โปรดทราบ

ร่วมแจ้งข่าวสารต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน "เมืองแกลงนิวส์" ได้ที่ muangklangnews@gmail.com เพื่อที่กองบรรณาธิการข่าวจะได้พิจารณานำเผยแพร่ต่อไป

วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

องค์การฯ ก๊าซเรือนกระจก จูงมือสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยพกโครงการ BRESL จาก GEF และ UNDP เข้าพื้นที่ร่วมหารือเมืองแกลงท่ามกลางสายฝนโปรย

       เมื่อวันจันทร์ที่ ๓๐ มกราคมนี้ ดร.จักกนิตต์ คณานุรักษ์  ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาศักยภาพและเผยแพร่องค์ความรู้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก พร้อมด้วยผู้แทนจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้เดินทางมาหารือและลงพื้นที่สำรวจการดำเนินงานในเขตเทศบาลตำบลเมืองแกลง ในโครงการส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานและฉลากประสิทธิภาพพลังงาน Barrier Removal to the Cost -Effective Drvelopment and Implementation of Energy Efficiency Standards and Labeling Project (BRESL)


       ในการนี้ได้เข้าพบนายกเทศมนตรีพร้อมคณะเพื่อชี้แจงโครงการและที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility :GEF) ผ่านทางสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme:UNDP) ซึ่งจะพิจารณาคัดเลือกเมืองจากประเทศจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม บังคลาเทศ ปากีสถาน และไทย เข้าร่วมโครงการ โดยมุ่งเน้นให้อาคารและสถานที่ของเทศบาลได้ใช้สินค้าที่มีประสิทธิภาพพลังงาน อันได้แก่เครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็น มอเตอร์ ๓ เฟส บัลลาสต์ และหลอดคอมแพ็คฟลูออเรสเซ้นต์ และในส่วนของเทศบาลตำบลเมืองแกลงนั้น ได้มุ่งเน้นพิจารณา ๔ พื้นที่หลัก อันได้แก่ อาคารศูนย์การเรียนรู้เรื่องการลดโลกร้อน โรงพยาบาล ตลาดสด และชุมชน 

   ทั้งนี้ คณะได้ลงพื้นที่สำรวจความเป็นไปได้ ณ ศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อม ประจำภาคตะวันออก โรงสีข้าว และโรงคัดแยกขยะภายใต้การสนับสนุนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โรงผลิตน้ำประปาบ้านหนองแหวนของเทศบาล และศูนย์การเรียนรู้เรื่องการลดภาวะโลกร้อน ณ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พระพรรษา หลังจากนี้ จะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเอกสารและพิจารณาปรับโครงการเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ตามความต้องการร่วมกันต่อไป

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

โหลดได้... ขอรับได้กับหนังสือเล่มใหม่.. "ค้นแนวคิด...พบมรรควิธีปรุงเมืองให้น่าอยู่อย่างแยบยล" จากศูนย์ฯ เมืองแกลง

download เนื้อหาตลอดเล่มได้ที่
www.muangklang.com
       ศูนย์ประสานงาน ด้านการจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อม ประจำภาคตะวันออก ภายใต้การดำเนินงานของเทศบาลตำบลเมืองแกลง เปิดตัวหนังสือเล่มล่าสุด "ค้นแนวคิด..พบมรรควิธี ปรุงเมืองให้น่าอยู่อย่างแยบยล" โดยการสนับสนุนและประสานงานจาก Institute for Global Environmental Strategies (IGES) ประเทศญี่ปุ่น สำนักนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในโครงการเมืองต้นแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Environmental sustainable cities model) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

       หนังสือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนา ผู้อ่าน และผู้สนใจทั่วไปได้เข้าใจแนวคิดด้านการจัดการเมืองในมิติต่าง ๆ อาทิ ประโยชน์ของการมีพื้นที่โล่งสำหรับประชาชน  แม่น้ำประจำเมือง...สำคัญอย่างไร  ปัจจัยเสี่ยงของเมือง  เมืองกับความมั่นคงทางอาหาร ฯ และยังได้รวบรวมเรื่องอันว่าด้วย "หลากหลายมรรควิธีในการต่อตีกับขยะ" ไว้ในเล่ม เพื่อไว้ศึกษากระบวนการจัดการของเสียของเทศบาลตำบลเมืองแกลงอย่างเป็นระบบ โดยเทศบาลฯ จะนำหนังสือดังกล่าวซึ่งเลือกใช้วิธีการเขียนอย่างย่อและตรงประเด็นเพื่อการกระชับเวลา ไปสอนนักเรียนและเยาวชนตามโรงเรียนในเขตเทศบาลฯ ด้วยอีกทางหนึ่ง

       ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับหนังสือดังกล่าวได้ที่ งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์การเรียนรู้ฯ เทศบาลตำบลเมืองแกลง  หรือใช้วิธีดาวน์โหลดข้อมูลทั้งเล่มได้ที่ www.muangklang.com

     

posted from Bloggeroid

วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555

"บล็อกดิน" ก้อนแรกผุดแล้ว...เกาะแขนช่วยกันย่ำจนเหนียวแน่นได้ที่...๒๕ มกรานี้เตรียมขนคนเมืองแกลงไปลงแรงถึงแปลงนาเมืองทุ่งควายกิน

ขอแรง...เอาแรง...ใช้แรง...ร่วมแรงทำบ้านดิน
       เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ มกราคม ณ "โรงเรียน โรงเล่น" ของกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ได้นมัสการพระอาจารย์สาย จากวัดวังหิน มาเป็นประธานในการเริ่มต้นทำ "บล็อกดินก้อนแรก" สำหรับนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงเรียน "อยู่เมืองแกลงวิทยา" ที่คาดว่าจะต้องใช้บล็อกดินนี้จำนวนไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ก้อน โดยในครั้งนี้ กลุ่มรักษ์เขาชะเมา ได้นัดหมายชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลทุ่งควายกินและนายกเทศมนตรีพร้อมผู้แทนจากเทศบาลตำบลเมืองแกลงอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็น "เพื่อนที่สะสมเอาไว้" ของกลุ่ม ให้มาร่วมกันย่ำดินและขึ้นก้อนบล็อก

       โอกาสนี้ พระอาจารย์สายได้เทศนาถึงที่มาแห่งคำว่า "แม่พระธรณี" เป็นประเด็นสำัคัญว่าชีวิตมนุษย์เรานี้ล้วนเกิดมาจากดินน้ำลมไฟ พร้อมให้ข้อคิดรวมถึงกล่าวนำำคำขอขมาต่อแม่พระธรณี ก่อนที่จะได้ร่วมกันย่ำดิน เติมน้ำ ผสมแกลบเพื่อให้เกิดความเหนียวแน่นตามคุณสมบัติภายใต้การกำกับดูแลของช่างแก้ว ผู้มากประสบการณ์ จากนั้นจึงนำไปขึ้นรูปซึ่งในครั้งแรกนี้สามารถทำได้รวม ๑๓๒ ก้อน


....มนุษย์ทุกคน...อยู่บนดิน อาศัยดิน จนวันสิ้นลม...กลับคืนสู่ดิน
       หลังจากนี้ เทศบาลตำบลเมืองแกลง เตรียมจะนำชาวเมืองแกลงจำนวน ๔ คันรถขนส่งเมืองแกลง (ขสมก.) เพื่อนำกำลังไปสมทบ ลงแรง เรียนรู้ การทำบล็อกดินในวันพุธที่ ๒๕ มกราคมนี้ เพื่อนำไปทำเป็นผนังโรงเรียน "อยู่เมืองแกลงวิทยา" และสำหรับใช้เป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ เมืองแกลงลดโลกร้อนในลำดับต่อไป


       ขอขอบคุณนางสาวบุปผาทิพย์ แช่มนิล (เจ๊แฟ้บ)  พร้อมคณะ ที่เป็นทั้งแม่งานอำนวยการงานนี้ และเป็นทั้งผู้ให้เนื้อดินจากท้องนาทุ่งควายกินไว้ ณ โอกาสนี้เป็นอย่างสูง

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

เมืองแกลงเร่งเดินหน้าวางท่อส่งน้ำดิบจากคลองวังหว้าเข้าโรงประปาข้่างดับเพลิงแล้ว หวังให้น้ำประปา ทั้งมั่นคงทั้งเสถียรในการบริการประชาชนยิ่ง ๆ ขึ้นอีก

บริเวณโรงสูบเดิมใกล้หอถังสูงน้ำประปา ของ
เทศบาลตำบลเมืองแกลง
       เมื่อวันที่  ๕ มกราคมนี้ เทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้ลงนามในสัญญาจ้างเหมางานวางท่อส่งน้ำดิบพร้อมโรงสูบน้ำดิบในวงเงิน ๑,๗๕๐,๐๐๐ บาท โดยมีตำแหน่งต้นทางที่ริมสะพานคลองวังหว้า (เขื่อนสวนธารเกษม) ถนนสุนทรภู่ มาถึงโรงผลิตน้ำประปาข้างอาคารป้องกันบรรเทาสาธาณภัย

แสดงแผนงานให้บริการน้ำประปาจากโรงผลิตน้ำประปาแห่งที่ ๒
       ทั้งนี้ เพื่อเป็นไปตามนโยบายนายกเทศมนตรีที่ต้องการปรับปรุงพัฒนาให้ระบบการผลิตน้ำประปาเพื่อให้บริการแก่พี่น้องประชาชนชาวเทศบาล ได้เกิดความมั่นคง ความเสถียรมากยิ่งขึ้น โดยนับแต่เริ่มให้บริการน้ำประปามาหลายสิบปี ผู้บริหารทุกชุดได้พยายามพัฒนาระบบการบริการน้ำประปามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ ได้มีการเพิ่มกำลังผลิตจาก ๑๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เป็น ๒๕๐ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ที่โรงผลิตน้ำประปาบ้านหนองแหวน ซึ่งเป็นโรงผลิตน้ำประปาเพียงแห่งเดียวของเทศบาลฯ  ขณะที่มีความต้องการใช้น้ำประปาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ 

แนวคลองวังหว้าและระดับน้ำดิบที่เขื่อนคลองวังหว้า
       เหตุดังกล่าว จึงได้นำโรงผลิตน้ำประปาแห่งเดิมข้างอาคารสำนักงานป้องกันบรรเทาสา่ธารณสภัยที่หยุดการใช้งานมานานกว่า ๑๒ ปีมาปรับปรุงพัฒนาใหม่ ซึ่งได้รับการประสานงบประมาณปรับปรุงระบบผลิตในวงเงิน ๓ ล้านบาท ผ่านนายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๒ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้เล็งเห็นความสำัคัญร่วมกันโดยพร้อมใช้งานได้แแล้ว   และล่าสุด เทศบาลฯ จึงได้เริ่มต้นงานวางท่อน้ำดิบเพื่อส่งจ่ายน้ำดิบจากคลองวังหว้ามายังโรงผลิตแห่งนี้ ซึ่งจะต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ก่อนที่จะเริ่มผลิตน้ำประปาและกำหนดโซนพื้นที่ให้บริการในบริเวณชุมชนใกล้เคียง อาทิ ชุมชนพลงช้างเผือก ชุมชนหนองควายเขาหัก ชุมชนแกลงแกล้วกล้า ชุมชนหนองกระโดง ทั้งนี้ เพื่อแบ่งเบาพื้นที่ให้บริการของโรงผลิตประปาบ้านหนองแหวนลง และเพื่อให้สามารถให้บริการได้เมื่อโรงผลิตน้ำประปาหลักที่บ้านหนองแหวนต้องปิดซ่อมบำรุงหรือในกรณีกระแสไฟฟ้าดับ

       โอกาสเดียวกันนี้ เทศบาลฯ จะได้ประสานกับทางโรงเรียนแกลง วิทยสถาวร เพื่อตัดวางท่อส่งน้ำดิบผ่านถนนสุนทรภู่ ซอย ๗ สำหรับเป็นน้ำต้นทุนแก่โรงเรียนแกลงฯ ได้นำไปใช้ในกิจการต่าง ๆ ของโรงเรียนต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

เครื่องร้อนต้อนรับหนาว..สมเกียรติจากมูลนิธิช่วยเด็กยากจนเมืองแกลง เป่านกหวีดยกพวกพาหอประวัติเมืองแกลงเข้าสู่เฟส ๒ หวังร่วมฉลองบุญกลางบ้าน มีนานี้

       เมื่อวันพุธที่ ๑๑ มกราคมนี้ เวลา ๑๔ นาฬิกา ณ สำนักงานเทศบาลตำบลเมืองแกลง คุณสมเกียรติ อภิญญาชน รองประธานมูลนิธิช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจน อำเภอแกลง ได้นัดหมายคณะทำงานภาคอาสาสมัคร ประกอบไปด้วยคุณธวัชชัย บุญเลิศ  คุณมุก คุณพิมพ์ เจริญสันติสุข  ส.ท.สุรศักดิ์ ประไพสนธิพงศ์  ส.ท.ชาติชาย เพชรพาณิชย์  ส.ท.อชิระ ธารามาศ  พร้อมด้วยนายกเทศมนตรีและเจ้าหน้าที่อีกจำนวนหนึ่งมาประชุมเพื่อพิจารณากรณีการเตรียมหอประวัติเมืองแกลง เข้าสู่ระยะที่ ๒ คือการออกแบบภายในอาคารให้เป็นห้องสมุดและพื้นที่แสดงประวัติความเป็นมาของเมืองแกลง ในบริเวณชั้นล่างและชั้น ๒ ของอาคารตามลำดับ ภายหลังจากที่ได้มีการก่อสร้างหอประวัติเมืองแกลงแล้วเสร็จในระยะที่ ๑ ด้วยรูปทรงของอาคารสถานีตำรวจภูธร อำเภอแกลงหลังเดิม

       ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นและได้เห็นพ้องในหลักการให้มีการจัดการห้องสมุดบริเวณชั้นล่าง โดยกำหนดช่วงวัยของผู้ใช้บริการให้ชัดเจนไว้เพียงกลุ่มเดียวเป็นวัยเด็ก เน้นการจัดกิจกรรมที่สร้่างเสริมและเป็นประโยชน์เหมาะสมกับช่วงวัย  และให้มีการคัดเลือกประเภทหนังสือที่จะนำไปให้บริการในห้องสมุดแทนการนำเข้าหนังสือแบบทั่วไปเพื่อให้เกิดคุณภาพและชวนอ่านมากยิ่งขึ้น โดยมีแนวคิดที่จะให้ห้องสมุดถูกสร้างขึ้นในหัวใจของผู้ใช้บริการแต่เยาว์วัย  

       ส่วนการจัดแสดงประวัติความเป็นมาแห่งเมืองในชั้นที่ ๒ นั้น ในเบื้องต้นจะได้มีการรวบรวมเนื้อหาแล้วนำมาคิดวิเคราะห์เพื่อให้การจัดแสดงมีความเหมาะสมกับขนาดของพื้นที่

       ทั้งนี้ จะพยายามให้สามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงงานบุญกลางบ้านที่จะจัดขึ้นระหว่างวันพุธที่ ๒๑ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๕ มีนาคม ที่จะถึงนี้ โดยบริษัท เอพีน่าอุตสาหกรรม จำกัด จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องการออกแบบและจัดเตรียมวัสดุภายในบริเวณห้องสมุดและอุปกรณ์สำหรับตั้งแสดงงาน "ของรักของหวง"  ควบคู่ไปกับการจัดแสดงภาพวาดจากนักวาดรับเชิญและแวดวงผู้สนใจ 

       หลังจากนี้จะได้มีการนัดหมายการประชุมเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินงานได้ทันตามกำหนดการต่อไป

     

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

คณะทำงานบ้านดินรุดพบ "กลุ่มรักษ์เขาชะเมา"..ขอช่วยผลักดันงานก่อสร้างโรงเรียนอยู่เมืองแกลงฯ และศูนย์การเรียนรู้เมืองแกลงลดโลกร้อน

รูปแบบอาคารที่ใช้ดินเป็นผนัง
       เมื่อวันจันทร์ที่ ๙ มกราคมนี้ เวลา ๑๕ นาฬิกา นายกเทศมนตรีพร้อมคณะได้เดินทางจากสำนักงานเทศาลตำบลเมืองแกลง ตามคำแนะนำของคุณนงพัลค์ จั่นเจริญ ผู้แทนสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อขอเข้าพบคณะทำงานของ "กลุ่มรักษ์เขาชะเมา" ณ ซอยทุ่งควายกิน ๑๖  ทั้งนี้ เพื่อขอคำแนะนำ ปรึกษา และชม "บ้านดิน" ในบริเวณ "โรงเรียน โรงเล่น" ของกลุ่มรักษ์เขาชะเมา

แฟ้บและแก้ว กลุ่มรักษ์เขาชะเมา หัวหมู่ชวนผู้ใหญ่และเด็กทำบ้านดิน
       ในการนี้ ได้พบกับคุณบุปผาทิพย์ แช่มนิล (แฟ้บ) คุณอี๊ด และช่างแก้ว แกนนำในการก่อสร้่างบ้านดินซึ่งได้ให้คำอธิบายหลักแนวคิดที่มาของการสร้างบ้านดินเพื่ออยู่อาศัย เทคนิคการก่อสร้างบ้านดิน วัสดุที่ใช้เมื่อเปรียบเทียบกับวัสดุก่อสร้างชนิดอื่น ปัญหาและอุปสรรคของการก่อสร้างบ้านดิน โดยให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า การก่อสร้างบ้านดินของกลุ่มรักษ์เขาชะเมานั้น ต้องอาศัยวิธีการสะสมเพื่อนหรือเพื่อนบ้านไว้เป็นพื้นฐานสำคัญ จากนั้นจึงค่อยระดม "จิตอาสา" มาร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้าง

เจ้าของบ้านบอกเล่าและนำชมพร้อมสัมผัส
       จากการพบกันครั้งนี้ คณะทำงานจากเทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้เรียนเชิญกลุ่มรักษ์เขาชะเมาลงพื้นที่บริเวณหัวงานก่อสร้างในวันศุกร์ที่ ๑๓ มกราคมนี้ เวลา ๑๗ นาฬิกา ซึ่งได้เริ่มต้นก่อสร้างแล้ว เพื่อขอคำแนะนำต่อไป โดยมีความมั่นใจที่จะ้เดินหน้าการก่อสร้างอาคารศูนย์ลดโลกร้อน และอาคารร้านค้าชุมชน ณ บริเวณสนามกีฬา ซึ่งมีแบบแปลนผนังเป็นบ้านดิน และจะใช้อาคารทั้งสองหลังดังกล่าวในการเปิดการเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาล ปีที่ ๑ ก่อนในปีแรก ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

       ขอขอบคุณกลุ่มรักษ์เขาชะเมา..ชนกลุ่มเล็กผู้โยงใยงานเพื่อโลกสดใสอย่างหลายหลากไว้ ณ โอกาสนี้

วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

คนบ้านทะเลน้อย ไม่กระฉึกกระฉักเชื่องช้า..หลังฤดูทำนา เร่งปลูก "ผักกระฉั่บ" เพื่อนำเมล็ดไปเพาะเป็นต้นอ่อนขาย...สร้่างรายได้งาม

ลักษณะแปลงผักกระฉั่บหลังฤดูเกี่ยวข้าวแล้ว และลักษณะต้นอ่อน
       หลังสิ้นสุดฤดูกาลการทำนาปีจนเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกในบริเวณพื้นที่ลุ่มด้านทิศใต้ของเมืองแกลง ย่านหมู่บ้านทะเลน้อยไปเมื่อราวเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องถึงเดือนธ้ันวาคมที่ผ่านมาแล้ว ขณะนี้ กลุ่มพี่น้องชาวบ้านทะเลน้อยได้ปรับที่นามาเป็นแปลงปลูกต้นผักกระฉั่บ เพื่อจะได้สะสมเมล็ดไว้สำหรับนำไปฝังทรายเพื่อรองอกเป็นต้นอ่อนสำหรับนำไปจำหน่ายอีกทีหนึ่ง

จากแปลงนาสู่การแช่เมล็ดให้เปลือกอ่อนลงแล้วนำมา
เพาะในแปลงปลูกในร่ม
       โดยกระบวนการขั้นตอนเหล่านี้ เริ่มแต่นำเมล็ดพันธุ์ส่วนหนึ่งไปหว่านในที่นาหลังย่างเข้าสู่ฤดูหนาว จากนั้นใช้เวลาปลูกจนเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ได้ในระยะเวลาประมาณ ๖ เดือน นำเมล็ดไปแช่น้ำอีกระยะหนึ่ง แล้วนำเมล็ดไปฝังทรายในแปลงปลูกซึ่งเตรียมไว้ในที่ร่ม เพื่อให้เมล็ดงอกเป็นต้นอ่อนซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้แสงแดดจ้าอีกภายในระยะเวลาประมาณ ๒ สัปดาห์ ก็สามารถนำต้นอ่อนไปจำหน่ายได้ถึงราคากิโลกรัมละ ๕๐ ถึง ๘๐ บาท 

ย่านปลูกผักกระฉั่บ...บ้านทะเลน้อย
       "ผักกระฉั่บ" นี้ เป็นผักขึ้นเฉพาะพื้นที่บริเวณด้านทิศใต้ของเทศบาลตำบลเมืองแกลง ปัจจุบันมีการรวมตัวกันเป็นชมรมผู้ปลูกผักกระฉั่บ โดยได้รับการส่งเสริมการปลูกจากหลายหน่วยงานเรื่อยมา  จากเดิมที่หาเก็บต้นอ่อนเอาตามท้องนาหลังฤดูเกี่ยวข้าว ได้เปลี่ยนมาเป็นเพาะต้นอ่อนจากเมล็ดในแปลงเพาะต้นอ่อนในร่ม มีผู้นิยมทำกันมากขึ้น เนื่องจากมีราคาค่อนข้างดี มีคุณค่าของความมีธาตุอาหารที่ดี  สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลายอย่าง อาทิ จิ้มน้ำพริก ผัดน้ำมันหอย ทำแกงส้ม ฯ  หาซื้อได้เฉพาะตลาดสดในเขตเมืองแกลงเท่านั้น


ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/notes/pojjana-klongjai/%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2-%E0%B8%A16-%E0%B8%95%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99-%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%87-%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%87/224832644213402

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณพจนา คล่องใจ ไว้ ณ โอกาสนี้

วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

"ข้าวแกลง" ข้าวกล้องทุกเมล็ดจากดินฟ้าอากาศของเมืองแกลง..ขึ้นอีกชั้น...อัดด้วยถุงสูญญากาศ เก็บรักษาได้นาน

       เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคมนี้ กองทุน "ข้าวแกลง" ได้สั่งซื้อเครื่องอัดสุญญากาศจำนวน ๑ เครื่อง มูลค่า ๔๕,๐๐๐ บาทเพื่อนำมาใช้ในการบรรจุผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องตรา "ข้าวแกลง" เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีรูปลักษณ์ที่สวยงามมาตรฐานยิ่งขึ้น โดยเฉพาะวัตถุประสงค์ที่จะให้ข้าวกล้องในถุงพลาสติคอยู่ในสภาพสูญญากาศ สามารถถนอมและยืดอายุเมล็ดข้าวไว้ได้นาน และป้องกันผลกระทบจากมอดแมลงต่าง ๆ ที่จะเข้าไป เครื่องบรรจุข้าวถุงสูญญากาศนี้ สามารถใช้ได้ตั้งแต่ถุงข้าวขนาด ๑ กิโลกรัม ถึง ๕ กิโลกรัม

       กองทุน "ข้าวแกลง" ซึ่งดำเนินงานเริ่มต้นจากการระดมหุ้นมาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๓ หุ้นละ ๑๐๐ บาทของบรรดาสมาชิกซึ่งมีเจ้าของหุ้นทั้งในนามของชุมชน ๑๓ แห่ง และเจ้าของหุ้นรายบุคคล เพื่อนำทุนมาใช้ในการจำหน่ายข้าวกล้องที่เกิดจากการส่งเสริมให้ชาวเมืองแกลงกลับมาเพาะปลูกข้าวที่เป็นอาชีพดั้งเดิมของบรรพชนมาช้านานและได้ร้างราเสื่อมความนิยมลงไปในช่วงระยะหลังหลายสิบปี เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งหันไปประกอบอาชีพอื่น โดยตลอดกว่า ๓ ปีที่ผ่านมานี้ ที่เทศบาลตำบลเมืองแกลงได้เข้าไปให้คำแนะนำสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำโครงการสร้่างความมั่นคงทางอาหารแก่เมืองเรื่อยมา ทำให้มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพิ่มมากขึ้น และยังก่อตั้งกองทุน "ข้าวแกลง" เพื่อนำทุนมาใช้ในการทำตลาด การช่วยพี่น้องเกษตรกรทำนาได้เพิ่มช่องทางในการจำหน่ายข้าว เพื่อให้ขายข้าวได้ราคา รวมถึงการสั่งเครื่องสีข้าวมาสีข้าวเปลือกที่ชุมชนดอนมะกอก และการสนับสนุนโรงสีที่เหลืออยู่ ๒ แห่ง ที่ตำบลวังหว้า และตำบลคลองปูนของชาวบ้านให้เพิ่มการผลิตข้าวมากยิ่งขึ้น เพื่อไปกระตุ้นนาร้างให้กลับมาพลิกฟื้นสร้่างรายได้จากดินและน้ำกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในที่สุดแล้วหากพื้นที่ข้างเคียงเทศบาลตำบลเมืองแกลง ประชาชนมีรายได้จากการเกษตรที่ดี ย่อมส่งผลถึงการค้าขายที่คึกคักในตลาดสามย่านติดตามมา

       ท่านที่มีความประสงค์ในการเป็นเจ้าของหุ้นกองทุน "ข้าวแกลง" กองทุนสำหรับคนรักสุขภาพร่างกายและต้องการให้เกิดความมั่นคงทางอาหารสำหรับเมืองแกลง สามารถติดต่อได้ที่กองคลัง เทศบาลตำบลเมืองแกลงในวันและเวลาทำการ 

เร่งวางท่อประปาเข้า "อยู่เมืองแกลงวิทยา" และสนามกีฬา...ชาวบ้านสองฝั่งทางจ่อยื่นขอใช้น้ำ..คาดพร้อมบริการก่อนต้นกุมภานี้

กองการประปา เทศบาลตำบลเมืองแกลงรับข้อสั่งการจากนายกเทศมนตรี เร่งวางท่อน้ำประปาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด ๖ นิ้วตรงเข้าสถานที่ตั้งโรงเรียน "อยู่เมืองแกลงวิทยา" และสนามกีฬากลางนองเทศบาล โดยมี ๓ กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ การให้บริการสำหรับเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล ปีที่ ๑ซี่งเทศบาลฯ จะเปิดการเรียนการสอนในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้เป็นกลุ่มแรก ให้บริการแก่ประชาชนสองฝั่งถนนท่ายายบุญ บ้านบนเนิน และถนนแกลงกล้าหาญซึ่งเดิมใช้น้ำจากบ่อบาดาล และให้บริการประชาชนผู้ไปใช้บริการสนามกีฬาและสวนสาธารณะที่แต่เดิมใช้น้ำจากสระน้ำดิบในบริเวณดังกล่าว


ทั้งนี้คาดว่า เทศบาลฯ จะสามารถวางท่อประปาแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคมนี้ จึงขอให้ประชาชนบริเวณย่านถนนท่ายายบุญ บ้านบนเนิน และถนนแกลงกล้าหาญที่มีความประสงค์จะใช้บริการน้ำประปายื่นความประสงค์ของท่านได้ที่กองการประปา เทศบาลตำบลเมืองแกลงต่อไป

posted from Bloggeroid