โปรดทราบ

ร่วมแจ้งข่าวสารต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน "เมืองแกลงนิวส์" ได้ที่ muangklangnews@gmail.com เพื่อที่กองบรรณาธิการข่าวจะได้พิจารณานำเผยแพร่ต่อไป

วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

ตลาดกลางแกลง (นัดที่ ๘)...แอบหวัง...หลังฝนตก...ท้องฟ้าแจ่มใส

         

        วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มกราคมนี้ เทศบาลฯ เชิญชวนบรรดาพ่อค้าแม่ขายไปร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นแบบแลกเปลี่ยนกัน เพื่อเป้าหมายของการพัฒนาตลาดให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง โดยเทศบาลฯ เน้นย้ำเรื่องความเป็น ตลาดยิ้ม เรื่องของปลูก ของปรุง เรื่องความรับผิดชอบร่วมกัน ขณะที่ผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมากได้พรรณาสิ่งที่อยากเห็นในตลาดกลางแกลงนี้ โดยมีการส่งถ่ายกำลังใจแก่กันและกันในท้ายที่สุด

         และวันพุธที่ ๓๐ มกรานัดที่ ๘ นี้ จะเพิ่มจำนวนแคร่ให้เพียงพอ และวางแผนขยายพื้นที่ขายไปทางหน้าบ้านดินหลังใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้เดินไปมาได้สะดวกและไม่แออัด โดยเทศบาลฯ ได้จัดทำทางเดินด้วยบล็อกปูหญ้ารอบชานบ้านให้เดินได้รอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว

         มาลองดูจะรอดไม่รอด แม้ฝนจะตกขู่...จะถอนตะใคร้ริมทางเดินมาปักดูว่าจะเอาฝนอยู่ไหม.......น้อ....

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

เมืองแกลงเตรียมปรับโฉมเส้นทางด้านทิศเหนือสนามกีฬาฯ เพื่อความสะดวก ปลอดภัยสำหรับผู้เดินวิ่งออกกำลังกายทุกท่าน

     

         เทศบาลฯ เตรียมจะเข้าปรับปรุงเปลี่ยนแปลงผิวทางชนิดแอสฟัลท์ติค เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก บริเวณถนนด้านทิศตะวันตก ทิศเหนือของสระน้ำศาลาเก้าเหลี่ยม และหลังอนุสาวรีย์สุนทรภู่ทันทีเมื่อฝนแล้ง

         ทั้งนี้ ผิวทางบริเวณดังกล่าว สร้างขึ้นเป็นสายแรก ๆ นับแต่มีการสร้างสนามกีฬามาแต่หลังปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เรื่อยมา ผ่านการใช้งานมานาน โดยเฉพาะการรับรถบรรทุกหนักวัสดุต่าง ๆ เข้าพื้นที่ เมื่อมีการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ในบริเวณนั้น ผิวทางจึงมีสภาพชำรุด บางแห่งน้ำขังเมื่อเกิดฝนตก ไม่เรียบ และไม่สะดวกในการใช้เดินหรือวิ่งออกกำลังกาย

         งานปรับปรุงนี้ จึงจะทำการยกระดับบริเวณดังกล่าวให้สูงขึ้น และเปลี่ยนวัสดุก่อสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หนา ๑๕ เซ็นติเมตร เพื่อความแข็งแรงทนทาน ซึ่งอาจจำเป็นต้องให้รถบรรทุกวัสดุต่าง ๆ เข้าใช้บ้างตามความจำเป็นในโอกาสต่อไป และเป็นโอกาสที่จะได้ปรับปรุงเพื่อความพร้อมในพิธีเปิดศาลา ๙ เหลี่ยมในเทศกาลงานบุญกลางบ้าน เดือนมีนาคม ศกนี้อีกด้วย

       จึงขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้ และจะรีบคืนพื้นที่เพื่อการเดินวิ่งออกกำลังกายต่อไป ทันทีที่งานแล้วเสร็จ

วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

งานตอกเข็มสะพาน ๒ แหลม เข้าใกล้ครึ่งทางครึ่งคลอง...หากฝนหนาเม็ด ระดับน้ำคลองสูงขึ้น...อาจต้องลุ้น

       


          ตั้งแต่กลางเดือนมกราคมมานี้ งานก่อสร้างถนนและสะพานสองแหลม ( แหลมท่าตะเคียน - แหลมยาง) ในส่วนของถนนสามารถกำหนดเส้นทาง วางระยะ หาระดับและปรับเกลี่ยได้อย่างราบรื่น แม้อาจมีอุปสรรคบางบริเวณที่ต้องรอการจับกุ้งที่เลี้ยงในบ่อขึ้นในราวเดือนกุมภาพันธ์เพื่อนำบางส่วนมาใบ้เป็นเส้นทางก็ตาม  แต่ก็ยังสามารถทยอยทำงานในส่วนอื่น ๆ ไปได้

         หากแต่ในส่วนงานตอกเข็มสะพานสองแหลมนี้ ที่ได้วางโครงสร้างสะพานความยาวที่ ๕๔ เมตร และกำหนดแผงเสาเข็มรับน้ำหนักโครงสร้างสะพานออกเป็น ๘ ตับ  ตับหนึ่ง ๆ ใช้เสาเข็มรวม ๕ ต้น เป็นงานที่ต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบ ตั้งแต่การกำหนดตำแหน่งเข็มแต่ละต้น  การทำพื้นโครงสร้างสำหรับรับน้ำหนักปั้นจั่นจากไม้สนชั่วคราวเพื่อตอกเสาเข็ม และการชักลากเคลื่อนย้าย ฯ 

        ....ล่าสุดสามารถตอกเข็มได้แล้วรวมไม่น้อยกว่า ๓ ตับ ๑๕ ต้น และคาดว่าหากไม่มีปัญหาอุปสรรคจากฟ้าฝน และปริมาณน้ำในคลองประแส งานตอกเสาเข็มสะพานทั้ง ๔๐ ต้น จะแล้วเสร็จได้ในไม่เกินกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นอย่างช้า ก่อนที่จะขึ้นโครงสร้างพื้นสะพานในลำดับถัดไป โดยทั้งสะพานและถนนสองแหลมนี้ จะแล้วเสร็จราวกลางปี ๒๕๕๖ นี้ เพื่อความสะดวกในการไปมาหาสู่กันของชาวเมืองแกลงทั้งสองฟากฝั่งคลอง

วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

เตรียมรื้อถอนสายเคเบิลระเกะระกะพาดสะพาน ๑๐๐ ปี บ้านตลาดสามย่าน..เมืองแกลงจัดระเบียบจัดพื้นที่ติดป้ายโฆษณาตามย่านสำคัญ ๆ กันใหม่เร็ว ๆ นี้

        

 กลางสัปดาห์นี้ งานเทศกิจ สำนักปลัดเทศบาล ออกติดป้ายประกาศแจ้งหาเจ้าของสายเคเบิลที่โยงสายพาดผ่านสะพาน ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน (สะพานฝั่งธน) ถนนโพธิ์ทอง เพื่อให้รื้อถอนสายดังกล่าวจำนวน ๒ เส้นที่เหลือออกภายใน ๗ วัน หลังจากได้แจ้งบริษัท หน่วยงานต่าง ๆ ให้รื้อถอนออก และให้ไปเดินสายลอดใต้สะพานแทนไปแล้วจำนวนมากก่อนหน้านี้  เพื่อรักษาภูมิทัศน์บริเวณสำคัญนี้ของเมืองไว้

         นอกจากนี้ ยังมอบงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ออกตรวจสอบรื้อถอนป้ายโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาต และติดในบริเวณห้ามติดตั้งออกอยู่สม่ำเสมอ ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน  ทั้งนี้ เทศบาลเตรียมที่จะจัดพื้นที่นำร่องเพื่อทำโครงป้ายโฆษณาแก่ผู้สนใจได้มายื่นเรื่องขออนุญาต เสียค่าธรรมเนียมภาษีป้ายให้ถูกต้องเรียบร้อย มีระยะเวลาการติดตั้งที่แน่นอน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการโฆษณาธุรกิจ และการรักษาภูมิทัศน์ ตลอดจนความปลอดภัยด้านการจราจรในระบบเมืองต่อไป 

วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

ทึ่ง...ฝีมือสานตะกร้ามือสอดขยุกขยิกของป้าดำจนล้นใจ.. พบตัวจริงเสียงจริงได้วันนี้ที่ตลาดกลางแกลงกันครับ



ประสาคนไม่สันทัดถนัดงานหัตถศิลป์ งานฝีมือประดิษฐ์  แต่เมื่อได้เดินทางไปบ้านวัดบุนนาคพบป้าดำ เจ้าของชิ้นงานสานตะกร้าจากก้านใบมะพร้าวจากในสวนหลังบ้านแล้ว ก็อดตื่นเต้นระคนเกิดความยินดีด้วยไม่ได้  

ตะกร้าใบใหญ่น้อยหลายขนาดอันเกิดจากน้ำมือทำของป้าดำนี้ เมื่อได้ยิ่งเห็นต้นทางของวัตถุดิบว่าคือก้านใบมะพร้าวที่แกปลูกอยู่สวนสารพัดหลังบ้านแล้ว ยังต้องเอามาเหลาแล้วตากแดด ก่อนจะค่อย ๆ บรรจงสานขึ้นรูป แล้วลงชแล็คในขั้นตอนสุดท้าย ใบ ๆ หนึ่งใช้เวลาทำเฉลี่ยเกือบวัน

กล้วก็พลันนึกถึงวันเมื่อราว ๒๐๖ ปีล่วงมา  ที่สุนทรภู่ท่านพรรณนางานจักสานบ้านเราไว้ดังนี้

....ถึงบ้านแกลงลัดย่านไปบ้านกลาง  เห็นฝูงนางสานเสื่อนั้นเหลือใจ
แค่ปากพลอดสองมือสอดขยุกขยิก  จนมือหงิกงอแงไม่แบได้ ....(นิราศเมืองแกลง พ.ศ.๒๓๔๙)

เชื่อเหลือเกินว่า แม้นใครได้เห็นถึงคุณค่าตะกร้าสานนี้ ก็คงจะรู้สึกได้ไม่ต่างกัน
และวันพุธที่ ๒๓ มกรานี้ เทศบาลฯ เชิญป้าดำมาสานตะกร้าให้ชาวเราได้เห็นที่ตลาดกลางแกลงกันครับ

วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

22-1-2013 คณะทำงานด้านเยาวชน เห็นพ้องต้องกัน..ดันพื้นที่หอประวัติเมืองแกลง จัดแสดงภาพถ่ายและประกวดการแสดงของเยาวชนในช่วงงานบุญกลางบ้าน เดือนมีนาคมนี้

        


       ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เทศบาลฯ ได้ประสานงานเรียนเชิญคุณครูผู้เชี่ยวชาญด้านการดนตรี ศิลปะการแสดง ร่วมกันหารือการจัดงานเปิดพื้นที่แก่เยาวชนได้แสดงขีดความสามารถของตนในเทศกาลงานบุญกลางบ้าน เดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ โดยจะใช้พื้นที่ภายในเรือนหอประวัติเมืองแกลง เพื่อการจัดแสดงภาพถ่ายต่าง ๆ ของประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมการแสดงภาพ  ส่วนบริเวณพื้นที่โล่งด้านหน้า จะใช้เพื่อการแสดงของเยาวชนและประชาชนทั่วไป
        
        ในการนี้ ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นของการจัดงาน ที่มีวัตถุประสงค์ที่จะเปิดพื้นที่เพิ่มสำหรับเยาวชนได้มีส่วนสำคัญยิ่งขึ้นในงานบุญกลางบ้าน  ซึ่งผลการหารือในรอบการระดมความคิดรอบแรกนี้ ได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากครูผู้แทนจากโรงเรียนต่าง ๆ และความร่วมมือจากคุณสมเกียรติ อภิญญาชน จากเอพีน่า พร้อมส.ท.สุรศักดิ์ (เล็ก)  ประไพสนธิพงศ์ จะได้เข้ามาร่วมกันอำนวยการประสานงานให้กิจกรรมดังกล่าวสำเร็จตามวัตถุประสงค์ต่อไป

วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

21-1-2013 ยังไง...? ทำไม....? ถึงต้องตลาดกลางแกลง

 


 วันศุกร์ที่ ๑๗ นัดหารือทั้งเช้าบ่าย ทั้งฟากคนมาขาย และฝ่ายคนจัดตลาด หวังช่วยกันคงรักษาบรรยากาศไว้ดังนี้

ภาพที่ ๑ เป็นที่นัดพบฉันคนบ้านเดียวกัน ส่งยิ้มรับยิ้มผูกมิตรไมตรีแก่กัน  
ของปลูก (พืชผักผลไม้) ที่วางขาย... ขอให้ปลูกกันในพื้นที่ อย่าปลูกแบบเน้นปริมาณ...ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ใส่ความรักแก่คนซื้อไปรับประทานโดยทำให้ของนั้น สด สะอาด ปลอดภัย
ของปรุง...ให้เป็น เสน่ห์ปลายจวัก หรือ เอมอิ่มรสมือนาง หรือ มีเรื่องราวความเป็นมาแต่เก่าก่อน

ภาพที่ ๒ ที่ต้องมีตลาดนัดสีเขียวเพราะ...
เราปลูกพืชพลังงานอย่างยางพารากันมาก (70%ของพื้นที่เพาะปลูก) อีกทั้งปาล์มน้ำมันก็กำลังเริ่มบูม
เราปลูกผลไม้ถึง 29% ของพื้นที่เพาะปลูก
เราปลูกข้าวที่ต้องกินทุกวันเพียง 1% ของพื้นที่เพาะปลูก มิพักต้องพูดถึงผักที่หาพื้นที่ปลูกแทบไม่เจอ
สรุปรวมความ คือ เราต้องพึ่งพาข้าวปลาอาหารจากพื้นที่อื่นแทบทั้งสิ้น ตลาดนัดสีเขียวน่าจะกระตุ้นสัดส่วนการปลูกพืชผักตรงนี้ให้เพิ่มขึ้นได้

ภาพที่ ๓ เงินทองจากการซื้อขาย สำคัญรองลงมาจากไมตรีที่มีต่อกัน
เทศบาลฯ ไม่มีความประสงค์ทำตลาดนัดนี้เป็นธุรกิจ
แต่ปรารถนาให้ตลาดเป็นหน่วยสำคัญช่วยกระตุ้นให้ชาวเราปลูกข้าว พืช ผัก ผลไม้ในพื้นถิ่นกันเพิ่มขึ้น ให้แกลงมีความมั่นคงด้านข้าวปลาอาหารเพิ่มขึ้น
ขอสงวนสิทธิ์พิจารณาไม่เก็บค่าตลาดค่าวางขาย เพราะตั้งใจเชิญชวนให้มาร่วมกันเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ 

ภาพที่ ๔ ตลาดนัดสีเขียวนี้ นับเป็นหน่วยเล็กที่สุดที่อยู่ในพื้นที่ตั้งของโรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยา ที่สนามกีฬาฯ ของเทศบาลฯ ....
การยกตลาดมาไว้ในโรงเรียน ไม่ใช่เรื่องแปลกพิกล ก็เหมือนมีร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมันนั่นเอง... แต่นักเรียนจะได้เห็นได้ชิดใกล้ตลาดชีวิตจริงของสังคม เห็นการทำมาค้าขาย เห็นและรู้จักวัตถุดิบต่าง ๆ ที่วางขาย...
ขอเป็นโรงเรียนที่พี่ป้าน้าอาสามารถเข้าไปใข้ประโยชน์ในสถานที่มากกว่าใช้จัดการเรียนการสอนด้วยเถิด....
และขอเราไปพบกันที่ตลาดด้วยความเกรงใจให้เกียรติแก่สถานที่ ด้วยเพราะมีเราทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ....

21-1-2013 ยังไง...? ทำไม....? ถึงต้องตลาดกลางแกลง

 


 วันศุกร์ที่ ๑๗ นัดหารือทั้งเช้าบ่าย ทั้งฟากคนมาขาย และฝ่ายคนจัดตลาด หวังช่วยกันคงรักษาบรรยากาศไว้ดังนี้

ภาพที่ ๑ เป็นที่นัดพบฉันคนบ้านเดียวกัน ส่งยิ้มรับยิ้มผูกมิตรไมตรีแก่กัน  
ของปลูก (พืชผักผลไม้) ที่วางขาย... ขอให้ปลูกกันในพื้นที่ อย่าปลูกแบบเน้นปริมาณ...ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ใส่ความรักแก่คนซื้อไปรับประทานโดยทำให้ของนั้น สด สะอาด ปลอดภัย
ของปรุง...ให้เป็น เสน่ห์ปลายจวัก หรือ เอมอิ่มรสมือนาง หรือ มีเรื่องราวความเป็นมาแต่เก่าก่อน

ภาพที่ ๒ ที่ต้องมีตลาดนัดสีเขียวเพราะ...
เราปลูกพืชพลังงานอย่างยางพารากันมาก (70%ของพื้นที่เพาะปลูก) อีกทั้งปาล์มน้ำมันก็กำลังเริ่มบูม
เราปลูกผลไม้ถึง 29% ของพื้นที่เพาะปลูก
เราปลูกข้าวที่ต้องกินทุกวันเพียง 1% ของพื้นที่เพาะปลูก มิพักต้องพูดถึงผักที่หาพื้นที่ปลูกแทบไม่เจอ
สรุปรวมความ คือ เราต้องพึ่งพาข้าวปลาอาหารจากพื้นที่อื่นแทบทั้งสิ้น ตลาดนัดสีเขียวน่าจะกระตุ้นสัดส่วนการปลูกพืชผักตรงนี้ให้เพิ่มขึ้นได้

ภาพที่ ๓ เงินทองจากการซื้อขาย สำคัญรองลงมาจากไมตรีที่มีต่อกัน
เทศบาลฯ ไม่มีความประสงค์ทำตลาดนัดนี้เป็นธุรกิจ
แต่ปรารถนาให้ตลาดเป็นหน่วยสำคัญช่วยกระตุ้นให้ชาวเราปลูกข้าว พืช ผัก ผลไม้ในพื้นถิ่นกันเพิ่มขึ้น ให้แกลงมีความมั่นคงด้านข้าวปลาอาหารเพิ่มขึ้น
ขอสงวนสิทธิ์พิจารณาไม่เก็บค่าตลาดค่าวางขาย เพราะตั้งใจเชิญชวนให้มาร่วมกันเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ 

ภาพที่ ๔ ตลาดนัดสีเขียวนี้ นับเป็นหน่วยเล็กที่สุดที่อยู่ในพื้นที่ตั้งของโรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยา ที่สนามกีฬาฯ ของเทศบาลฯ ....
การยกตลาดมาไว้ในโรงเรียน ไม่ใช่เรื่องแปลกพิกล ก็เหมือนมีร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมันนั่นเอง... แต่นักเรียนจะได้เห็นได้ชิดใกล้ตลาดชีวิตจริงของสังคม เห็นการทำมาค้าขาย เห็นและรู้จักวัตถุดิบต่าง ๆ ที่วางขาย...
ขอเป็นโรงเรียนที่พี่ป้าน้าอาสามารถเข้าไปใข้ประโยชน์ในสถานที่มากกว่าใช้จัดการเรียนการสอนด้วยเถิด....
และขอเราไปพบกันที่ตลาดด้วยความเกรงใจให้เกียรติแก่สถานที่ ด้วยเพราะมีเราทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ....

วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

19-1-2013 โตโยต้า ไทยแลนด์ พร้อมผู้แทนสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย รุดติดตามงานก่อสร้าง Global Warming Protection Learning Center ที่เมืองแกลง...พอใจงานก่อสร้างรุกคืบหน้าตามเป้าหมาย

 

 

       วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ มกราคมนี้ คุณเอกชัย รัตนชัยวงศ์  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และคณะ พร้อมด้วยคุณนงพัลค์ จั่นเจริญ ผู้แทนจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เดินทางมาติดตามความก้าวหน้าของงานก่อสร้างอาคารขนาดสองชั้นอีกหลังหนึ่งข้างบ้านไม้เก่าซึ่งบริษัท โตโยต้าฯ  ได้จัดงบประมาณส่วนหนึ่งเข้าสมทบกับเทศบาลฯ ในการสนับสนุนการก่อสร้างเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผลการติดตามและประเมินโครงการก่อสร้างอาคารนี้ เป็นไปตามรอบระยะเวลาที่กำหนดเป็นที่น่าพอใจ

       ในการนี้ ทั้งสามฝ่ายได้เข้าร่วมประชุม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ และได่เข้าเยี่ยมขมกิจกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยาด้วย  โดยศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว  เทศบาลตำบลเมืองแกลงมีกำหนดเปิดเป็นทางการเพื่อให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป ในช่วงเทศกาลงานบุญกลางบ้าน เดือนมีนาคม ศกนี้

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

14-1-2013 ...น้ำเค็มมหนุนสูงเข้าสามย่าน ไอ้ดุกทะเลเริงร่าว่ายตามเข้ามาด้วย...

  

ระยะนี้ น้ำทะเลหนุนสูง จนระดับน้ำคลองประแสขึ้นสูงปริ่มชานเรือนหลังบ้านคนคลองทั่วไป  ขณะที่น้ำจืดจากด้านทิศเหนือ ไหลเอื่อย ๆ ตามการระบายน้ำของเขื่อนวังจันทร์ ลักษณะนี้จะเป็นไปอีกพักใหญ่ ๆ กระทั่งเริ่มสะสมฝนในฤดูใหม่เข้ามาอีกที  

บ้านแหลมยาง ด้านทิศใต้ของเมืองแกลง ชุมชนที่อยู่ชายคลองและพึ่งพาน้ำคลองทั้งการเลี้ยงกุ้ง การหากุ้งหอยปูปลา การตัดใบจากและลูกจากตามริมคลอง การทำอาชีพแพท่องเที่ยว ยังคงดำดนินกิจกรรมรายวันไปตามครรลองอย่างพอดี  ขณะที่คนในตลาดก็ได้พึ่งพาน้ำคลองในรูปของน้ำประปา และเพื่อการระบายน้ำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เมื่อวานตอนค่ำ แวะไปดูเขาตกปลาที่บ้านแหลมยาง หย่อนเบ็ดแบบไม่ต้องนั่งเสียเวลาทำใจว่าปลาจะฉวยหรือไม่  ก็ได้ ปลากด ขนาดกำลังกินขึ้นมาจำนวนมาก เขาชอบเอาไปทำฉู่ฉี่หรือไม่ก็แกง ที่ควรเล่าคือที่ตกได้ ปลาดุกทะเล ( ตามภาพ) ขนาดลำตัวยาวกว่าขวดน้ำดื่ม ๑ ลิตร  ระยะที่น้ำเค็มกำลังหนุนเข้าใหม่ ๆ ดุกทะเลตามน้ำเข้ามากำลังชุม เขาเอาไปทอดไฟอ่อน ๆ แล้วผัดฉ่า เนื้ออร่อยนัก บางทีมันมาซุกกันอยู่ใต้แพรอท่าเศษอาหาร ชาวบ้านทั้งตกทั้งใช้อวนล้อมกันคึกคักจนอดนำมาเล่าสู่กัฟังไม่ได้

พรรคพวกสองคนในภาพที่ไปด้วยกัน ปุจฉาสิสัชนากันเองว่า สมัยก่อนนอกจากจรเข้ชุมจนมีชื่อภูมินามประจำถิ่นว่า บ้านหนองจรเข้ แล้ว ยังมี ปลาฉนาก ที่มีปากยื่นยาวเหมือนใบเลื่อย มันว่ายเข้าไปถึงสะพานไม้ฝั่งธนในตลาดสามย่าน จำนวนมากขนาดเสาสะพานไม้สะเทือน ชาวบ้านจะเอาแหลนแทง มันก็ดำผุดลึกลงน้ำ เป็นภาพที่ยังติดตาแม้เวลาผ่านมากว่าห้าสิบปี ชนิดที่มิพักต้องถามอายุคนเล่าว่าปาเย้าไปเท่าไรแล้วในวันนี้

วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

8-1-2013 พุธที่ ๙ มกราคมนี้ เวลาดีสี่โมงเย็น...ไปออกกำลังกาย แล้วแวะหิ้วตะกร้า หรือถุงผ้าไปจ่ายตลาดกัน

    

  

        พุธที่ผ่านมา การถือตะกร้า หิ้วถุงผ้ามาจ่ายตลาดหนาตามากขึ้น ถุงพลาสติคก๊อบแก๊ปแทบจะหาไม่เจอ นี้จึงเป็นไปตามความตั้งใจของคณะกรรมการจัดตลาดที่อยากให้ช่วยกันรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติคครับ

       
       คณะกรรมการมีการประชุมหารือกันในรายละเอียดส่วนต่าง ๆ ซึ่งมีความเห็นที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ โดยมีการประเมินกันว่าผักพื้นบ้านมีโอกาสขาดช่วงสูงหลังเปิดตลาดมาสี่นัดแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการเสริมการปลูก และออกไปชักชวนสำรวจการปลูกพืชผักให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ได้ผักพื้นบ้านจริง ๆ ซึ่งนัดหน้าจะมีผักจากเนินดินแดงเข้ามาเสริม ขณะที่บ้านจำรุงที่นัดบอดไปสองหนก่อน นัดหน้ารับว่าจะมา เพราะผักขาดช่วงไปเช่นกัน

       เราสามารถช่วยกันออกความเห็นเพื่อออกแบบตลาดนัดสีเขียวได้ที่นี่เพื่อคณะทำงานได้นำไปพิจารณาหารือร่วมกันต่อไปครับ

วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

เลาะชายคลองย่านบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) ย่านชุมชนโพธิ์ทอง ส่องพื้นที่ข้าวปลาอาหาร...พบยังพัฒนาเพิ่มได้อีก 4-1-2013

  

       วานเย็นไปบ้านย่านโพธิ์ทองสำรวจพื้นที่เพาะปลูกหลังบ้าน (backyard garden) พบยังพอมีเหลือให้เห็นอยู่บ้าง แต่ไม่สู้มากนัก เพราะวิถีการใช้ชีวิตเดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปทำงานนอกบ้านกันโดยมาก  คงเหลทอแต่คนที่มีใจรักต้นไม้ และผู้สูงวัยที่ยังพอใจกับการได้ปลูก  แต่ทั้งนี้ก็ยังประสบปัญหาที่ดินบางบริเวณเป็นดินทราย และบางทีผักแปลงเล็กแปลงน้อยต้องพลอยเสียหายไปกับฤดูน้ำหลาก

       ได้ชวนตายายพ่อแม่ช่างติ๋มในภาพที่รักการปลูกผักแต่ประสบปัญหาข้างต้น ให้ไปใช้พื้นที่บริเวณสนามกีฬาฯ แทนเพราะอยู่ใกล้กัน...ขออ่านใจว่าสองท่านจะจอบตกลงใจในไม่ช้า

       ครั้นไปถึงโรงเรียนวัดโพธิ์ทองพุทธาราม พบเด็กจำนวนหนึ่งกำลังเล่นซ่อนแอบ กับครูธัญญาทำหน้าที่อยู่เวร เด็ก ๆ พาไปดูสวนหลังโรงเรียน มีดงกล้วย ชะอม ขนุน มะละกอ ฯ ให้น้ำด้วยท่อสปริงเกอร์ ปุ๋ยหมักที่เทศบาลส่งไปให้ ๑ เที่ยวรถ บัดนี้เหลืออยู่สักสิบลูก น้ำท่าที่นี่บริบูรณ์ดีด้วยมีสระลึกถึง ๒ ลูก โดยภาพรวมเห็นแล้วประทับใจในความสนใจเรื่องพืชภัณฑ์ธัญญาหารที่คุณครูพยายามส่งเสริมเด็ก

       ในวันสองวันนี้ จะรุดเข้าพบผู้บริหารโรงเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนแนวความคิดและข้อมูลระหว่างกัน  เพราะเล็งเห็นว่าจะส่งเสริมการเรียนรู้ตรงนี้ได้อีก ด้วยเทศบาลฯ มีบุคลากรงานสวน เครื่องมือ องค์ความรู้  และปัจจัยในการเพาะปลูก ขณะที่โรงเรียนมีพื้นที่กองกำลัง "พลังมด" อยู่ในมือพร้อมเพาะปลูก  อย่างน้อยก็ไว้ใช้ทำอาหารในโรงเรียน เหลือพอก็เอาไปจำหน่ายที่ตลาดกลางแกลง

       อยากให้เด็ก ๆ ไม่เรียนเอาแต่ "วิชาการ" แต่ควรเรียนรู้ "วิชกากันอด" ที่เป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ด้วยดิน น้ำ ฟ้าให้พึ่งพาตนเองได้ควบคู่กันไปด้วย

วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

ชิมลางขายแล้วขายได้...นัดต่อ ๆ ไปตั้งใจปลูกตั้งใจมาเองอย่างแน่นอน... เทศบาลฯ วอนช่วยกันปลูกเพิ่มให้มีของมากันทุกนัด1-1-2013

         


       อาศัยช่วงวันหยุดข้ามปีไปดูชาวบ้านที่อยู่ใกล้ ๆ ตลาดกลางแกลง สนามกีฬาฯ เขาทำมาหากินจากผักปลากันอย่างเพลิดเพลิน  บางคนมือเย็นปลูกอะไรไป เป็นได้ขึ้นงามไปหมด  บางคนมีหัวพลิกแพลงต่อท่อน้ำทิ้งจากในบ้านไปลงดินหลังบ้าน ช่วยดินให้ชุ่มชื้นเหมาะแก่การเติบโตของพืชผัก  บางบัานทำปุ๋ยหมักปุ๋ยจุลินทรีย์เอง  บ้างก็เลี้ยงเป็ดเอาไข่ เลี้ยงกบในตาข่ายอย่างง่าย บ้างมีต้นมะนาวทั้งดก ทั้งลูกใหญ่ก็ชี้ชวนให้ชมกันอย่างปลื้ม ขณะที่หลายบ้านได้มาชิมลางลองวางขายแล้วขายได้ พุธต่อ ๆ ไปคือตั้งใจมาอย่างแน่นอน

       จึงจากผู้ปลูกที่นำพาพืชผลไปถึงมือผู้ซื้อโดยตัดวงจรคนกลางออกไป โดยอาศัยตลาดกลางแกลง เป็นที่พบปะซื้อขาย เป็นที่ระบายรอยยิ้มใส่กัน  แม้มีสัญญาณที่ดีว่าบัดนี้ได้มีการปลูกพืชผักกันเพิ่มเติมยิ่งขึ้นแล้วในเมืองแกลง  แต่ก็ยังอยากเชิญชวนผู้ที่ยังไม่ว่างหรือยังลังเลได้ลงมือทำ จะเพียงแต่ในระดับเป็นงานอดิเรก หรือไปถึงระดับรุมร่วมมือกันปลูกเพื่อสร้างความมั่นคงและพึ่งพาตนเองด้านข้าวปลาอาหารแก่บ้านเมืองของเราได้ ก็ยังหมายตั้งใจจะเชิญชวน

       นัดก่อน แว่วว่าผ้าถุงผ้านุ่งแลเสื้อคอกระเช้าขายได้ดิบดี  พุธที่ ๒ มกรานี้ กางเกงจีนชาวเลหลากสีจะขนมาจากปากน้ำประแสเพื่อร่วมดัวยช่วยกันสวมใส่ชุดที่ไม่ต้องเปลืองพัดลมเปลืองแอร์เปลืองไฟอย่างอาภรณ์เหล่านี้ 

       อย่าลืมหลีกเลี่ยงและปฏิเสธผู้ขายที่ใช้ถุงพลาสติคหรือกล่องโฟม ส่งเสริมผู้ใช้ใบตอง วบบัว เชือกกล้วยห่อของ และช่วยกันหิ้วตะกร้าหรือถุงผ้ามาตลาดกันวันพุธที่ ๒ มกรานี้ และทุกนัดต่อ ๆ ไป