ข้อมูลด้านเศรษฐกิจของจังหวัดระยองปี ๒๕๕๒ พบประเด็นน่าสนใจดังนี้
๑. รายได้คนระยองต่อคนต่อหัวต่อปี สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ คือ ๑,๐๐๔,๔๙๔ บาท/คน/หัว/ปี
๒. แต่ในรายได้ที่สูงที่สุดเช่นนี้ มาจากมูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมด้านปิโตรเคมี ปิโตรเลียม เหมืองแร่ เหมือนหิน ถึงร้อยละ ๙๗ ขณะที่มูลค่าการผลิตภาคเกษตรในพื้นที่จังหวัดระยองมีเพียงร้อยละ ๓
๓. พื้นที่ด้านการเกษตรในจังหวัดระยองอยู่ที่ร้อยละ ๖๘ มีแนวโน้มลดลงตลอดเวลา ขณะที่พื้นที่ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ร้อยละ ๓๒ และกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ
๔. พื้นที่อุตสาหกรรมหลัก กระจายตัวในรูปของเขตนิคมอุตสาหกรรม ๘ แห่ง เขตประกอบการอุตสาหกรรม ๕ แห่ง ชุมชนอุตสาหกรรม ๔ แห่ง กลุ่มอุตสาหกรรม ๒ แห่ง ในเขตพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอบ้านฉาง อำเภอปลวกแดง อำเภอบ้านค่าย อำเภอนิคมพัฒนา ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกยางพารา และผลไม้ มีการกระจายตัวหนาแน่น อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอแกลง อำเภอวังจันทร์ อำเภอเขาชะเมา
๕. เราปลูกยางพาราในพื้นที่ถึง ๗๕๒,๒๙๐ ไร่ (ร้อยละ ๖๕) ทุเรียน ๘๐,๕๙๑ ไร่ (ร้อยละ ๗) สับปะรด ๑๖๗,๘๘๐ ไร่ (ร้อยละ ๑๕) ขณะที่มีการทำนาปลูกข้าวเหลืออยู่เพียง ๒๓,๔๕๓ ไร่ (ร้อยละ ๒) และสำหรับพื้นที่ปลูกพืชผัก มีจำนวนน้อยมากจนไม่อาจคำนวณเป็นร้อยละได้
นั่นหมายความว่า โครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรในพื้นที่สามอำเภอหลักอย่างแกลง วังจันทร์ เขาชะเมา เรานิยมปลูกยางพาราที่ราคาดี แต่ไม่ใช่พืชอาหารสำหรับมนุษย์ ปลูกทุเรียนและผลไม้อีกหลายอย่าง อาทิ เงาะ ลองกอง มังคุด ฯ ที่ต้องดูแลรักษากันทั้งปี แต่มีผลผลิตให้เพียงปีละหนึ่งฤดูกาล ซึ่งผลผลิตนั้นออกในระยะเดียวกันทั้งสิ้น เพราะอยู่ในสภาพดินฟ้าอากาศเดียวกัน จึงประสบปัญหาด้านราคาตกต่ำตลอดมา ตรงกันข้ามกับการทำนาที่ให้ข้าว และการปลูกผัก ซึ่งเราต้องรับประทานกันอยู่วันละ ๓ เวลาทุกวันเพื่อยังชีวิตนั้น เรากลับไม่นิยมปลูก แต่เลือกที่จะหันไปพึ่งพาผลผลิตจากจังหวัดอื่น ที่เราไม่อาจได้เห็นกระบวนการในการผลิตว่าสะอาดถูกหลักอนามัยเพียงใด และต้องอาศัยการเดินทางขนส่งนานนับวัน ทำให้ขาดความสด และมีราคาแพงกว่าท้องที่อื่น เนื่องจากในพื้นที่ของเราไม่ยอมปลูกข้าวปลูกผักกัน
เทศบาลตำบลเมืองแกลง จึงตระหนักในข้อมูลประเด็นต่าง ๆ ข้างต้นเหล่านี้ และเห็นว่า โครงสร้างผลผลิตทางการเกษตรต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสม ให้เมืองสามารถพึ่งพาตนเองด้านการมีแหล่งอาหารสำหรับบริโภคในพื้นที่กันเองได้ จึงพยายามส่งเสริมเรื่องการทำนาทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาลเรื่อยมา เนื่องจากสภาพธรณีสัณฐานในหลายบริเวณมีความเหมาะสมเกื้อกูลให้ทำนาปลูกข้าวปลูกผักได้อย่างสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและดินฟ้าอากาศที่เป็นใจ ประชาชนทั่วไปก็จะได้บริโภคผลผลิตที่สะอาดปลอดภัยเพราะทำให้เห็น และมีราคาย่อมเยากว่าการซื้อจากที่อื่นได้อย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน เมื่อได้พิจารณาการขยายตัวขยายพื้นที่ของภาคอุตสาหกรรมที่แทรกซึมไปในหลายอำเภอด้านทิศตะวันตกของจังหวัดระยองเองแล้ว ก็เห็นว่า
เราควรจะช่วยกันรักษาพื้นที่การผลิตภาคการเกษตรของแกลง วังจันทร์ เขาชะเมาเอาไว้ด้วยการทำเกษตรอย่างยั่งยืน ให้อาชีพทางการเกษตรของคนทั้งสามอำเภอทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัด ได้เป็นเครื่องช่วยรักษาสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกื้อกูลต่อการดำเนินชีวิตของเราตลอดไป โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการผลิตในภาคอื่นที่แปลกปลอมและไม่สอดรับกับสิ่งแวดล้อมตลอดจนวิถีชีวิตของคนในพื้นที่แต่อย่างใด