โปรดทราบ

ร่วมแจ้งข่าวสารต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน "เมืองแกลงนิวส์" ได้ที่ muangklangnews@gmail.com เพื่อที่กองบรรณาธิการข่าวจะได้พิจารณานำเผยแพร่ต่อไป

วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

งานก่อสร้างโรงเรียน "อยู่เมืองแกลงวิทยา" และอาคารศูนย์การเรียนรู้ "เมืองแกลงลดโลกร้อน" รวม ๔ อาคาร เดินหน้าแล้ว..หลังทุกฝ่ายร่วมกราบไหว้เจ้าที่เอาฤกษ์เอาชัย

       เมื่อวันพุธที่ ๒๘ ธันวาคมนี้ เทศบาลตำบลเมืองแกลงได้เริ่มต้นโครงการก่อสร้าง "โรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยา" และโครงการ "ศูนย์การเรียนรู้ เมืองแกลงลดโลกร้อน" ขึ้นพร้อมกัน ณ บริเวณ แปลงที่ดินด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พระพรรษา

       ทั้งนี้ ได้กราบนิมนต์พระครูบุรเขตสังฆการ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทองพุทธาราม ในฐานะเจ้าคณะตำบลทางเกวียน และในฐานะที่สนามกีฬาฯ ของเทศบาลตั้งอยู่ในบริเวณเขตชุมชนวัดโพธิ์ทองฯ มาปะพรมน้ำพระพุทธมนต์ และตั้งศาลเ้จ้าที่ชั่วคราวขึ้นเพื่อให้งานก่อสร้างเกิดความเรียบร้อยราบรื่น และได้เชิญบุคคลต่าง ๆ ในพื้นที่ ผู้ได้มีส่วนในการก่อตั้งและให้การสนับสนุนการก่อสร้า่งสนามกีฬาฯ ของเทศบาลฯ เรื่อยมาเพื่อร่วมในการประกอบพิธีเริ่มต้นงานก่อสร้าง  อาทิ นายสิน กุมภะ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายวิฑิต ลาวัณย์เสถียร ประธานมูลนิธิช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจน อำเภอแกลง นายประยูร เจริญชนม์ อดีตผู้อำนวยการโีรงเรียนอนุบาลระยอง นายนิคม นางอรรฆิศา สุวรรณกิจ ผู้บริจาคที่ดินแก่เทศบาล นายวิโรจน์ กังสวนิช นายกสมาคมพุทธศาสตร์สงเคราะห์ (ฮะเฮงตั๊ว)  นายเกียรติศักดิ์ ตั้งเจริญสุทธิชัย (กุยอิงเกาะ)  คุณสมเกียรติ อภิญญาชน  คุณสมพงษ์ สนทราพรพล  เป็นต้น พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลงทั้ง ๒ เขต และประธานชุมชนทุกชุมชน 

       งานก่อสร้่างอาคารเรียนโรงเรียน "อยู่เมืองแกลงวิทยา" เป็นอาคารขนาด ๓ ชั้น ๓๐ ห้องเรียน กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๙๓ เมตรรวมมูลค่า ๒๘ ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากนายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง คาดว่าจะใช้เวลาการก่อสร้างประมาณ ๑ ปี  ส่วนงานก่อสร้่าง อาคารศูนย์การเรียนรู้ เมืองแกลงลดโลกร้อน ขนาด ๑ ชั้น ค่าก่อสร้างประมาณ ๒.๒ ล้านบาท และอาคารร้านค้าชุมชน ขนาด ๑ ชั้น ค่าก่อสร้างประมาณ ๑๕๓ ล้านบาท ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่เปิดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนอนุบาลชั้นปีที่ ๑ คาดว่าจะสามารถก่อสร้า่งแล้วเสร็จทันภายในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ รวมถึงห้องสุขาสำหรับบริการประชาชนอีก ๒ หลัง รวมมูลค่ากว่า ๙ แสนบาท  

       นอกจากนี้ เทศบาลตำบลเมืองแกลง ยังได้ร่วมกับบริิษัท โตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยการประสานงานของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ปรับปรุงก่อสร้่างต่อเติมอาคารบ้านไม้เก่าที่มีอายุกว่า ๘๐ ปี จากปากน้ำประแสขึ้น ณ บริเวณศูนย์การเรียนรู้ เมืองแกลงลดโลกร้อนดังกล่าว เพื่อให้เป็นอาคารสำหรับการศึกษางานศิลปกรรมของคนเมืองแกลงในยุคอดีต เพื่อเป็นแหล่งศึกษาวิถีชีวิต อัตลักษณ์และเป็นสถานที่แสดงนิทรรศการ การให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถก่อสร้่างได้แล้วเสร็จทันในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน

       เทศบาลตำบลเมืองแกลงขอขอบคุณผู้เข้าร่วมพิธีเปิดงานก่อสร้่างและตั้งศาลเจ้าที่ชั่วคราวระหว่างการก่อสร้างไว้ ณ โอกาสนี้ และขอมอบเป็นของขวัญปีใหม่ ๒๕๕๕ แด่พี่น้องชาวเทศบาลตำบลเมืองแกลงทุกท่าน โดยนายกเทศมนตรีตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนฝ่ายจะได้ตั้งใจกำกับดูแลการดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่อไป

วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

นายกฯ สมใจ..หญิงแกร่งแห่งเทศบาลนครภูเก็ต พาพวกบุกศูนย์การเรียนรู้ฯ เมืองแกลง..แม้นวันอาทิตย์ก็...จัดไปเพราะมาไกล

       วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ธันวาคมนี้ คุณสมใจ  สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นายถาวร จิรพัฒนโสภณ รองนายกเทศมนตรี ได้นำคณะผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งราชการและภาคประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการในพื้นที่เทศบาลนครภูเก็ต กว่า ๗๐ คนเดินทางมายังเทศบาลตำบลเมืองแกลง

       ทั้งนี้เพื่อเข้าเยี่ยมชม เรียนรู้และแลกเปลี่ยนการดำเนินงานของเทศบาลระหว่างกัน ณ ศูนย์การเรียนรู้ ด้านการจัดการเมืองแลเะสิ่งแวดล้อมประจำภาคตะวันออก ของเทศบาลตำบลเมืองแกลง โดยมุ่งเน้นเรื่องการศึกษาเรื่องกระบวนทัศน์และกระบวนงานในการจัดการของเสียของเมือง ซึ่งเทศบาลนครภูเก็ตเป็นเทศบาลขนาดใหญ่ และเป็นพื้นที่รองรับคนจากต่างถิ่นที่เข้ามาดำเนินธุรกิจและนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ปีละนับล้านคน ทำให้เรื่องขยะที่เกิดจากวงจรชีวิตคนในนครภูเ้ก็ตดังกล่าว เป็นประเด็นที่ต้องมีการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการและการจัดการในระบบเมือง

       ในการนี้ คุณสมใจ ได้เข้าเยี่ยมชมทุกฐานการเรียนรู้ของเทศบาลตำบลเืมืองแกลง ซึ่งนายวิทยา พุฒิธนะสุนทร รองนายกเทศมนตรีได้กล่าวให้การต้อนรับคณะจากนครภูเก็ตซึ่งอยู่ในโครงการร่วมกันของ Delgosea ภายใต้การประสานอำนวยการของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่ได้ดำเนินงานมากว่า ๑ ปีร่วมกับเทศบาลตัวแทนในภาคอื่น ๆ ตลอดมา  


       หลังจากนั้นนายกเทศมนตรีพร้อมด้วยนางนุชนาถ สุขาวดี รักษาการผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ได้นำชมและให้คำอรรถาธิบายการดำเนินงานต่าง ๆ ตลอดการทัศนศึกษาดูงาน ก่อนที่คณะวิทยากรของเทศบาลตำบลเมืองแกลง จะได้นำคณะจากนครภูเก็ตขึ้นรถขสมก. (ขนส่งเมืองแกลง) ชมสถานที่ต่าง ๆ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวเทศบาลตำบลเมืองแกลงในโอกาสเดียวกัน

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เจ้าคณะจังหวัด..ผู้ว่าฯ ระยอง นำคณะผู้เชี่ยวชาญเข้าพื้นที่สนามกีฬาเมืองแกลง..พิจารณาความเป็นไปได้ไว้เป็นตัวเลือกการก่อสร้างพุทธมณฑล

       เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ ธันวาคมนี้ เวลาประมาณ ๑๑.๓๐ นาฬิกา พระราชสิทธินายก เจ้าคณะจังหวัดระยอง พร้อมด้วยนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายธาตรี นามะสนธิ ปลัดจังหวัดระยอง นายชรินทร์ รวมนรินทร์ หัวหน้าสำนักพุทธศาสนา จังหวัดระยอง พร้อมด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการพิจารณาสถานที่สำหรับงานโครงการก่อสร้่างพุทธมณฑล ประจำจังหวัด ได้เดินทางมาสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พระพรรษา เทศบาลตำบลเมืองแกลง โดยมีนายกเทศมนตรีพร้อมคณะผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลร่วมให้การต้อนรับ

       ทั้งนี้ สืบเนื่องจากจังหวัดระยอง ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง คณะสงฆ์จังหวัดระยองมีโครงการก่อสร้างพุทธมณฑลขึ้นในจังหวัด และที่ผ่านมา ได้ร่วมกับคณะสงฆ์และผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่าง ๆ พิจารณาหาสถานที่และศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้เรื่อยมา โดยได้พิจารณาเลือกพื้นที่บึงจำรุง ในเขตตำบลชากพงไว้เป็นสถานที่ก่อสร้างลำดับแรก และเลือกพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแปลงที่ดินสนามกีฬาฯ เทศบาลตำบลเมืองแกลง ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๓๐ ไร่้เป็นสถานที่ลำดับถัดมา โดยบริเวณดังกล่าวในปัจจุบัน ได้ขุดเป็นสระเก็บน้ำไว้แล้วส่วนหนึ่ง ประมาณ ๑๑ ไร่ และมีแนวเขตที่ดินด้านทิศเหนือติดลำคลองประจำเมือง กำลังอยู่ืในระหว่างการพัฒนาต่อเติมเป็นพื้นที่สำหรับพี่น้องประชาชนชาวเมืองแกลงและละแวกใกล้เคียงได้มาออกกำลังกายส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งลักษณะการใช้พื้นที่มีความเหมาะสมสอดรับกับกิจการส่งเสริมสุขภาพจิตในกรณีของการก่อสร้างเป็นพุทธมณฑลได้เช่นเดียวกัน และเทศบาลฯ มีขีดความสามารถพร้อมที่จะเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของงานดังกล่าวได้ตลอดเวลา

       หลังจากนี้ จะได้มีการหารือเรื่องสถานที่ตลอดจนความเหมาะสมของการก่อสร้างพุทธมณฑลนี้ในระดับจังหวัดต่อไป

 

วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สำนักนโยบายและแผน กระทรวงทรัพฯ จับมือ IGES จากญี่ปุ่น ดันเมืองแกลงนำร่อง Asean Environmentally Sustainable Cities Programme

       อนุสนธิจากการที่สำนักนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับ Institure for Global and Environmental Strategies (www.iges.or.jp) จากประเทศญี่ปุ่นได้จัดทำโครงการ Asean Environmentally Sustainable cities (ESC Programme) หรือ โครงการเมืองต้นแบบสิ่งแวดล้อมยั่งยืนขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ และได้พิจารณาคัดเลือก เทศบาลนครพิษณุโลก เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน และเทศบาลตำบลเมืองแกลง เป็นเมืองต้นแบบในโครงการดังกล่าว โดยได้ประสานงานและจัดสรรงบประมาณแก่เทศบาลทั้ง ๓ แห่งเพื่อให้นำงบประมาณนี้ไปขยายผลสร้่างเครือข่ายการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อเมืองน่าอยู่ ซึ่งในส่วนเทศบาลตำบลเมืองแกลงได้รับการสนับสนุนงบประมาณในวงเงินประมาณ ๓๔๐,๐๐๐ บาท
(For more pic.) https://picasaweb.google.com/109098576067590950184/152011

      ทั้งนี้ เทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้จัดทำโครงการฝึกอบรมผ่านศูนย์การเรียนรู้ การจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อม ประจำภาคตะวันออก (Eastern Regional Coordinating Center on Urban and Environmental Management) จำนวนรวม ๕ รุ่น ระหว่างวันที่ ๑๔ วันที่ ๑๙ วันที่ ๒๖ ธันวาคม และวันที่ ๔ และวันที่ ๑๖ มกราคมศกหน้า รุ่นละ ๒ ถึง ๓ วัน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเยาวชน ประชาชนในพื้นที่ และผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่มีความสนใจ ซึ่งขณะนี้ได้แจ้งความประสงค์เ้ข้ารับการอบรมแล้วจำนวนมาก


              การอบรมมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจพื้นฐานสิ่งแวดล้อมประจำพื้นที่ตั้งของเมือง ความเข้าใจเรื่องราวในหลากหลายมิติของกระบวนเมืองซึ่งมีความหลากหลายในการประกอบอาชีพที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติอย่างดิน น้ำและฤดูกาลที่มีความเหมาะสม นอกจากนี้ยังจัดให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ลงพื้นที่ดูการดำเนินงานจริงทั้งจากกลุ่มอาชีพที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างเช่น การทำนา การปลูกผัก การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่พึ่งพาน้ำดิบจากแ่ม่น้ำ รวมถึงการจัดการเมืองของเทศบาลตำบลเมืองแกลง ที่มุ่งเน้นการใช้ภารกิจประจำวันในบริบทงานของเทศบาลในการลดภาวะโลกร้อน อาทิ มิติการจัดการพื้นที่โล่ง (Green and open space area) มิติของการลดการปลดปล่อยคาร์บอนด้านการขนส่งและการใช้ไฟฟ้า (Cabon emission and methodology for mitigation and adaptation) มิติด้านความมั่นคงทางอาหารของเมือง (Urban agriculture Campaign) และ มิติด้านการจัดการของเสีย ( Waste management) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือความผาสุกของพี่น้องประชาชน


       ทั้งนี้ การจัดอบรมรอบที่ ๑ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยมีกลุ่มเป้าหมายแรกคือนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ๕ และ ๖ กว่า ๗๐ คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากโรงเรียนแกลง วิทยสถาวร ซึ่งนายกเทศมนตรีได้มอบหมายกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินการจัดฝึกอบรมและให้มีการตรวจประเมินผลการอบรมทั้งในรูปของการทอดแบบสอบถามความคิดเห็น และการบรรยายผลการอบรมในรูปของการเขียนเรียงความส่งกลับมาที่เทศบาล รวมถึงสร้างเครือข่ายช่องทางการสื่อสารสถานการณ์ข่าวสารบ้านเมืองผ่านระบบจดหมายอีเลคทรอนิคส์ (E-mail)ในอนาคตต่อไป

       

วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ที่ตั้งอาคารเรียนตกผลึกแล้ว...ทั้งเทศบาลฯ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประสานงานและอบจ. ซักซ้อมกันรอบสุดท้าย พร้อมลงมือต้นปีใหม่นี้

       เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคมที่ผ่านมา คณะผู้บริหารพร้อมด้วยเหล่าสมาชิกสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งอาคารเรียนซึ่งจะประกอบไปด้วย

       ๑. อาคารเรียนหลัก กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๙๓ เมตร สูง ๓ ชั้น จำนวน ๓๐ ห้องเรียนที่เป็นแบบแปลนของเทศบาลฯ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง


       ๒. อาคารเรียนศูนย์ลดโลกร้อน ซึ่งจะใช้ประโยชน์ทางการเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาลจำนวน ๓ ห้องเรียนในปีแรก


       ๓. อาคารร้านค้าชุมชน ซึ่งจะใช้เป็นโรงอาหารสำหรับนักเรียนในปีแรก


       ๔. อาคารศูนย์การเรียนรู้บ้านไม้เก่าจากปากน้ำประแส ซึ่งจะซ่อมแซมปรับปรุงให้เป็นอาคารหนึ่งของศูนย์การเรียนรู้การลดโลกร้อน


       ๕. ห้องสุขา จำนวน ๒ หลัง สำหรับใช้บริการนักเรียนและประชาชน

       หลังจากนั้นในเวลา ๒๐ นาฬิกาวันเดียวกันได้นัดประชุมเพื่อพิจารณาตำแหน่งอาคารต่าง ๆ เพื่อเป็นความเห็นจากเทศบาลตำบลเมืองแกลง โดยในวันที่ ๖ ธันวาคมถัดมา คุณนงพัลค์ จั่นเจริญ จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และคณะสถาปนิกผู้ออกแบบจากบริษัท ป่าเหนือสตูดิโอ ได้เดินทางมาประชุมก่อนที่จะลงสำรวจพื้นที่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในวันที่ ๗ ธันวาคมถัดมา อาจารย์สาธิต เลิศเพียรนิมิต ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูทิศทางการก่อสร้างอาคารที่สอดคล้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้เดินทางมาร่วมให้คำแนะนำอีกทางหนึ่งด้วย

       ทั้งนี้ ตำแหน่งการก่อสร้างอาคารหลัก จะอยู่บริเวณตอนกลางของแปลงที่ดินค่อนมาทางทิศตะวันออก ส่วนหมู่อาคารที่เหลือ จะอยู่บริเวณด้านทิศเหนือใกล้ริมน้ำโดยเกาะกลุ่มกับบริเวณหมู่ต้นไม้ยืนต้นเดิม ซึ่งบริเวณที่ดินที่ติดกับริมน้ำ ได้มีการกันพื้นที่เป็นระยะถอยร่นไว้ไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร เป็นไปตามตามหลักเกณฑ์ผังเมืองที่กำกับโซนพื้นที่นี้เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ชายคลอง เพื่อการระบายน้ำในฤดูน้ำหลากที่ดี และเพื่อภูมิทัศน์ที่สวยงามของบ้านเมือง

       เทศบาลตำบลเมืองแกลง จะเริ่มลงมืองานก่อสร้างโรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยาทุกอาคารในเบื้องต้นนี้อย่างช้าที่สุด ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ๒๕๕๕ นี้เป็นต้นไป เพื่อให้อาคารบางหลังสามารถเปิดใช้งานได้ทันในการเปิดภาคการศึกษาที่ ๑ เดือนพฤาภาคมของปีเดียวกัน

วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554

กิจกรรมวันพ่อ...พาคนเมืองแกลงชื่นใจ...พาเหรดบริจาคโลหิตถึง ๑๕๕ รายถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัว

       ในเดือนธันวาคม เดือนแห่งวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษานี้ ชาวไทยได้ชื่นชมพระบารมีในคราวที่ได้ทรงเสด็จออกมหาสมาคม ณ มุขเด็จ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์พร้อมด้วยพสกนิกรได้เข้าเฝ้าถวายพระพร และได้ทรงมีพระราชดำรัสที่เปี่ยมล้นไปด้วยพระเมตตา และความเป็นห่วงประชาชนโดยเฉพาะที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมอย่างหาที่สุดมิได้

       ในส่วนเทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้ร่วมกับพี่น้องชาวเมืองแกลง ทำกิจกรรมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการจัดกิจกรรมออกกำัลังกายเพื่อสุขภาพขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ ธันวาคม โดยเริ่มต้นขบวนเดินเพื่อสุขภาพจากลานหน้าหอประวัติเมืองแกลง มุ่งสู่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พระพรรษา จากนั้นร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ จัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอล และกีฬาฮาเฮต่าง ๆ ตามมติของคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพ เทศบาลตำบลเมืองแกลง

       นอกจากนี้ ในวันศุกร์ที่ ๒ ธันวาคมยังได้ร่วมกับอำเภอแกลง กิ่งกาชาดอำเภอแกลง โรงพยาบาลแกลง จัดโครงการรับบริจาคโลหิตแก่สภากาชาดไทยขึ้น ณ หอประชุมสมาคมพุทธศาสตร์สงเคราะห์ อำเภอแกลง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเช่นเดียวกัน โดยมีพี่น้องชาวเมืองแกลงจากหลายภาคส่วนมาร่วมกันบริจาคโลหิตถึงจำนวน ๑๕๕ รายมากกว่าครั้งใด ๆ รวบรวมเลือดได้มากกว่า ๕๐๐๐๐ ซีซี. ซึ่งจะทำให้การเตรียมพร้อมสำหรับอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึงนี้มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุได้ดียิ่งขึ้น


       ขอถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน 

   

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

๒ แม่วัวตกลูกไล่เลี่ยกัน... รับขวัญวัว ๒ ตัวที่รอดชีวิตเพราะคุณนงนุช สวัสดิภูมิและคณะ..ไปไถ่คืนชีวิตออกมาให้

นาทีแห่งการเกิดใหม่
โชคดีที่รอดเพราะการไถ่ชีวิตมาจากโรงฆ่าสัตว์
       เมื่อวันอาทิีตย์ที่ ๒๗ พฤศจิกายนที่ผ่านมาีนี้ คุณนงนุช สวัสดิภูมิ บ้านอยู่ย่านชุมชนพลงช้างเผือก และคณะ ได้นำวัวจำนวน ๒ ตัว เป็นเพศผู้ เพศเมียอย่างละ ๑ ตัวซึ่งเจ้าของวัวเตรียมนำไปขายเพื่อชำแหละที่โรงฆ่าสัตว์มามอบให้กับเทศบาลฯ ณ คอกวัวศาลาแหลมท่าตะเคียน จากการประสานงานของช่างแดงที่มีอาชีพรังวัดที่ดิน เพื่อตนและคณะได้ร่วมกันทำบุญไถ่ชีิวิตใหม่คืนให้กับวัวทั้ง ๒ ตัว และเพื่อให้เทศบาลฯ นำไปเลี้ยงสำหรับการกำจัดขยะอินทรีย์จำพวกเศษผัก เศษหญ้าและผลิตปุ๋ยคอกต่อไป โดยนายกเทศมนตรี และครูอุทัย วงศ์สุบิน สมาชิกสภาเทศบาลฯ คอยรับมอบในนามเทศบาลฯ โดยขณะนี้ ได้นำวัวจำนวนหนึ่งไปเลี้ยงไว้บริเวณศูนย์ควบคุมคุณภาพมูลฝอย คลองไอ้วอง บ้านชำฆ้อ เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน และสร้างเสริมชาวบ้านผู้มีรายได้น้อยได้นำวัวไปเลี้ยงแล้วนำปุ๋ยคอกกลับมาจำหน่ายให้เทศบาลฯ อีกทอดหนึ่ง

       และเมื่อวันอังคารที่ ๒๒ และวันเสาร์ที่ ๒๖ ที่ผ่านมาตามลำดับ แม่วัวที่เลี้ยงไว้อยู่ ณ ศาลาแหลมท่าตะเคียนก็ได้ตกลูกเพิ่มมาอีก ๒ ตัว โดยลูกวัวทั้ง ๒ ตัวมีสุขภาพแข็งแรง และจะสามารถเข้ากลุ่มทำหน้าที่กำจัดเศษผัก เศษหญ้าผลิตปุ๋ยคอกแก่เทศบาลฯ ได้ในไม่ช้านี้

 

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

แกะ ๔ สะเก็ดข่าวเมืองแกลง..การอาชีพ..แนวต้นสนกันชน...งานคนคัดแยกขยะ...โรงสีข้าวแกลง

   ชุมชนสุนทรโวหารเคลื่อนงานสร้่างอาชีพ
 ระหว่างวันที่ ๒๒ ถึง ๒๔ พฤศจิกายนนี้ สำนักงานแรงงานจังหวัดได้จัดฝึกอบรมโครงการ "ฝึกอาชีพอิสระโครงการมีงานทำนำชุมชนเข้มแข็ง" ขึ้น ณ ศาลาต้นโพธิ์ โดยการประสานงานและอำนวยการของนายสุนทร อาตายพันธ์ ประธานชุมชนสุนทรโวหาร โดยได้วิทยากรจากอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรีมาฝึกการสานตะกร้าและภาชนะด้วยเส้นพลาสติคหลากสีแก่คณะกรรมการชุมชนและผู้สนใจทั่วไป



  รื้อเถาวัลย์แนวกันชนต้นสนที่ชุมชนบ้านแหลมยาง   
  ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤศจิกายนที่ผ่านมา งานพืชผักภูมิทัศน์และสวนสาธารณะ กองช่าง เทศบาลฯ ได้เดินทางโดยเรือยนต์เพื่อออกตัดแต่งแนวต้นสนที่เทศบาลฯ ปลูกไว้เป็นแนวกันชน ป้องกันการรุกล้ำริมตลิ่งบริเวณแนวชายคลองฝั่งตรงข้ามชุมชนบ้านแหลมยาง ซึ่งมีไม้เลื้อยอย่างเถาวัลย์และต้นไม้หลายชนิดเกาะกิ่งขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป เพื่อให้ต้นสนสามารถเจริญเติบโตได้ดีต่อไป


เล่าสถานการณ์สู่พนักงานประจำสายพานแยกขยะ 
      เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๔ พฤศจิกายน เวลา ๘ นาฬิกา นายกเทศมนตรีได้นัดหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำระบบสายพานคัดแยกขยะมาประชุมซักซ้อมความเข้าใจในกระบวนการทำงาน พร้อมแจ้งสถานการณ์ปัจจุบันและเหตุผลความจำเป็นในการดำเนินงาน นอกจากนี้ ยังมีนางนุชนาุถ สุขาวดี รักษาการผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม นายเสถียร งามฉาย สัตวแพทย์ ได้มาร่วมให้คำแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ด้วยอีกทางหนึ่ง


โรงสีข้าว "ข้าวแกลง" เข้าใกล้เป้าหมาย    
   ในระยะที่ลมหนาวกำลังมาเยือนเมืองแกลงช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้งข้าวนาปรังและข้าวนาปีที่มีการทำนากันเพิ่มมากขึ้นได้ทยอยการเก็บเกี่ยวอยู่ทั่วไป กองทุน "ข้าวแกลง" ของเทศบาลตำบลเมืองแกลงซึ่งเป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมผลักดันให้เกิดผลผลิตและความั่นคงทางอาหารสำหรับเมือง จึงอยู่ในระยะเข้าซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรย่านต่าง ๆ ขณะที่โรงสีข้าวเทศบาลฯ ก็ใกล้จะแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่า จะสามารถนำข้าวเปลือกเข้าสีได้ตั้งแต่เดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

   

วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

"แยกขยะให้เป็นนิจ ลดมลพิษให้โลกเรา"...นักเรียนชาย หญิง คว้าชัยประกวดคำขวัญรณรงค์คัดแยกขยะ..ลุง ๆ น้า ๆ ส.ท.รุดชื่นชมยินดี

       จากการประกวดคำขวัญเพื่อการรณรงค์คัดแยกขยะที่จัดขึ้นโดย กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลเมืองแกลง เพื่อเชิญชวนให้นักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตเทศบาลฯ ได้คิดถ้อยคำไม่เกิน ๒๐ พยางค์ในการประกวด เพื่อที่เทศบาลฯ จะได้นำคำขวัญเหล่านี้ ไปใช้ในการเผยแพร่เชิญชวนชาวเมืองแกลงในวงกว้าง เพื่อเป็นข้อคิดในการแก้ปัญหาขยะร่วมกัน

       คณะกรรมการได้ตัดสินการประกวดแล้วโดยมีรางวัลชนะเลิศของเด็กหญิงกัลยานุช เจริญวงศ์ ชั้นป.๕ จากโรงเรียนวัดสารนารถธรรมารามด้วยคำขวัญที่ว่า "แยกขยะให้เป็นนิจ ลดมิลพิษให้โลกเรา" และรางวัลที่ ๒ ของเด็กชายสรรพวัต ก่อเกื้อ ชั้นป.๔ จากโรงเรียนรุ่งนภาพิทยา ด้วยคำขวัญที่ว่า "ขยะเหลือใช้ไม่ด้อยคุณค่า คัดแยกออกมาสร้างมูลค่าเพิ่ม" ติดตามด้วยรางวัลชมเชยอีก ๑๕ รางวัล ซึ่งได้รับเกียรติจากนายปรวีร์ วัฒนานุกิจ ประธานสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลง นายศุภกร แสงพงษ์พิทยา นายชาติชาย เพชรพาณิชย์ และนายจาตุรงค์ วงศ์โภคิน สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลง เดินทางไปมอบเงินรางวัลและของขวัญพร้อมให้โอวาทแก่นักเรียนถึงโรงเรียนต่าง ๆ 

       เทศบาลตำบลเมืองแกลง ยังคงมุ่งเน้นการแก้ปัญหาขยะ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมกับพี่น้องประชาชนในทุก ๆ ช่องทาง ควบคู่ไปกับการวางระบบการจัดการของเสียที่ปลายทางโดยพยายามพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการตลอดเวลาด้วยสรรพวิธีต่าง ๆ  บนความตระหนักถึงปัญหาขยะที่มีผลกระทบต่องบประมาณค่าใช้จ่ายของบ้านเมืองและต่อความลดน้อยถอยลงของทรัพยากรธรรมชาติของโลก

 

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ลากยาวบ่ายสองยันเกือบทุ่ม...ทุกฝ่ายกลุ้มรุมระดมความคิดเพื่อผลผลิตของโรงเีรียนเทศบาล "อยู่เมืองแกลงวิทยา"...คิด..ขับขานกันอย่างมีความสุข

       เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน เวลา ๑๔ นาฬิกาที่ผ่านมา เทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้จัดให้มีการระดมความคิดเห็นในหัวข้อ "ผลผลิตอันเป็นความคาดหวังของการจัดตั้งโรงเรียนเทศบาล" ขึ้น ณ ห้องประชุมสภาเทศบาล ชั้น ๓ สำนักงานเทศบาลตำบลเมืองแกลง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากคณะทำงานการจัดตั้งโรงเรียนของเทศบาลฯ จากสมาชิกสภาเทศบาลฯ จากผู้นำชุมชน ผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับเด็ก ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมกันระดมความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก

       ผลจากการประชุมกว่าสี่ชั่วโมงครึ่งในวันดังกล่าว เพื่อที่จะให้การจัดตั้งโรงเรียน "อยู่เมืองแกลงวิทยา" ในสังกัดเทศบาล ดำเนินไปอย่างมีคุณภาพ และเพื่อนำเอาข้อคิดเห็นจากการประชุมไปใช้กำหนดกรอบการยกร่างหลักสูตร รวมถึงเพื่อเป็นทิศทางการบริหารโรงเรียนต่อไปในอนาคต นายกเทศมนตรีได้แสดงแนวคิดในการจัดตั้งโรงเรียนแก่ที่ประชุมเป็นเบื้องต้น เพื่อนำร่องการรับฟังความคิดเห็นและทัศนะต่าง ๆ ของที่ประชุม ซึ่งมีประเด็นถ้อยคำสำคัญ ดังนี้

       "อะไร..คือโรงเรียนเทศบาล" โดยนายกเทศมนตรี

       " วิชาศิลปะจะตอบสนองความเป็นเมืองน่าอยู่" 
โดยพระภูมิผา (พระตู่) 
       " การปลูกฝังให้รักการอ่าน การไม่ส่งเสริมให้เกิดการเอาชนะหรือมุ่งสู่ความเป็นเลิศที่อัตตา ค่านิยมของครูและผู้ปกครอง" โดยคุณมุก สามย่าน
       "การเรียนอยู่กับบ้าน (Home School) โดยผู้ปกครอง...ความเป็นครูที่ต้องมีความเมตตา ตระหนักในความหลากหลายของเด็ก...การสอนให้คิด ไม่สอนให้จำ...จินตนาการ...ทักษะของเด็กเพื่อการมีทักษะในการดำเนินชีวิต" โดยคุณสายสุทธิ์ จากระยอง


       " ตัวชี้วัดความสุขของชุมชนคืออะไร...ความสำคัญในการคัดเลือกครู นักเรียนสู่โรงเรียน...การลดความเห็นแก่ตัว ลดอัตตา..พฤติกรรมของเด็ก ปัจจัยแวดล้อม เรื่องทางวิชาการ สัดส่วนเนื้อหาเป็นประเด็นสำคัญของโรงเรียน" โดยคุณธวัชชัย บุญเลิศ
       " จิตอาสา..ความล้มเหลวของระบบอุดมศึกษาไทย...การเปิดช่องทางแก่ครูอาสาในพื้นที่...สภาการศึกษาของเมือง...ทุนนิยมไม่มีจิตวิญญาณ..มุมมองความไร้ระเบียบที่ถือว่า คือความมีระเบียบที่ซับซ้อนที่สุด" โดยคุณสมเกียรติ อภิญญาชน
       " การศึกษาที่เป็นกระแสหลักในปัจจุบัน..การสอนให้เกิดการแข่งขันหรือแบ่งปัน...ค่านิยมความรวยและความสุข...ความรู้เท่าทันสถานการณ์" โดยคุณแฟ้บ จากกลุ่มรักษ์เขาชะเมา
       " อาชีพที่หลากหลายในพื้นที่แห่งตน...คำขวัญของโรงเรียน..ข้อคิดในการยึดคุณธรรมนำวิชาการ...ค่านิยมและการเข้าถึง" โดยคุณเกรียงไกร กิตติไพศาลศิลป์ สมาชิกสภาเทศบาลฯ
       " ค่านิยมของเด็กและผู้ปกครอง..การแยกแยะผิดชอบชั่วดี...โรงเรียนทางเลือก" โดยคุณพิศมัย อินปากดี ตัวแทนชมรมร้านอาหาร
       " ความมั่นใจในความพร้อมของการจัดการศึกษาของเทศบาล" โดยนางจำรัส เจริญกิจ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลง
       " ความมีวินัย...สังคมของเด็กที่มีปัญหา...ความสำคัญของการมีจิตอาสา" โดยคุณแก้ว อุฬารวิริโย ผู้พิพากษาสมทบ ด้านเยาวชน จังหวัดระยอง


       " ทิศทางของโรงเรียน...การสืบเสาะ การคิดเป็นของเยาวชน...การเลียนแบบเพื่อพัฒนา...ความต่อเนื่องในการอบรมครูเพื่อกรอบทิศทางที่วางไว้" โดยคุณกรทัศน์ คุณาวุฒิ
       " การมีวิชาชีพ...ความสำคัญของผู้บริหารโรงเรียน...ความร่วมมือระหว่างผู้ปกครอง เด็ก และโรงเรียน...ชั่วโมงการสอนเรื่องราวของท้องถิ่น" โดยคุณวิชัย เจริญเมือง นายกสมาคมผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนแกลง วิทยสถาวร
       " ความหลากหลายในการจัดการเรียนการสอน" โดยคุณกาุรุญ มัญชุนากร
       " วิสัยทัศน์...เป้าหมายของโรงเรียน...การมีงานทำในอนาคตของเด็ก...จิตวิญญาณของความเป็นครู" โดยนายปรวีร์ วัฒนานุกิจ นายอุทัย วงศ์สุบิน สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลง
       " ทางเลือกในการจัดการศึกษาของโรงเรียนเทศบาล..โลกกว้างในสังคมมหาวิทยาลัย..." โดยนายอชิระ ธารามาศ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลง
       " สัดส่วนของหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรท้องถิ่น...เด็กคือภาระของผู้ปกครองเป็นสำคัญ" โดยคุณสุนทร อาตายะพันธ์ ประธานชุมชนสุนทรโวหาร
       " การเรียนในท้องถิ่นมีผลต่อการมีสังคมเพื่อนฝูงในอนาคต" โดยคุณอำนวย เสนาะ ประธานชุมชนบ้านไนยาง
       " ระเบียบวินัยของเด็ก...ข้อคิดระหว่างความเป็น คนดี และ คนเก่ง...ความเป็นคนดีของสังคมคือผลผลิตที่พึงคาดหวังของโรงเรียน" โดยนายอนุวัตร น้อยเชื้อเวียง ปลัดเทศบาล
       " การปลูกฝังเรื่องการเคารพกฎกติกา การใช้กีฬาสร้้่างเสริมสุขภาพพลานามัย" โดยนายพรชัย ยั่งยืน สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลง
       " ข้อจำกัดของการศึกษาที่ทำให้ทางเลือกในการเรียนลดลง...ความยากทำให้เกิดคุณภาพ" โดยนายชาติชาย เพชรพาณิชย์ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลง


       " ส่วนผสมของการนำข้อดีของหลักสูตรแกนกลางและท้องถิ่น" โดยนายสมปอง งามเสงี่ยม สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลง
       " การบ่มเพาะความกตัญญู...พรสวรรค์ของเด็ก...ความจดจำเรื่องราวในวัยเยาว์...เจ้านายของพ่อแม่คือลูก" โดยนายไชยวัฒน์ สวัสดี ผู้อำนวยการกองช่าง
       " ค่านิยมในอาชีพที่มีความชำนาญ...ประสิทธิผลของเด็ก...การบ่มเพาะที่ทำให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้" โดยนายจาตุรงค์ วงศ์โภคิน สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลง
       " บทบาทการสอนเสริมนอกเหนือจากหลักสูตร...การค้นหาด้วยตนเองของเด็ก " โดยนายภมรรัตน์ อดทน เลขานุการนายกเทศมนตรี"

       และที่สุดแล้ว เทศบาลฯ โดยนายวิทยา พุฒิธนะสุนทร และนายธงชัย จิรวิวัฒน์วนิช รองนายกเทศมนตรีจะได้ส่งผ่านประเด็นสำคัญต่าง ๆ ข้างต้นนี้ไปยังคณะทำงานยกร่างหลักสูตรซึ่งจะมีกรอบเวลาการทำงานในเบื้องต้นระหว่างวันเสาร์ที่ ๒๖ นี้ต่อเนื่องไปจนถึงวันพุธที่ ๓๐ พฤศจิกายนต่อไป

ช่างกิ่ง...ชาวนาโดยสายเลือดยิ้มออก...ข้าวเจ้า ข้าวเหนียวริมสะพานบ้านนา เจอน้ำล้นตลิ่งเอ่อขังเมื่อเดือนกันยา แต่รอดกลับมาไม่น้อย

       เมื่อวันพุธที่ ๒๓ พฤศจิกายนนี้ แปลงข้าวนาปีที่มีทั้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียวของช่างกิ่ง แห่งซอยบนเนิน ชุมชนวัดโพธิ์ทอง ก็ได้ฤกษ์ถึงเวลาเกี่ยวข้าวด้วยการชวนคนในบ้านและเพื่อนบ้านมาช่วยกัน

มองสองฝั่งทาง จะเห็นว่าดินทำให้เกิดพืชผลเป็นรายได้อยู่ทั่วไป
       ช่างกิ่งซึ่งปกติมีอาชีพเดิมอยู่กับการเคาะ พ่น สีและซ่อมรถยนต์ ได้เริ่มต้นอาศัยที่ดินเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่อยู่ใกล้บริเวณคลองขุดทำนาเข้าปีที่ ๓ แล้ว ด้วยความที่มีพื้นเดิมเป็นคนอีสานที่เข้ามาอยู่ในเมืองแกลงนานหลายสิบปี  นอกจากมีข้าวเจ้าแล้ว ก็ยังปลูกข้าวเหนียวเอาไว้บริโภคกันเองภายในครอบครัวและญาติมิตรอีกด้วย แต่เมื่อเดือนกันยายน ประสบปัญหาน้ำล้นตลิ่งบ่าขึ้นมาท่วมนาข้าวอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน จึงทำให้ข้าวในนาเสียหายไปพอสมควร แต่กระนั้นก็ดี พันธุ์ข้าวเจ้า ข้าวเหนียวที่ผสมระหว่างพันธุ์พื้นบ้านเดิมแถบบ้านนา บ้านล่าง กับพันธุ์ข้าวที่นำมาจากภาคอีสาน ก็ยังแข็งแรงมีเหลือรอดให้ได้เกี่ยวอยู่ไม่น้อยทีเดียว 


       และแม้ปีนี้จะยังนำข้าวเปลือกเข้าสีที่โรงสีข้าวเทศบาลฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างไม่ทันก็ตาม แต่ก็ประสานกันเบื้องต้นถึงการสีข้าวไว้แล้วในการทำนารอบต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ฤทธิ์บ่อหมักไบโอแก๊ส..ทำเทศบาลฯ หยุดใช้ไม้ฟืนและไขมันอัดก้อนที่โรงฆ่าสัตว์..ล่าสุดพบ ๒ ช่องทางใหม่นำไขมันไปใช้ประโยชน์

การใช้งานไขมันอัดก้อนแต่เดิม
       นับแต่วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๙ เป็นต้นมา เทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้ออกเทศบัญญัติการติดตั้งบ่อดักไขมันและบำบัดน้ำเสียในอาคาร และมีผลบังคับใช้เรื่อยมา หลังจากพบว่า คุณภาพน้ำในแม่น้ำประแสที่เสื่อมโทรมลง ส่วนหนึ่งมีสาเหตุเกิดจากไขมันที่ปล่อยออกมาจากครัวเรือนลงสู่ท่อระบายน้ำและไหลลงสู่แม่น้ำในที่สุด และจะเกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของเทศบาลฯ ซึ่งใช้น้ำในแม่น้ำนี้เป็นน้ำดิบ กระทบต่อการเพาะเลี้ยงและจับสัตว์น้ำของประชาชน  ซึ่งก่อนหน้านั้น ได้พยายามรณรงค์ให้มีการใช้ถังดักไขมันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๖ โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการขายอาหารในพื้นที่ ก่อนที่จะผลักดันเทศบ้ัญญัติดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภาเทศบาลฯ เพื่อทุกบ้านเรือนได้ร่วมกันแก้ปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อเมืองเป็นวงกว้าง

ไบโอแก๊สจากขยะอินทรีย์ที่มีปริมาณมากพอใช้
ที่โรงฆ่าสัตว์ทุกคืน จนไม่ต้องอาศัยไม้ฟืนและไขมันอัดก้อน
       ต่อจากนั้น ได้มีการวางกระบวนการจัดการนำเอาไขม้ันจากแหล่งกำเนิดใหญ่ ๆ ต่าง ๆ เช่น จากตลาดสด จากร้านอาหาร จากโรงอาหาร ฯ มาอัดเป็นก้อนเชื้อเพลิงด้วยเห็นถึงคุณสมบัติที่มีส่วนผสมเป็นน้ำมัน และกากไขมันพร้อมที่จะเป็นเชื้อเพลิงได้ ทำให้สามารถดักไขมันและนำกลับมาใช้ในรูปของก้อนเชื้อเพลิงซึ่งทำหน้าที่เหมือนฟืนที่ใช้ในโรงฆ่าสัตว์ได้เดือนละนับพันกิโลกรัม โดยเทศบาลฯ เคยได้รับรางวัลชมเชย นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์การใช้พลังงานหมุนเวียน จากกรมพลังงานฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๓

ประดาแม่ค้าที่นำไขมันอัดก้อนไปใช้แทนไม้ฟืน
       และเมื่อระบบการผลิตไบโอแก๊ส ที่สามารถรองรับขยะอินทรีย์ได้ถึงวันละ ๔,๒๕๐ กิโลกรัมที่กรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้มาก่อสร้างไว้ให้ได้เปิดใช้มาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้การซื้อไม้ฟืนมาเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำร้อนในโรงฆ่าสัตว์ยุติลง ช่วยประหยัดงบประมาณค่าไม้ฟืนไ้ด้อย่างสิ้นเชิง และไขมันอัดก้อนก็ต้องยุติการใช้ไปด้วยโดยปริยาย ทำให้เกิดปัญหาไขมันอัดก้อนตกค้างตามมา


สุชาติ ปัดป้อง (แม็ก) เจ้าหน้าทีกองการศึกษา
ผู้คร่ำหวอดในวงการแม่ค้าทำขนม
       นายกเทศมนตรีจึงได้ให้นำกากไขมันที่ไปจัดเก็บจากผู้ประกอบการต่าง ๆ ไปกองพร้อมหมักด้วยมูลวัวเพื่อให้จุลินทรีย์ในมูลวัวย่อยสลายไขมันให้เป็นปุ๋ย แต่จะต้องใช้เวลาหมักนานหลายเดือน โดยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของกากไขมัน  และในอีกช่องทางหนึ่ง ได้มอบให้นายสุชาติ ปัดป้อง เจ้าหน้าที่กองการศึกษา นำไขมันอัดก้อนไปมอบแก่ประชาชนที่มีอาชีพเกี่ยวพันกับการต้องใช้ฟืนในพื้นที่  อาทิ อาชีพทำขนมต่าง ๆ อาชีพทำเส้นขนมจีน ฯ เพื่อทดลองใช้แทนไม้ฟืนที่ต้องซื้อหา  เพื่อลดรายจ่าย และนำไขมันอัดก้อนกลับไปใช้ประโยชน์อีกรอบหนึ่งกว่าหนึ่งร้อยก้อนแล้วในขณะนี้

แม่ค้านำไขมันอัดก้อนไปใช้แทนไม้ฟืนในการปรุงอาหาร
       ขณะนี้ไขมันอัดก้อนอยู่ระหว่างการติดตามประเมินผลจากผู้นำไปใช้มาแล้วกว่าสองสัปดาห์ ซึ่งได้รับข้อมูลเบื้องต้นว่า สามารถติดไฟได้ดี และในบางครั้งมีกลิ่นบ้างในกรณีที่เตาไม่ได้ทำปล่องควันไว้ แต่ไม่มีผลต่อการประกอบอาหาร มีข้อแนะนำให้ทำขนาดเล็กลง เพื่อใช้เป็นหัวเชื้อก่อเตา เนื่องจากไขมันติดไฟง่าย  ก้อนไขมันควรมีความชื้นน้อยเพื่อลดปริมาณควันลง โดยเทศบาลฯ จะติดตามประเมินผลเพื่อพัฒนาไขมันอัดก้อนให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ต่อไป