โปรดทราบ

ร่วมแจ้งข่าวสารต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน "เมืองแกลงนิวส์" ได้ที่ muangklangnews@gmail.com เพื่อที่กองบรรณาธิการข่าวจะได้พิจารณานำเผยแพร่ต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผ่านไปอีกเปลาะ...น้ำเสียจากลานจอดรถบรรทุกขยะ..ใช้หมักแก๊สชีวภาพได้แล้ว

สภาพโรงจอดรถบรรทุกขยะ รถน้ำ หลังปรับปรุง

       ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา งานโยธา กองช่าง เทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้เข้าแก้ไขปัญหาบริเวณพื้นอาคารพัสดุในส่วนที่เป็นโรงจอดรถทั้งหมด ๑๑ ช่องจอด  สืบเนื่องจากปัญหาพื้นโรงจอด โดยเฉพาะโรงจอดรถบรรทุกขยะเดิม มีผิวเป็นหินคลุกมาแต่เดิมนับแต่เริ่มสร้างอาคารโรงจอด  บวกกับการที่ต้องใช้เป็นที่จอดรถ
บรรทุกขยะ รถบรรทุกน้ำซึ่งมีน้ำหนักมาก ทำให้เกิดสภาพเป็นหลุมบ่อ และระดับของพื้นเดิมมีระดับต่ำพอสมควร

ระดับลาดเอียงให้น้ำเสียไหลไปด้านหลังลงร่องระบายน้ำ
       ปัญหาสำคัญคือ รถที่ไปบรรทุกขยะกลับมาในตอนดึกแล้ว จะ้ต้องมาจอดพักที่นี่เพื่อรอเทขยะขึ้นสายพานในวันรุ่งขึ้น  ทำให้น้ำเสียจากรถบรรทุกขยะไหลลงนองพื้นไปทั่วอยู่ทุกวัน และมีปริมาณมาก ส่งกลิ่นเหม็นและเป็นแหล่งเชื้อโรคต่าง ๆ 
   
สภาพลานจอดเดิมขณะปรับระดับเตรียมเทคอนกรีต
       เหตุดังกล่าว เทศบาลฯ จึงคิดออกแบบการแก้ไขปัญหาน้ำเสียจากรถบรรทุกขยะที่มีอยู่ทั้งหมด ๕ คัน โดยการรวบรวมน้ำเสียเหล่านี้เพื่อนำไปใช้ในบ่อหมักแก๊สชีวภาพ  จึงได้ออกแบบเทลานคอนกรีตที่มีความลาดเอียงไปด้านท้ายรถบรรทุกขยะ จากนั้นทำร่องรับน้ำเสียให้ไหลไปรวมกันในบ่อพักน้ำเสียที่มีความลึก ๕ ปลอกบ่อ  แล้วสูบนำไปใช้รวมกับบ่อหม้กขยะอินทรีย์ให้เป็นแก๊สชีวภาพที่อยู่บริเวณใกล้กัน ส่วนในร่องระบายรับน้ำเสียนั้น ใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ฉีดพรมเพื่อดับกลิ่นตกค้างได้สะดวกมาก

สภาพน้ำเสียที่ไหลจากรถบรรทุกขยะ
เทน้ำหมักจุลินทรีย์เพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานลดกลิ่น
บ่อพักน้ำเสียจากรถขยะรอสูบไปใช้หมักแก๊สชีวภาพใกล้ ๆ กัน
       ผลจากการแก้ไข ทำให้สามารถลดกลิ่นเหม็นในบริเวณโรงจอดรถบรรทุกขยะได้เป็นอย่างดี และเทศบาลฯ สามารถนำน้ำเสียจากรถบรรทุกขยะทั้ง ๕ คันนี้ไปหมักให้เป็นแก๊สชีวภาพได้  และเมื่อมีความต้องการใช้ปุ๋ย ก็สามารถสูบน้ำหมักในบ่อแก๊สชีวภาพนี้ไปใช้เป็นปุ๋ยชั้นดีได้อีกต่อหนึ่ง


ลานเทกองขยะมีน้ำเสียไม่น้อย เป็นงานต่อไปที่จะปรับปรุง
       ในโอกาสต่อไป เทศบาลฯ ยังมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาน้ำเสียบนลานเทกองขยะทั้ง ๒ ช่อง ก่อนที่จะถูกลำเลียงขึ้นสายพาน ซึ่งมีปริมาณไม่น้อยเช่นกัน เพื่อนำน้ำเสียบริเวณนี้เข้าไปหมักเป็นแก๊สชีวภาพ เป็นการลดปัญหาน้ำเสียที่จะไหลหรือถูกฉีดล้างไปลงในบ่อกักเก็บได้เป็นอย่างดีต่อไป

วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

จตุรมิตรเมืองแกลง ครั้งที่ ๕ ได้ฤกษ์ ทั้งประถมและมัธยมเริ่ม ๘,๑๐,๑๗ สิงหานี้..ใครคือแชมป์

       เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคมที่ผ่านมา เทศบาลตำบลเมืองแกลงได้เชิญครูผู้แทนจากโรงเรียนระดับประถมศึกษาในเขตเทศบาล ๔ โรงเรียนคือ โรงเรียนวัดสารนาถธรรมาราม โรงเรียนวัดพลงช้างเผือก โรงเรียนรุ่งนภาพิทยา และโรงเรียนวัดโพธิ์ทองพุทธาราม  และจากโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาอีก ๔ โรงเรียน คือ โรงเรียนแกลงวิทยสถาวร โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา โรงเรียนมกุฎเืมืองราชวิทยาลัย และโรงเรียนสุนทรภู่พิทยา มาประชุมเพื่อเตรียมจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ ๕ ในปี ๒๕๕๔ นี้

       ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดการแข่งขันทั้งสองระดับ รวม ๓ วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๘ วันที่ ๑๐ และวันที่ ๑๗ สิงหาคม ศกนี้ ซึ่งจะมีการแข่งขันทั้งฟุตบอลและกองเชียร์ของแต่ละโรงเรียนเช่นทุกปีที่ผ่านมา

       ส่วนแนวคิดในการเพิ่มโรงเรียนเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อให้กีฬาฟุตบอลจตุรมิตรมีการพัฒนาต่อยอดเพิ่มขึ้นอีกนั้น คาดว่าจะมีความเป็นไปได้ในการจัดการแข่งขันปีหน้า โดยการปรับเดือนของการแข่งขันให้มาอยู่ประมาณเดือนมิถนายน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนของทุกโรงเรียน


       อนึ่ง กีฬาฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคีของเทศบาลตำบลเมืองแกลงนี้ ได้แนวคิดจากการจัดการแข่งขันกีฬาจตุรมิตรในกรุงเทพมหานครของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน และสำหรับเทศบาลตำบลเืมืองแกลงนั้น เห็นว่า การส่งเสริมการแข่งขันฟุตบอลในลักษณะดังกล่าวซึ่งได้ทั้งสุขภาพพลานามัย ความมีน้ำใจนักกีฬา ความพร้อมเพรียงสามัคคี และความรักในโรงเรียน ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแต่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น และอยู่ในวิสัยที่ชาวเมืองแกลงสามารถร่วมกันจัดให้กับนักเรียนและเยาวชนในเขตอำเภอแกลงได้โดยนำรูปแบบที่ดีมาใช้ กอปรกับมีสนามกีฬาที่มีความพร้อมในการจัดการแข่งขัน จึงได้เริ่มจัดติดต่อกันมาเป็นปีที่ ๕ แล้ว

รักษาดิน รักษาน้ำคือรักษาชาติบ้านเมือง..ฟื้นนาร้างปีที่ ๓..เตรียมตั้งโรงสีข้าว ตรา "ข้าวแกลง"...

จะฝากผีฝากไข้ไว้กับคนรุ่นต่อไป...ต้องถ่ายทอดรากของเมืิองเอง
       ตลอดเดือนกรกฎาคม ซึ่งอยู่ในช่วงของฤดูฝนอย่างเต็มรูปแบบนั้น ในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลเมืองแกลง และพื้นที่รอยต่อโดยรอบ ตั้งแต่ จำรุง เนินฆ้อ วังหว้า ทะเลน้อย ทุ่งควายกิน คลองปูน พังราด นับเป็นวาระสำคัญของการทำนาปลูกข้าวประจำปี  เนื่องจากเมืองแกลง พึ่งพาฟ้าฝนในการทำ "นาปี"

       และสำหรับในพื้นที่เขตเทศบาลฯ เองนั้น บริเวณชุมชนดอนมะกอกทั้งสองฝั่งถนนสุขุมวิท บริเวณชุมชนพลงช้างเผือก หนองควายเขาหักติดต่อกับเขตบ้านทะเลน้อย อบต.ทางเกวียน ก็มีกิจกรรมทำนานี้เช่นกัน บ้างใช้การตกกล้าแล้วไปดำนาเช่นของคนบ้านหนองกระโดง คนบ้านดอนมะกอก  ส่วนคนบ้านหนองควายเขาหักนั้นอาศัยการหว่านกล้าลงแปลงนา แล้วแต่ความถนัดถนี่ว่าจะใช้วิธีใดกัน

สายลม..แสงแดด..และยิ้มบาน
       นอกจากนี้ ที่ผืนนาบ้านพลงช้างเผือก ยังมีการนำเด็กและเยาวชนจากโรงเรียนวัดพลงช้างเผือกมาช่วยกันดำนาเป็นที่สนุกสนานกันอีกด้วย เพื่อให้มีโอกาสได้เรียนรู้การปลูกข้าวที่เราต้องอาศัยรับประทานกันตลอดชีวิตนั่นเอง

       เทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้ให้การสนับสนุนและร่วมกับชุึมชนต่าง ๆ และเครือข่ายการทำนา เพาะปลูกพืชผักมาเข้าปีที่ ๓ แล้ว และยังพยายามขยายวงเพื่อให้พื้นที่นาว่างเปล่ารกร้างได้กลับมาใช้ประโยชน์เพาะปลูกกันอีกครั้งหนึ่ง  ให้การทำนาในเขตเทศบาลฯ ซึ่งเมื่อสามปีก่อน มีเหลืออยู่เพียงย่านหนองปรือใกล้ซอยวีโออาร์อยู่เพียงสามถึงสี่ไร่สุดท้ายเท่านั้น ได้ขยายพื้นที่ออกไป รวมถึงเมื่อปีที่ผ่านมา ได้เข้าไประดมทุนจากชุมชนและผู้สนใจเพื่อตั้งเป็นกองทุนข้าว เพื่อนำเงินทุนนี้ ไปซื้อทั้งข้าวเปลือก และข้าวสารจากโรงสีที่เหลืออยู่สองสามแห่ง มาจำหน่ายเป็นข้าวกล้องตรา "ข้าวแกลง" เพื่อเป็นการระบายข้าวให้กับชาวนา และเพื่อให้ชาวเมืองแกลงได้บริโภคข้าวที่ปลูกในพื้นที่ของตนเอง

มีนา...มีข้าว...มีกิน
       ปัจจุบันได้มีการสำรวจแล้วว่า มีการทำนาเพิ่มขึ้นในเขตเทศบาลฯ ย่านดอนมะกอก หนองควายเขาหัก หนองกระโดง พลงช้างเผือก รวมประมาณ ๑๐๐ ไร่  โดยที่ในส่วนเทศบาลฯ เองเตรียมที่จะก่อสร้างโรงสีข้าวขึ้นที่บริเวณศาลาแหลมท่าตะเคียนในเร็ววันนี้ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกต่อไป เพื่อรองรับผลผลิตข้าวเปลือก ไม่ต้องส่งไปสียังจังหวัดอื่นแล้วขนข้าวสารกลับมาขายอีกครั้งหนึ่งดังเช่นที่่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายและสิ้นเปลืองพลังงานน้ำมันโดยใช่เหตุ

บริเิวณพื้นที่นาที่ขยับเพิ่มขึ้น ที่เหลือเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง
       ทั้งนี้ หากกล่าวโดยภาพรวมของจังหวัดระยองทั้งจังหวัด ข้อมูลเมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๒ พบว่าปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเหลืออยู่ไม่มากนัก และไม่สามารถมีผลผลิตข้าวที่เป็นของตนเอง เพียงพอที่จะเลี้ยงประชากรในจังหวัดที่มีถึงกว่าเจ็ดแสนคนได้เลย ต้องพึ่งพาการซื้อข้าวจากจังหวัดอื่น ๆ  เช่นเดียวกับ "ผัก" ที่แทบจะต้องพึ่งพาจากจังหวัดอื่นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ จากสาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินไปเป็นอย่างอื่น เช่นที่ อำเภอบ้านค่าย อำเภอเมือง เป็นต้น และเกิดจากสาเหตุที่มีการเปลี่ยนไปปลูกพืชพลังงานอย่างปาล์มน้ำมัน และยางพารา มันสำปะหลังกันเป็นจำนวนมาก ทำให้พืชอาหารอย่างข้าวได้รับผลกระทบ  โครงสร้า่งผลผลิตทางการเกษตรของจังหวัดระยองในเรื่องของข้าวและผัก ซึ่งเป็นปัจจัยหลักแห่ง "ความมั่นคงทางอาหาร" ของเราจึงไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้เลย

       สถานการณ์เหล่านี้ จึงเป็นเรื่องที่เราควรต้องร่วมกันพิจารณาช่วยกันให้จังหวัดระยอง ได้มีโครงสร้างผลผลิตทางการเกษตรที่ปัจจุบันมีมูลค่ารวมทั้งจังหวัดปีละกว่า ๑๓,๐๐๐ ล้านบาท ได้มีสัดส่วนระหว่างพืชอาหาร และ พืชพลังงานที่มีดุลยภาพยิ่งขึ้น ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และลดการพึ่งพาข้าวปลาอาหารจากเมืองอื่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญแห่งการพัฒนาเพื่อไปสู่ความ "กินดี" และ "อยู่ดี" ของพี่น้องประชาชนนั้นเอง

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ขสมก.(ขนส่งเมืองแกลง) ตระเวนบริการรับเด็ก ๗ ขวบขึ้นไป จากโรงเรียนมาทำบัตรประชาชน

       สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน ฉบับที่ ๓ พ.ศ.๒๕๕๔ กำหนดให้เด็กอายุตั้งแต่ ๗ ขวบขึ้นไปต้องจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นต้นไป

       เทศบาลตำบลเมืองแกลง จึงได้ประสานงานกับโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตเทศบาล โดยจัดรถขสมก. (ขนส่งเมืองแกลง) ออกไปรับและส่งเด็กนักเรียนมาทำบัตรประชาชนที่สำนักงานเทศบาลฯ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๒๖ กรกฎาคมนี้แล้ว และจะให้บริการรับส่งเรื่อยไปจนครบถ้วน ซึ่งในวันแรกมีความขลุกขลักพอสมควร เนื่องจากต้องปรับกระบวนขั้นตอนงานเพื่อให้ประหยัดเวลาในการทำบัตรมากที่สุด  และกับความตื่นเต้นซุกซนของเด็ก ๆ ที่มาทำบัตรทุกคน นอกจากนี้ ขอให้ผู้ปกครองได้แจ้งให้เด็กได้จำชื่อของบิดามารดามาด้วย เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการทำบัตรประชาชน


       อนึ่ง ตั้งแต่วันเสาร์ที่ ๓๐ กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ในทุก ๆ วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา ๙ นาฬิกาถึง ๑๒ นาฬิกา เทศบาลตำบลเมืองแกลงจะได้เปิดให้บริการเพื่อให้ท่านผู้ปกครองได้นำบุตรมาทำบัตรประชาชนได้ โดยขอให้ท่านเตรียมสูติบัตรของเด็กมาด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นับไม้ยืนต้นทั่วเมือง...องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกคาด..จะรู้ผลการสะสม co2 ในเนื้อไม้เร็ว ๆ นี้

วัดขนาดไ้ม้ยืนต้นที่ถนนเทศบาล ๒
       เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๘ และอังคารที่ ๑๙ กรกฎาคมที่่ผ่านมานี้ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคนโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ซึ่งได้รับมอบหมายจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกใน "โครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองลดคาร์บอน" ได้ลงพื้นที่ออกสำรวจจำนวนต้นไม้ยืนต้นที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของเทศบาลตำบลเมืองแกลงทั้งเขตเทศบาล ซึ่งคณะผู้สำรวจได้ให้ความเห็นในเบื้องต้นว่า การสำรวจจะแบ่งเป็นสองส่วนคือ ต้นไม้บนบก และต้นไม้ริมน้ำ ซึ่งเทศบาลตำบลเมืองแกลงมีการปลูกต้นไม้ยืนต้นไว้ค่อนข้างมาก และมีการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายพื้ันที่ 

สำรวจไม้ยืนต้นที่สวนสาธารณะเทศบาลฯ
       การสำรวจจำนวนต้นไม้ยืนต้นดังกล่าว เพื่อที่จะได้นำไปประมวลผลแล้วคำนวณขีดความสามารถของการเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ไว้ในเนื้อไม้เหล่านี้ว่า จะสามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ให้กับเมืองได้เป็นปริมาณเท่าใด  นอกจากนี้แล้ว ก่อนหน้านี้ ทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ยังได้มอบให้สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์มาทำการเก็บข้อมูลเรื่องพื้นที่นาที่ปัจจุบันนับเป็นปีที่ ๓ ที่เทศบาลฯ ได้ส่งเสริมให้พื้นที่นาร้างได้กลับมามีชีวิตสามารถเพาะปลูกได้อีกครั้ง  มีการจัดเก็บข้อมูลปริมาณของเสียของเมืองแกลงที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน พร้อมทั้งกระบวนการจัดการของเทศบาลที่ได้เข้าไปลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ เพื่อช่วยลดโลกร้อน  มีการจัดเก็บข้อมูลรถขนส่งเมืองแกลง (ขสมก.) ที่ออกวิ่งให้บริการประชาชน ลดรายจ่ายในการเดินทางและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ที่เกิดจากการใช้ยานยนต์ส่วนบุคคลในการเดินทาง  มีการจัดเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในหลายภาคส่วนเพื่อประเมินผลและหาทางใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

       อนึ่ง ใน "โครงการรส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองลดคาร์บอน" นี้ นอกจากเทศบาลตำบลเมืองแกลงแล้ว องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ยังได้พิจารณาเลือกเทศบาลตำบลสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เทศบาลตำบลอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และเทศบาลเมืองภูเก็ต ได้เข้าร่วมโครงการด้วยเช่นกัน เพื่อศึกษาบริบทของการบริหารจัดการเมืองในการต่อกรกับภาวะโลกร้อนและการพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการพี่น้องประชาชนอีกด้วย  และเมื่อได้มีการประมวลสรุปผลการสำรวจแล้ว เมืองแกลงนิวส์จะได้นำเสนอข้อมูลได้ทราบเป็นลำดับไป 


       ขอขอบคุณองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคนโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไว้ ณ โอกาสนี้

 

เทศบาลฯ จับมือชมรมอนุรักษ์นกแอ่นเมืองแกลง...ขับเคลื่อนกิจกรรมพัฒนาเมืองและชมรม

       เมื่อค่ำวันพุธที่ ๒๐ กรกฎาคม นายกเทศมนตรี ได้เดินทางไปร่วมการประชุมประจำเดือนของชมรมอนุรักษ์นกแอ่นเมืองแกลง ที่ร้านเหรียญโภชนา ซึ่ง นายจรูญโรจน์ มัญชุนากร ประธานชมรมฯ ได้มีการหารือสมาชิกของชมรมในประเด็น การให้การสนับสนุนการปรับปรุงก่อสร้่างอาคารเดิมของโรงเรียนแกลงฯ เพื่อเลี้ยงนกแอ่นให้แก่ทางโรงเรียน เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และเป็นแหล่งที่อาจสร้างรายได้ให้กับโรงเรียนได้ในอนาคต รวมถึงการเข้าไปสนับสนุนนักเรียนโรงเรียนแกลงฯ ให้มีชมรมอนุรักษ์นกแอ่นที่ปัจจุบันมีนักเรียนสมาชิกในโรงเรียนอยู่กว่า ๒๐ ราย และได้มีการหยิบยกประเด็นการให้การสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการทั้ง ๑๓ ชุมชนขึ้นมาพิจารณาในโอกาสนี้ซึ่งสมาชิกในชมรมจะนำพิจารณาแนวทางการสนับสนุนชุมชนในการประชุมคราวต่อไป

       นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือการจัดทำเว้ปไซต์ของชมรมในโอกาสต่อไป เพื่อการประสานงานในหมู่สมาชิกและการส่งเสริมการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้สนใจเรื่องรังนกกับผู้เลี้ยงในพื้นทีต่อไป ซึ่งนายกเทศมนตรีพร้อมให้การสนับสนุนด้วยการเชื่อมสัญญาณเว้ปไซต์ของชมรมอนุรักษ์นกแอ่นเมืองแกลง เข้ากับเว้ปไซต์ของเทศบาลตำบลเมืองแกลงเมื่อการจัดทำแล้วเสร็จเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการติดต่อสื่อสาร

       ในโอกาสนี้ นายกเทศมนตรีได้ถือโอกาสกล่าวขอบคุณสมาชิกชมรมอนุรักษ์นกแอ่นเมืองแกลงทุกท่านที่ได้ให้การสนับสนุนงานบุญกลางบ้าน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ด้วยการไปออกร้านจำหน่ายรังนก และจัดป้ายนิทรรศการให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงนกแอ่นแก่สังคม   รวมถึงขอบคุณที่ทางชมรมได้ร่วมสนับสนุนการเปิดรับบริจาคทุนทรัพย์จากพี่น้องชาวเมืองแกลงเพื่อไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ และผู้ประสบภัยสึนามิเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งทางชมรมได้บริจาคสมทบเป็นจำนวนเงิน ๗ หมื่นบาท

       ในการประชุมดังกล่าว ยังมีประเด็นการแจังความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการให้ผู้ประกอบการเลี้ยงนกแอ่นได้มาขออนุญาตต่อเติม ปลูกสร้างอาคารซึ่งปัจจุับันคงเหลืออยู่ประมาณ ๑๐ รายที่อยู่ระหว่างการติดตามให้มาดำเนินการ  ยังมีประเด็นที่เทศบาลฯ ได้ประสานงานกับทางชมรมขอให้จัดทำข้อมูลองค์ความรู้รวมถึงที่มาของการเลี้ยงนกแอ่นในเขตเทศบาล เพื่อนำไปบรรจุเป็นหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน  และจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลประจำเมืองไว้ที่เทศบาลต่อไป

       ในตอนท้าย นายกเทศมนตรีได้ให้ข้อมูลแก่ทางชมรมเรื่อง ความพยายามที่จะต้องช่วยกันรักษาแหล่งอาหารของนกแอ่น ด้วยการรักษาพื้นที และการใช้ประโยชน์ในที่ดินของพื้นที่ทั้ง ๓ อำเภอ คือแกลง วังจันทร์ เขาชะเมา ให้คงสภาพความเป็นเมืองเกษตรที่อุดมไปด้วยสวนผลไม้ชนิดต่าง ๆ การส่งเสริมพื้นที่นาร้างให้กลับมามีชีวิตให้ผลผลิตข้าวแก่ชาวเมืองแกลงอีกครั้งหนึ่ง  การรักษาสภาพความเป็นเมืองแห่งคลอง มือคลอง และคลองซอย รวมถึงการอนุรักษ์ห้วย หนอง คลอง บึง ที่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เพื่อให้เป็นแหล่งรวมแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะเป็นแหล่งอาหารของนกแอ่นที่ต้องอาศัยแมลง หนอนต่าง ๆ เป็นอาหารได้อีกต่อไป

เมื่อคราวชมรมอนุรักษ์นกแอ่นเมืองแกลงออกร้าน
ในงานบุญกลางบ้านเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา
       ข่าวสารความคืบหน้าในกิจกรรมของชมรมอนุรักษ์นกแอ่นเมืองแกลงมีเพิ่มเติมประการใด เมืองแกลงนิวส์จะได้นำเสนอได้ทราบตามลำดับ

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผลสำรวจจากทั้ง ๑๓ ชุมชน เห็นด้วยให้เทศบาลจัดตั้งโรงเรียน.. ๙๙.๕ เปอร์เซ็นต์

ร่วมด้วย..ช่วยกันให้ความเห็น
       เมื่อวันอังคารที่ ๑๒ กรกฎาคมที่ผ่านมานี้ เทศบาลตำบลเมืองแกลง โดยคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนเทศบาล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกองวิชการและแผนงาน และกองการศึกษา ได้ลงพื้นที่เพื่อไปสำรวจความต้องการของผู้คนในชุมชนต่าง ๆ ทั้ง ๑๓ ชุมชนต่อการจัดตั้งโรงเรียนของเทศบาล โดยได้ประสานงานกับประธานชุมชนทั้ง ๑๓ แห่งในการนำการสำรวจ ซึ่งได้จัดเตรียมแบบสำรวจไว้จำนวน ๒๐๐ ชุด

       ผลการสำรวจปรากฎดังต่อไปนี้


คลิ้กที่ภาพ..เพื่อขยายภาพใหญ่ขึ้น

       หลังจากนี้ เทศบาลฯ จะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารฉบับสมบูรณ์ในการยื่นขอรับการประเมินความพร้อมในการจัดตั้งโรงเรียนไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระยอง เขต ๒ และนำเสนอต่อสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลงต่อไป ภายในเดือนสิงหาคม ที่จะถึงนี้

คณะกรรมการจัดตั้งโรงเรียนเทศบาล นัดประชุมทุกวันพุธ
       ขอขอบคุณประธานชุมชนและคณะกรรมการชุมชนและผู้ตอบแบบสำรวจมา ณ โอกาสนี้


   

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เดินเท้าเข้าป่า หาแนวสะพานเชื่อม ๒ แหลมแล้ว..เตรียมกรุยทางเข้า Mode Technical Survey ต่อไป (ตอนสุดท้าย)

นาทีแรก ๆ ที่มาถึงแนวชายคลอง.. กันเสียที













  
เทคโนโลยีจีพีเอสกลายเป็น
เครื่องมือแสนธรรมดา
   


       เมื่อเทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้มีการรวบรวมข้อมูลมาประมวลและประเมินผล คาดการณ์ปัญหาการเดินทางที่ไม่สะดวกคล่องตัวซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งอันเป็นบ่อเกิดของความไม่น่าอยู่แล้ว จึงกำหนดให้การเพิ่มเชื่อมเส้นทางระหว่าง ถนนพลงช้างเผือกซอย ๓ ไปยังถนนแหลมยาง บริเวณโค้งบ้านยายนาง ด้วยการก่อสร้างสะพานข้ามคลองที่แหลมท่าตะเคียน เป็นยุทธศาสตร์สำคัญหนึ่งที่จะช่วยให้การจราจรและการเดินทางในเขตเมืองแกลงมีความสะดวกคล่องตัวได้อีกช่องทางหนึ่ง


ชมวีดีโอการสำรวจเพลิน ๆ ที่...http://www.youtube.com/watch?v=meVLfVz2kdc


เส้นทางเดินสำรวจ





สภาพพื้นที่ที่เข้าสำรวจด้วยการเดินเท้า
     
















 และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ กรกฎาคมที่่ผ่านมา เวลา ๑๖ นาฬิกา นายกเทศมนตรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองช่างรวม ๘ คนจึงได้ออกเดินทางไปยังที่ดินฝั่งทิศตะวันออกของคลองประแส ซึ่งมีผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งอยู่ จากนั้นได้เดินเท้าแผ้วถางป่าเพื่อเข้าหา
ชายฝั่งคลองทางด้านนี้ ซึ่งเคยมีความพยายามที่จะเข้าไปให้ถึงฝั่งคลองมาแล้วหนหนึ่ง แต่คราวนั้น ขาดเครื่องมือที่จะแผ้วถางพื้นที่รกชัฎ แต่สำหรับครั้งนี้ได้เตรียมพร้อมกับการเดินเท้า ซึ่งมีระยะทางประมาณ ๕๐๐ เมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒๐ นาที พบว่า  สภาพพื้นเดิมเป็นดินที่ขุดขึ้นมาจากพื้นดินเดิมเพื่อถม แต่เนื่องจากไม่มีการใช้งานมานาน จึงมีสภาพรกร้าง ต้องแผ้วทางเป็นทางพอเป็นช่องเดินเรียงเป็นแถวไปจนถึงแนวชายคลอง โดยอาศัยเครื่องจีพีเอส จากโทรศัพท์มือถือ เป็นเครื่องนำทาง  กระทั่งมาพบคลอง จึงได้แผ้วทางแนวชายคลองให้โล่งแล้วทำเป็นสัญลักษณ์ไว้ ซึ่งตำแหน่งดังกล่าว สามารถมองเห็นบ้านป้าหนูซึ่งอยู่ฝั่งคลองด้านทิศตะวันตกที่แหลมท่าตะเคียน เยื้องค่อนไปทางด้านทิศใต้

สภาพป่ารกบางช่วงของเส้นทางสำรวจ
       หลังจากนี้ จะได้นำเครื่องจักรกลหนักเข้าสู่พื้นที่ เพื่อแผ้วถางแนวถนน เฉพาะเพียงเท่าที่จะต้องทำการสำรวจเบื้องต้น ทั้งระดับสูงต่ำของดิน ลักษณะดิน การวางแนวเส้นทางเพื่อรับกับคอสะพาน และรายละเอียดอื่น ๆ ต่อไป ก่อนที่จะได้จัดทำเป็นแบบแปลนพร้อมคำนวณค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนต่าง ๆ สำหรับการนี้อีกครั้งหนึ่ง และเมื่อพร้อมแล้ว จึงจะได้พิจารณาแหล่งเงินงบประมาณก่อนที่จะขอความเห็นชอบต่อสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลงเพื่อดำเนินการต่อไป

       หากโครงการดังกล่าว สามารถดำเนินการได้ จะยังประโยชน์ให้เกิดกับการเดินทางแก่คนในระบบโรงเรียนและระบบโรงงานย่านชุมชนพลงช้่างเผือกซึ่งมีการไหลเวียนเข้าออกย่านนี้ถึงวันละไม่น้อยกว่า ๘๐๐๐ คน ให้สามารถระบายการจราจรและการเดินทางโดยไม่ต้องไหลเข้าเขตเมืองชั้นในได้มากพอสมควร รวมถึงการเดินทางไปโรงพยาบาลแกลง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถที่จะเดินทางมาย่านนี้ได้สะดวกรวดเร็วขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพาทางหลวงแผ่นดินอย่างถนนสุขุมวิท หรือเข้าไปติดขัดกันในเขตเมืองชั้นในอีกต่อไป  ทั้งนี้ ในการออกแบบเส้นทางดังกล่าว ยังต้องคงแนวคิดการเดินทางด้วยระบบรถร่วมบริการของเทศบาล เช่นรถขสมก. ที่ให้บริการอยู่ขณะนี้ไว้ให้ได้รับความสะดวกสบายเสมอด้วยการเดินทางด้วยยานยนต์ส่วนตัวควบคู่กันไป

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ข้อมูลที่มา ของสะพานเชื่อมแหลมสองแหลม (แหลมท่าตะเคียน แหลมยาง) ตอนที่ ๓

คลิ้กภาพเพื่อดูภาพขนาดใหญ่พร้อมคำอธิบาย
       หากพิจารณาพื้นที่ด้านทิศเหนือถนนสุขุมวิทที่ในเขตเทศบาลตำบลเมืองแกลง นับว่ามีการจราจรหนาแน่นน้อยกว่าด้านทิศใต้  สะพานตัวสุดท้ายที่สร้างขึ้นใหม่คือ สะพานโรงประปาบ้านหนองแหวน เมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๑ 

       แต่สำหรับด้านทิศใต้ซึ่งมีประชากรอยู่อาศัยกันมาก และยังผลให้การจราจรคับคั่งในเขตเทศบาลฯ  สะพานตัวสุดท้ายที่ได้ก่อสร้างไว้ คือสะพาน ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน หรือ "สะพานฝั่งธน" ที่ได้ทำเป็นสะพานคอนกรีตแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ หรือเกือบยี่สิบปีมาแล้ว  ขณะที่ยุคนั้นมีจำนวนครัวเรือนในเขตเทศบาลอยู่ไม่ถึงห้าพันหลังคาเรือน  แต่ปัจจุบันมีถึงเกือบเก้าพันหลังคาเรือน มีสถานประกอบการต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โรงเรียนมีการรับนักเรียนเพิ่มมากขึ้น

       ยิ่งไปกว่านั้นคือ ปัจจุบันเส้นทางสายพลง ทะเลน้อยสามารถเชื่อมต่อไปยังบ้านทุ่งควายกินโดยข้ามคลองประแสที่สะพานบ้านท่ากะพัก ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปปากน้ำประแสได้ มีผู้นิยมใช้เส้นทางสายนี้เพื่อขึ้นมาที่ตลาดสามย่านกันมากขึ้น

ภาพแสดงเส้นทางและย่านที่มีประชากรคนและรถคับคั่ง
       ข้อสำคัญคือ แนวถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่างจังหวัดระยอง จันทบุรี และจังหวัดตราด ที่เรารู้จักกันในชื่อว่า "ถนนบูรพาชลทิศ" นั้น มีจุดเริ่มต้นในเขตอำเภอแกลงที่อนุสาวรีย์สุนทรภู่ บนถนนสายสุนทรภู่ ซึ่งตัดเข้าหาพื้นที่เขตชุมชนหนาแน่นของเทศบาลตำบลเมืองแกลงบริเวณวงเวียนใน ก่อนที่จะเลือกไปออกถนนสุขุมวิท หรือไปใช้เส้นทางสายพลงช้างเผือกเพื่อลัดเลาะชายฝั่งทะเลไปจนถึงจันทบุรี และตราดได้ในที่สุด  ปริมาณยานยนต์จึงเพิ่มขึ้นจากการมีการคมนาคมที่ดี

       สภาพการณ์ดังกล่าว จึงส่งผลให้ถนนเทศบาลด้านทิศใต้ถนนสุขุมวิท มีปริมาณยานยนต์เพิ่มมากขึ้นมาก แม้ว่าเทศบาลฯ จะได้พยายามวางมาตรการหลายอย่าง อา่ทิ การออกเทศบัญญัติการจัดระเบียบการจอดยานยนต์ ปีพ.ศ.๒๕๕๐ เพื่อเข้มงวดวินัยจราจรยิ่งขึ้น การส่งเสริมให้ประชาชนทำที่จอดรถให้เช่าในเขตชุมชนหนาแน่น การขอความร่วมมือให้ออกแบบที่จอดรถสำหรับบ้านที่มีบริเวณเหลือ  รวมถึงการนำรถขนส่งเมืองแกลง (ขสมก.) มาวิ่งให้บริการถึง ๔ คันเพื่อลดจำนวนยานยนต์ส่วนตัวลง แต่เป็นที่แน่นอนว่า ยังมีความจำเป็นต้องมีมาตรการให้มากไปกว่านี้ จึงจะสามารถแก้ปัญหาความแออัดคับคั่งของยวดยานลงได้

       เทศบาลฯ จึงได้พิจารณาเรื่องการสร้่างสะพานแห่งใหม่ขึ้นบริเวณแหลมท่าตะเคียน เนื่องจากหากวัดระยะทางทางน้ำ ระหว่างสะพาน๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน (สะพานฝั่งธน) ซึ่งอยู่ในเขตเมืองชั้นใน มีการจราจรคับคั่ง กับสะพานที่บ้านท่ากะพัก ห่างกันถึงร่วม ๑๐ กิโลเมตร  ซึ่งทำให้ขาดการเชื่อมต่อการเดินทางในลักษณะการช่วยระบายการจราจรระหว่างสะพานทั้งสองแห่ง

       หากสามารถก่อสร้่างสะพานเพิ่มขึ้นที่แหลมท่าตะเคียน และก่อสร้างถนนไปเชื่อมกับชุมชนบ้านแหลมยางที่โค้งยายนาง สะพานแห่งนี้จะช่วยให้นักเรียนและคนในระบบโรงงานตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ไปมาระหว่างชุมชนวัดพลงช้่างเผือกกับเส้นทางด้านทิศตะวันออกของเมืองได้สะดวกขึ้น สามารถไปโรงพยาบาลและสถานีตำรวจได้สะดวกรวดเร็วขึ้น...โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าไปแออัดกันในเขตเมืองชั้นในแต่อย่างใด 

       ทั้งนี้ หลักสำคัญคือ เมื่อได้ทำสะพานและถนนดังว่านี้แล้ว ยังต้องตระหนักอยู่เสมอว่า เมื่อสามารถระบายการจราจรให้ออกไปนอกเมืองได้  ในมุมกลับกัน สะพานและถนนดังกล่าว ก็สามารถพายานยนต์เข้ามาแออัดเบียดเสียดในเมืองได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ต้องประเมินว่า อะไรจะเหมาะสมกว่ากันต่อไป 

(ตอนสุดท้าย... พบกับวันออกสำรวจเส้นทาง)

     

เผยแล้ว...อยู่เมืองแกลงมานานปี ช่วยตอบที..บ้านเรานี้ มีกี่สะพาน? (ตอนที่๒)

สะพานดำ 
       ...ต่อเมื่อมีการตัดถนนสุขุมวิทจากกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ เรื่อยมาทางหัวเมืองทิศตะวันออก ถนนสุขุมวิทในยุคแรกก็เริ่มตัดเข้ามาในพื้นที่เมืองแกลง ซึ่งผู้อาวุโสในวัยแปดสิบปีขึ้นไปหลายท่านได้เคยเล่าว่า เคยไปรับจ้างทำถนนสุขุมวิทโดยการขุดดินขึ้นมาถมเป็นถนน คิดค่าแรงขุดดินกันเป็นหลุม ๆ ขนาดกว้างยาวลึกด้านละ ๑ หลา เรียกว่า "หลุมหลา"

แสดงธรณีสัณฐานที่ลุ่มในเขตเมืองแกลง
       เมื่อจะทำสะพานข้ามคลองสามย่าน (หลายแห่งคลองผ่านที่ไหน ก็เรียกชื่อตามนั้น อาทิ คลองดอนมะกอก คลองกระแสบน เป็นต้น)  ถนนสุขุมวิทก็ได้เลือกเอาบริเวณบ้านยายดำเป็นแนวสะพาน  ซึ่งทำกันเป็นสะพานไม้ในระยะแรก  จึงเป็นที่มาของคำว่า "สะพานดำ" ที่อยู่หน้าร้านเจียวโภชนา แล้วก็ไปทำ "สะพานดอนมะกอก" ข้ามคลองดอนมะกอกอีกแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลฯ

       พื้นที่ระหว่างสะพานทั้งสองแห่ง หรือพื้นที่ที่มีน้ำคลองประแสล้อมรอบ เป็นเหมือนพื้นที่เกาะที่เป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำหลากในหน้าน้ำ

       ส่วนจุดข้ามคลองอื่น ๆ ในบริเวณเขตเทศบาลและพื้นที่โดยรอบ นอกจากทำเป็นสะพานแล้ว ยังมีการวางท่อสี่เหลี่ยมในบางแห่ง ปรากฎดังนี้
 แผนที่แสดงตำแหน่งสะพานข้ามคลองประแส จุดต่าง ๆ ทั้งในเขตเทศบาลและพื้นที่รอบ ๆ 
๑.ท่อสี่เหลี่ยม Block Convert ข้างที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลทางเกวียนและข้างแนวเวนคืนทำถนนวงแหวนบายพาสซึ่งใช้จัดงานของดีเมืองแกลง เพื่อให้น้ำจากคลองใช้ ด้านทิศตะวันตกไหลลอดถนนบ้านบึงแกลงไปได้

๒. สะพานหลังวัดหนองจรเข้ และหลังวัดบ้านนา

๓. สะพานโรงประปาบ้านหนองแหวน ซึ่งเดิมข้ามคลองไปมาด้วยคันเขื่อนดินถมกักเก็บน้ำและกันน้ำเค็มเอ่อเข้าโรงประปา ปัจจุบันกรมทางหลวงชนบทมาสร้างสะพานคอนกรีตขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑

๔. สะพานบริเวณหมู่บ้านพวงเพชรข้ามไปโรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย

๕. สะพานที่ถนนบ้านนา เนินอู่ทอง ที่เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างเทศบาลตำบลเมืองแกลง และบ้านนา

๖. สะพานซอยลมโชย สะพานดำ สะพานดอนมะกอก สะพานฝั่งธน ดังที่อธิบายข้างต้นมาแล้ว

๗. สะพานบ้านท่ากะพัก ทางด้านทิศใต้ของเมืองเชื่อมระหว่างบ้านทะเลน้อยกับบ้านทุ่งควายกิน

       เมื่อนับจำนวนแล้ว ในเขตเทศบาลตำบลเมืองแกลงจึงมีสะพานข้ามคลองประแสอยู่รวมถึง ๗ แห่ง ไม่นับรวมจุดข้ามคลองที่อยู่นอกเขต และสะพานข้ามคลองวังหว้าด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้อีกหนึ่งแห่ง

       เป็นข้อบ่งชี้ถึงความที่เมืองแกลง เป็น "เมืองที่ตั้ง...ริมฝั่งคลอง"  บ่งบอกถึงสภาพธรณีสัณฐาน บอกถึงรากอาชีพดั้งเดิม  การคมนาคมแต่ในอดีต ความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหาร....ฯ.....


       รวมไปถึงเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการนำพาพัฒนาเมืองว่าจะเดินหน้ากันอย่างไรต่อไป เพื่อมิให้ความเป็นแกลงต้องเสียอาการ หรือเสียทรง และส่งเสริมให้เมืองแกลงอยู่อย่างสอดคล้องกับตำแหน่งที่ตั้ง และสภาพดินฟ้าอากาศต่อไป



  (ตอนต่อไป...พบคำตอบว่า เหตุใดต้องมีสะพานเพิ่มขึ้นในเมืองแกลง)

     

มองเมืองแกลง..เมืองที่ตั้งริมฝั่งคลอง ผ่านสายน้ำคลองประแส และสะพาน "รักข้ามคลอง" (ตอนที่ ๑)

สะพานบ้านตลาดสามย่าน ปีพ.ศ.๒๔๖๖
       จากการที่เมืองแกลง เป็น "เมืองที่ตั้ง..ริมฝั่งคลอง"  โดยที่ในปี พ.ศ.๒๓๔๙ สุนทรภู่ได้เขียนไว้ในหนังสือนิราศเมืองแกลงตอนหนึ่งว่า "แล้วไปชมกรมการบ้านดอนเค็ด..." ซึ่งหมายถึงบ้านของเจ้าเมืองตั้งอยู่บริเวณ "บ้านดอนเค็ด" ย่านวัดโพธิ์ทองพุทธารามในยุคนั้น  จนต่อมา คราวเสด็จประพาสเมืองจันบุรี ของรัชกาลที่ ๕ ได้ทอดเรือพระที่นั่งอยู่ ณ "ปากน้ำประแส" แขวงเมืองแกลง ทรงมีพระราชนิพนธ์ไว้คราวมีราษฎรมารับเสด็จบริเวณตรงนั้นว่า "....ที่พระแกลงแกล้วกล้าอยู่...." 

สะพานฝั่งธนในปี พ.ศ.๒๕๐๒ ตรงกลางผลักให้สะพานหัน
เพื่อให้เรือผ่านไปมาได้
       ความข้างต้น จึงคาดว่า เมืองแกลงในสมัยสุนทรภู่มาเยี่ยมบิดา สมัยรัชกาลที่ ๓  ตั้งอยู่ที่บ้านดอนเค็ด และสม้ัยรัชกาลที่ ๕ "อาจจะ" อยู่ที่บ้านปากน้ำประแส  แต่จะในยุคใดก็ตาม ที่ตั้งของเมือง ก็ล้วนแต่อยู่ริมคลองประแสตลอดมา กระทั่งหนหลังสุด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ ได้ย้ายเมืองจากบ้านดอนเค็ด มาอยู่ ณ "บ้านตลาดสามย่าน" จนถึงปัจจุบัน ก็ยังมาสร้างบ้านสร้างเมืองกันอยู่ริมคลองประแสเช่นเดิม เพียงแต่ที่บ้านตลาดสามย่านนี้ พื้นที่ด้านทิศตะวันตกของคลองเป็นที่สูงกว่า ไ่ม่ได้เป็นพื้นที่ลุ่มทั้งสองฝั่งคลองเหมือนที่บ้านดอนเค็ด

       เหตุดังกล่าว จึงกล่าวได้ว่า พื้นที่ตั้งของเมืองแกลงบริเวณเทศบาลตำบลบ้านนา อบต.ทางเกวียน เทศบาลตำบลทุ่งควายกิน เทศบาลตำบลเมืองแกลง เทศบาลตำบลเนินฆ้อ เทศบาลตำบลปากน้ำประแส อบต.คลองปูน อบต.วังหว้า ย่านนี้ ล้วนแต่เป็นพื้นที่ลุ่ม มีคลองสายหลัก และมือคลอง หรือคลองซอยอยู่ทั่วไป อาชีพดั้งเดิมของคนย่านนี้ จึงทำนากันมาเป็นพื้นเดิม ก่อนที่ผู้คนจะเพิ่มขึ้นและขยับกันขึ้นไปทางทิศเหนือซึ่งเป็นพื้นที่สูงกว่า แล้วทำอาชีพทำสวนนานาชนิดกันต่อมา

งานฉลองสะพาน ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน ปีพ.ศ.๒๕๕๒
       ที่น่าติดตามต่อไป ก็คือ การไปมาระหว่างคนสองฝั่งคลองในอดีตเขาทำกันอย่างไร นอกจากทำสะพานแล้ว ก็ยังมีข้ามคลองด้วยเรือข้ามฟาก เช่น แถบบ้านแหลมยาง แถบบ้านดอนกอกล่าง หากจะไปมากับบ้านปากน้ำประแส  ต้องนั่งเรือหรือที่ไปจักรยานก็ต้องใส่เรือข้ามฟากไป  นอกจากนี้ ย่านที่น้ำขังในหน้าฝน และท้องนาที่มีผู้คนอยู่กันเป็นหมู่ ก็ยังมีการทำสะพานคนเดิน เช่น สะพานไม้เก่าแก่สำหรับคนเดินอยู่ด้านหลังวัดโพธิ์ทองพุทธาราม สะพานไม้คนเดินคลองบุญสัมพันธ์ในเขตบ้านนาที่รื้อทิ้งไปหมดแล้ว  

สะพาน ๑๐๐ ปีคราวงานบุญกลางบ้าน
       ส่วนสะพานที่อยู่ในย่านการค้าการขายที่คึกคักที่สุดในยุคก่อน ก็คือ สะพานหน้าที่ว่าการอำเภอแกลงหลังเก่า ที่ตลาดสามย่าน ซึ่งนิยมเรียกกันว่า "สะพานฝั่งธน"   แต่เดิมคาดว่าคงมีสะพานเก่าอยู่ก่อนแล้วเมื่อมีการย้ายที่ตั้งเมืองแกลงมาอยู่บ้านตลาดสามย่าน ในปีพ.ศ.๒๔๕๑ จนเมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๖๖ มีการปรับปรุงก่อสร้างสะพานตรงนี้ขึ้นใหม่ เป็นสะัพานคนเดินกว้างประมาณ ๒ เมตร มีบอกชนิดเนื้อไม้ที่ใช้ทำสะพานและราวสะพานไว้เสร็จสรรพ และแจ้งว่าได้รวบรวมเงินบริจาคมาทำสะพานที่ยาว ๓๒ เมตรนี้ด้วยเงิน ๑,๐๖๔ บาท  ซึ่งเทศบาลตำบลเมืองแกลงพบหลักฐานภาพถ่าย และหลักฐานที่ปรากฎอยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาระบุไว้ชัดเจน  จนเมื่อมีการสร้่างโรงเลื่อยเหนือขึ้นไปจากสะพาน ในราวปี พ.ศ.๒๔๙๐ ก็มีการออกแบบสะพานให้ตรงกลางสามารถใช้แรงคนผลักให้เปิดออกได้ เพื่อให้เรือบรรทุกไม้และสินค้าอื่น ๆ เข้าออกได้

แสดงความแตกต่างของธรณีสัณฐานที่ตั้งเมืองทั้งสองยุค
        ต่อมามีการออกแบบให้สะพานกว้างขึ้นแต่ยังเป็นสะพานไม้อยู่ เพื่อให้รถวิ่งผ่านไปมาได้ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๓๕ สะพานคอนกรีตจึงได้ก่อสร้างขึ้นมาแทนจนแล้วเสร็จใช้การได้ โดยกรมโยธาธิการเป็นผู้สร้าง  และเมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๑ เทศบาลตำบลเมืองแกลง จึงได้ออกแบบสะพานแห่งนี้ขึันใหม่ โดยคงโครงสร้างเดิมของสะพานไว้ แล้วประดิษฐ์บรรจงให้ราวสะพานมีลวดลายสวยงามยิ่งขึ้นแล้วจัดพิธีฉลองในโอกาสงานบุญกลางบ้าน ตอน "ฉลอง ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน" ด้วยบริเวณสะพานแห่งนี้ นับว่าเป็นจุดตั้งต้นของเมืองแกลงในยุคที่ ๒ ที่มีการย้ายเมืองจากบ้านดอนเค็ดมาอยู่ที่นี่ เมื่อปีพ.ศ.๒๔๕๑

แสดงตำแหน่งสะพานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี
       ส่วนไม้ทำสะพานนั้น เทศบาลตำบลเมืองแกลง (ทางเกวียนในยุคนั้น) ได้ถอดไปปรับปรุงซ่อมแซมสะพานที่ซอยลมโชย กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ สะพานไม้มีสภาพชำรุดทรุดโทรมจนอาจเป็นอันตรายต่อการสัญจรไปมา เทศบาลฯ จึงได้ก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นใหม่ที่ตรงนี้ พร้อมได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อสะพานนี้ว่า "สะพานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี"

(ตอนต่อไป พบกับสะพานทั้งหลายในเมืองแกลง)


   

     

   

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

๑๒ สิงหานี้เป็นต้นไป ถนนท่ายายบุญ - บ้านบนเนินตลอดสาย จะเพลินด้วยไม้ยืนต้นสองฝั่งทาง

ถนนแกลงกล้าหาญที่ออกแบบให้เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่ง
ของสนามกีฬากลาง ของเทศบาลฯ
       ในโอกาสวันที่ ๑๒ สิงหาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ที่จะเวียนมาถึงในเร็ววันนี้  เทศบาลตำบลเมืองแกลง ตัดสินใจเลือกถนนท่ายายบุญ - บ้านบนเนิน ปลูกไม้ยืนต้นสองฝั่งทางไปจนตลอดระยะทางประมาณ ๑๗๐๐ เมตร

แนวถนนท่ายายบุญ - บ้านบนเนิน (เส้นสีเหลือง)
       ในการเตรียมการดังกล่าว จะเริ่มวางจุดปลูกจากสะพานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ พรรษา ในพื้นที่ชุมชนบ้านหนองแหวน เรื่อยไปทั้งสองฝั่งทางจนถึงท้ายซอยบนเนิน หรือซอยหมอวน โดยคาดว่าจะทิ้งระยะห่างการปลูกประมาณต้นละ ๗ เมตร และปลูกห่างจากขอบคันทางประมาณ ๑ เมตร เนื่องจากถนนสายนี้ ได้กำหนดไว้ในเทศบ้ัญญัติว่าด้วยการผังเมือง ให้มีระยะถอยร่นจากขอบทาง ๓ เมตรไปตลอดแนว รวมถึงระดับดินถมต้องไม่เกินระดับผิวทาง และความสูงตัวอาคารไม่เกิน ๑๐ เมตร เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย  และสำหรับต้นไม้ที่จะนำมาปลูก ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาพันธุ์ไม้ยืนต้นอย่างน้อย ๒ ชนิด คือ ต้นราชพฤกษ์ซึ่งมีดอกสีเหลืองสวยงาม ต้นแคนาซึ่งมีรูปทรงสวยงาม ดอกใช้รับประทานได้ หรืออาจปลูกสลับกันไป 

       อนึ่ง ถนนท่ายายบุญ - บ้านบนเนินนี้  http://www.panoramio.com/photo/55794243 


หากจะให้เข้าใจง่ายก็คือถนนในซอยลมโชย เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๗ เมตร และมีไหล่ทางลาดยางข้างละ ๑ เมตร รวมความกว้าง ๙ เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี ๒๕๕๒ โดยกรมทางหลวงชนบท ด้วยงบประมาณกว่า ๑๔ ล้านบาท ตามที่เทศบาลตำบลเมืองแกลงได้ขอรับการสนับสนุนไว้ นับเป็นถนนสายทางลูกรังที่ยาวที่สุดสายสุดท้ายของเมืองแกลงที่ได้รับก่อสร้างเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางสำหรับพี่น้องชาวเมืองแกลงจากชุมชนวัดโพธิ์ทองฯ ด้านทิศตะวันออก มุ่งหน้าสู่ถนนสายบ้านบึง - แกลง ในบริเวณใจกลางเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ถนนสุขุมวิท ที่เป็นทางหลวงแผ่นดิน มีการจราจรคับคั่ง ซึ่งจะทำให้ชาวเมืองแกลงมีความสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้นในการเดินทาง  นอกจากนี้ ยังเป็นถนนที่ตัดกับถนนแกลงกล้าหาญ ตรงบริเวณที่ห่างจากสนามกีฬากลางของเทศบาลฯ เพียงประมาณ ๓๐๐ เมตรเท่านั้น ซึ่งถนนแกลงกล้าหาญได้รับการออกแบบให้เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของสนามกีฬากลาง ด้วยการปลูกต้นจามจุรีแนวเกาะกลางเพื่อให้ร่มเงา และปลูกต้นยางนาริมสองฝั่งทาง ซึ่งต้นยางนาเป็นไม้ยืนต้นทรงสูง และผิวทาง มีการออกแบบให้มีทางเท้ากว้าง ๓.๕ เมตรเท่ากับทางสำหรับรถยนต์ มีทางจักรยานกว้าง ๒ เมตรทั้งสองฝั่ง ซึ่งปัจจุบัน ต้นไม้ทั้งสองชนิดกำลังเติบโตสวยงามขึ้นเรื่อย ๆ และมีประชาชนนิยมไปเดินวิ่งออกกำลังกายกันเป็นประจำ

ถนนท่ายายบุญ - บ้านบนเนินในปัจจุบัน
       เทศบาลตำบลเมืองแกลง คาดหวังว่า ถนนท่ายายบุญ - บ้านบนเนินที่กำลังจะร่วมกับชุมชนต่าง ๆ และพี่น้องชาวเมืองแกลง ปลูกไม้ยืนต้นในโอกาสวันแม่ ๑๒ สิงหาคมนี้ จะเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่มีความสวยงามร่มรื่นโดยเทศบาลฯ จะเข้าดูแลบำรุงรักษาหลังการปลูกแล้วต่อไ

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คอกวัวหลังใหม่พร้อม..เตรียมไถ่ชีวิตวัวจากโรงฆ่าสัตว์เพิ่มอีก เพื่อจัดการเศษผักหญ้าเพิ่มปุ๋ยคอก

คอกวัวใหม่ มีเพิงกันแดดฝน มีบริเวณให้วัวเดิน ไม่ต้องปล่อยลงทุ่งทุกวัน คนเลี้ยงมีเวลาออกเก็บผักหญ้ามากขึ้น
ปุ๋ยที่เป็นผลผลิตจากการเลี้ยงวัวด้วยเศษผักหญ้า
  คลิปวัวเทศบาล.. http://www.youtube.com/watch?v=o1x8I5QhMeg   

        หากยังจำกันได้  เทศบาลตำบลเมืองแกลงได้เคยระดมทุนในโครงการไถ่ชีวิตโค กระบือ เมื่อคราวงานบุญกลางบ้านในปี ๒๕๕๒ ตอน ฉลอง ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน โดยที่ได้ทุนจากการรับบริจาคถึง ๙ หมื่นบาท และได้นำไปไถ่ชีิวิตวัวจากโรงฆ่าสัตว์มาได้จำนวน ๙ ตัว จากนั้นได้นำไปเลี้ยงไว้ ณ บริเวณศาลาแหลมท่าตะเคียนเรื่อยมา

       กระทั่งผ่านมา ๒ ปี วัวตกลูกเพิ่มขึ้นอีกหลายตัว บางตัวไปไถ่ชีวิตจากโรงฆ่าสัตว์มาวันนี้ พอเช้ามืดก็ตกลูกเพิ่ม  รวมถึงมีพี่น้องชาวเทศบาลตำบลเมืองแกลงผู้ใจบุญได้ไปไถ่ชีวิตโคจากโรงฆ่าสัตว์มาให้เลี้ยงอีก ทำให้ขณะนี้เทศบาลฯ มีวัวอยู่ทั้งสิ้นจำนวน ๑๙ ตัว ซึ่งตัวล่าสุดได้รับมอบจากคุณประศานต์ อิศรานุวัตร หรือคุณติ๊ดปาล์มเมื่อเดือนมิถุนายนในโอกาสทำบุญวันคล้ายวันเกิด

หญ้าริมถนนที่ต้องตัดแต่งถูกนำไปใช้เป็นอาหารวัว
       นอกจากนี้ ในคราวงานบุญกลางบ้านเมื่อเดือนมีนาคมปีล่าสุด ยังมีประชาชนมาทำบุญไถ่ชีวิตโคในงานอีกเป็นเงินร่วมสี่หมื่นบาท ซึ่งเทศบาลฯ เตรียมไปไถ่ชีวิตโคจากโรงฆ่าสัตว์มาเพิ่มภายในเร็ววันนี้ เนื่องจากขณะนี้ คอกวัวแห่งใหม่ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะคอกวัวเดิมซึ่งใช้หลังคามุงด้วยผ้าไวนิวที่เหลือจากป้ายโฆษณา ได้ชำรุดเสื่อมสภาพลงตามอายุการใช้งาน กอปรกับพื้นที่คอกไม่เพียงพอต่อจำนวนวัวที่เพิ่มขึ้น

วัวที่ชาวบ้านช่วยกันไถ่ชีวิตจากโรงฆ่าสัตว์..เลี้ยงโดยไม่ขาย ไม่ฆ่า
       คอกวัวแห่งใหม่นี้ ได้ออกแบบให้มีโรงเรือนสำหรับเป็นที่อาศัยหลบน้ำค้าง หลบฝนยามค่ำ และกั้นบริเวณโดยรอบคอกวัวด้วยรั้วลวดหนาม ให้วัวได้มีบริเวณไว้เดินสำหรับผ่อนคลาย ไม่แออัด  โดยการทำบริเวณรอบคอกนี้ เพื่อไม่ต้องปล่อยวัวออกทุ่ง ซึ่งทำให้เสียเวลามากพอสมควร และทำให้เจ้าหน้าที่มีเวลาออกไปตัดหญ้าข้างทาง หรือตามแหล่งที่รกไปด้วยกิ่งไม้ใบหญ้า นำกลับมาเป็นอาหารของวัวได้มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการทำบุญไถ่ชีวิตโคกระบือ ที่ต้องการนำวัวเหล่านี้มาไว้ช่วยเทศบาลในการกำจัดเศษผักเศษหญ้า แล้วนำมูลวัวเหล่านี้ไปใช้เป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้ของเทศบาลได้อีกต่อหนึ่ง เป็นการประหยัดงบประมาณการจัดซื้อปุ๋ยลงไปได้มาก ช่วยทำให้ภูมิทัศน์บ้านเมืองเรียบร้อยขึ้น

       และเมื่อได้นำเงินทำบุญไปไถ่ชีวิตวัวจากโรงฆ่าสัตว์มาเพิ่มในเร็ววันนี้แล้ว จะได้แจ้งให้ท่านได้ทราบต่อไปเพื่อร่วมกันอนุโมทนา