิจหลักที่เราเห็นกันอยู่ประจำ ที่เขาคอยจัดจราจรตามงานศพ งานบวช งานแต่ง สารพัดงานก็ตาม แต่เมื่อมีเหตุฉุกเฉินก็ยังสามารถเข้าสนับสนุนการแก้ไขสถานการณ์ได้เหมือนกัน
       ในส่วนอปพร. ของเมืองแกลง สมาชิกทุกคนจะได้รับข้อความแจ้งเหตุแจ้งข่าวผ่านระบบ SMS ยิงตรงเข้าโทรศัพท์มือถือของแต่ละท่าน ซึ่งมีส่วนทำให้งานคล่องตัวขึ้น และหากชมรมอปพร. อำเภอแกลง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารถึงกันได้รวดเร็วว่องไวเข้าไว้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง


อาคารศูนย์ลดโลกร้อน หรืออาคารเรียนหลังหลักของโรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยานี้ กว่าจะปูกระเบื้องว่าวมุงกันสาดหน้าได้ ก็รออยู่หลายสัปดาห์จนทำให้รู้สึกว่าทำไมไม่เสร็จเสียที ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าต้องรอกระเบื้องจากจังหวัดลำพูนโน่น พอกระเบื้องครบ ก็ขาดตัวครอบเหลี่ยมอีก เพราะคนงานหยุดเที่ยวยาวจนเกือบจะไปพร้อมงานสงกรานต์เสียแล้ว 
       เมื่อของมาครบก็จึงได้ความเรียบร้อยสมบูรณ์ของกันสาดเสียทีดังภาพ โดยที่ได้มีโอกาสเข้าไปในอาคารนี้หลายครั้ง ที่รู้สึกได้ถึงความเย็นสบายอันคงเพราะเหตุของวัสดุที่ใช้อย่างผนังดิน และโครงหลังคาทรงสูงนี้ 
       ต่อเมื่อปรับภูมิทัศน์รอบอาคารแล้วเสร็จ ก็จะไม่เว้นที่จะไปยืนสงบ ๆ เพื่อค้นหาความรู้สึกที่ได้รับจากภายนอกของอาคารหลังนี้ต่อไป



 ได้รับแจ้งจาก "เงาะ" เจ้าของร้านกาแฟสด "เมืองยอง" แต่เมื่ออยู่ระหว่างการจัดงานบุญกลางบ้านเมื่อเดือนมีนาที่ผ่านมาว่า ปรารถนาจะมอบเครื่องวัดความดันแก่สังคมได้ไว้ใช้ หลังจากช่วยคลี่คลายปัญหาการเก็บค่าล็อค ค่าแผง ค่าไฟในงานบุญกลางบ้านไว้ให้ได้ จนเมื่องานผ่านไป ก็มิได้นึกถึงอีก กระทั่งเมื่อสักปลายเดือนเมษานี้ เงาะจึงแจ้งเตือนมาอีกครั้ง
       ขอขัดใจที่ไม่ประสงค์ให้การมอบของชิ้นเล็ก ๆ นี้ไปสู่ัสังคม ไม่ใช่ไม่รู้ว่าชีวิตเงาะไม่ได้ขาดการยอมรับจากสังคมซะหน่อย แต่ที่เอามาเล่า เพราะบ้านเรามีคนทำดีแบบเงียบ ๆ อยู่มิใช่น้อย...   


ปัญหาเหตุรำคาญเรื่องเสียงอันเนื่องมาแต่การจัดดนตรีบริเวณถนนเทศบาล ๓ ซึ่งยืดเยื้อมาแต่ต้นปี แม้ได้มีการส่งเปรียบเทียบปรับแล้ว เหตุก็ยังไม่ทุเลา กระทั่งนายสุรพล เทียนสุวรรณพร้อมฝ่ายเทศบาลฯ ได้หารือและถอนใบอนุญารใช้เสียงและการสะสมอาหาร จึงได้มีการปิดเพื่อให้โอกาสปรับปรุงแก้ไขใหม่
       เมื่อวันศุกร์ที่ ๔ พฤษภาคม เป็นเวทีที่ได้ข้อยุติ บนพื้นฐานการรับฟังระหว่างกัน การยอมรับควา่มผิดพลาด และความพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันทำมาหากินต่อไปได้ หากยังมีความจริงใจต่อกันตรงนี้อยู่ ย่อมมั่นใจว่าปัญหาจะคลี่คลายได้เมื่อเปิดกิจการใหม่อีกรอบหนึ่งแล้ว 


ปัญหาความน่าเสียดายที่เห็นเปลือกทุเรียนเปลือกผลไม้หนา ๆ ต้องถูกทิ้งไปต่อหน้าต่อตามาหลายปี กำลังมีอนาคตที่ดีที่จะมีการนำไปใช้ประโยชน์แล้ว
ล่าสุด เทศบาลฯ นำเปลือกทุเรียนมาเข้าเครื่องปั่นที่ได้รับมาในชุดเดียวกับการผลิตไบโอแก๊ส จากกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน แม้การทดลองจะพบปัญหาอยู่บ้างโดยเฉพาะความหนืดเหนียวของก้อนเปลือกทุเรียนที่บดแล้ว แต่น่าที่จะใช้น้ำเป็นตัวช่วยระหว่างการบดย่อยได้ื 
       ภายหน้า ขยะอินทรีย์ทั้งหลาย คงจะูุถูกแยกย่อยได้ละเอียดยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องพามันไปนอนกองอยู่ในหลุมขยะอย่างเปล่าประโยชน์อีกต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อเทศบา่ลฯ และต่อโลกของเราเลยทีเดียว