โปรดทราบ

ร่วมแจ้งข่าวสารต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน "เมืองแกลงนิวส์" ได้ที่ muangklangnews@gmail.com เพื่อที่กองบรรณาธิการข่าวจะได้พิจารณานำเผยแพร่ต่อไป

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

คนหัวซอยยายนาง ชุมชนบ้านแหลมยาง เขยิบคั่วแกงเป็ดลูกกล้วยลือชื่อ กระเดียดกระจาดผักสดแตะตลาดกลางแกลงแล้ว


  


  

       หลากลีลาพาใจไปตามฝันกับพุธที่ ๒๗ นัดที่ ๑๒ นี้เริ่มต้นที่กลุ่มคนใจดีหมู่เจ๊ติ๋มเกษมพานิชพาเอารังนกปรุงกับแปะก๊วยมาขายกันถ้วยละสามสิบ ตั้งใจรวมเงินที่ได้ไปให้โรงพยาบาลแกลงหมายทำบุญ..ขอบุญหนุนนำให้งามถึงพันปี......
       อีกหนึ่งโครงการดี ๆ กับผักสดจากโรงเรียนชำนาญสามัคคีฯ ชนิดที่ท่านผอ. ต้องขอมาชื่นชมอมยิ้มกับลูกศิษย์แตะขอบแคร่.....

       ไอ้เสือยิ้มยากอย่างคนเยอรมันจาก GIZ ที่เลือกวันมาทำงานกับเมืองแกลงเป็นวันพุธ มาฟอร์มหลุดปล่อยยิ้มกับผลไม้และขนมรสชาดสารพัด ส่วนแหม่มเยอรมันเธอดีใจได้เมล็ดผักกลับไปเบอร์ลิน แม้ที่โน่นต้องรอถึงพฤษภากว่าจะปลูกได้ เธอยังไม่ยักจะท้อ.....
       กองสาธารณสุขฯ รุดตรวจสารตกค้างในผักกันถึงที่ ข่าวดีไม่มีสารพิษตกค้าง  แถมยังโชว์ถังขยะประดิษฐ์จากขวดยาคูลท์ พร้อมเชิญชวนให้ท่านแยกระหว่างขยะสด กับขยะทั่วไป......

       ติดใจน้ำหมักมูลไส้เดือนที่ซื้อไปใช้แล้วเห็นผล... คนจากสมาคมฌปนกิจสงเคราะห์อ.แกลง เธอหยิบรวบที่เดียวสี่ขวด เพราะที่นี่ไม่มีถุงให้ เดินเอาไปใส่รถแล้วกลับมาเอาใหม่ ทำเอาคนขายชื่นใจ ๆ .......
       ฝ่ายแม่ยายนายกจำเนียรที่ทำสลิ่มรวมมิตร และสาคูอยู่หน้าโรงหนังสามย่านรามาแบบตำนานเรียกพี่ที่รู้จักกันดีค่อนตลาด ขยับทำสาคูมาขายก่อน เพราะเครื่องมือทำสลิ่มรวมมิตรมันไปหมดแล้ว...

       เปิบข้าวบนใบตอง หม่ำข้าวบนใบบัว บนพื้นสนามหญ้า ประหนึ่งสูงสุดคืนสู่สามัญยังไงชอบกล ออกรสทั้งอาหารและยิ้มชวนหัว
       ทัพครัวบ้านแหลมยางเขยิ้บ เขยิบเข้ามาใกล้ ๆ หลายรายมากขึ้น ๆ ทั้งผัก ทั้งขนม และที่รอให้มาชมมาชิมกันนั้นคือแกลงเป็ดแหลมยางใส่กล้วยดิบ.. หร่อยไม่หร่อยไม่รู้ ได้แต่ยืนน้ำลายสออยากขอราดข้าวเพิ่มอีกซักจาน


I blog with BE Write

วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แปลงแสงเป็นกระแสไฟฟัาขนาด ๑๐ แอมป์ พร้อมจ่ายเข้าศุขศาลาเยียวยาโลกร้อน เมืองแกลงทั้งสี่อาคารแล้ว

 


       หลังจากใช้เวลาราวสองวันในการเชื่อมตัดเหล็กทำโครงและขึ้นแผงโซล่าร์เซลขนาด ๑๒๕ วัตต์ จำนวน ๑๘ แผ่นไว้บนหลังคากระเบื้องว่าบ้านดินสำเร็จ และทดสอบกระแสไฟฟ้าที่ได้จากแบตเตอรี่หมดอายุซึ่งนำมาปรับเติมกรดใหม่แล้ว เทศบาลฯ ยังได้ติดตั้งมิเตอร์วัดหน่วยกระแสไฟฟ้าที่ได้เพื่อจัดเก็บเป็นข้อมูลสำหรับขยายผลต่อไป

       เป้าหมายสำคัญคือการแปลงแสงให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วจ่ายเข้าหมู่เรือน "ศุขศาลาเยียวยาโลกร้อน" ทั้งสี่หลังทั่วบริเวณนี้ บวกรวมกับปั๊มน้ำขนาด ๒ แรงม้าอีกสองเครื่องที่ใช้รดน้ำต้นไม้ เพื่อความประหยัด และเพื่อให้เป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกสำหรับวันที่ราคากระแสไฟฟ้าจากพลังงานก๊าซธรรมชาติ พลังน้ำ และพลังถ่านหินมีแต่จะแพงขึ้น ๆ ทั้งแผ่นดิน ด้วยวัตถุดิบลดลง ไม่นับรวมนโยบายจากฝ่ายการเมืองที่ไม่เคยสร้างความสบายใจให้ฝ่ายผู้เลือก

       นันท์ ภักดี ผู้เชี่ยวชาญในการทำเรื่องไฮเทค ให้โลว์เทค...ผู้เห็นว่าต้นทุนสำคัญอย่างหนึ่งของเกษตรกรคือค่าพลังงานเหล่านี้ เดินทางมานอนค้างอ้างแรมอยู่เมืองแกลง ๒ คืน ประสาคนธุระน้อย แต่มีงานมาก คราวนี้มอบบทเรียนที่เขียนบทกระดาษกล่องไม่เพียงแต่กองช่างที่นี่เท่านั้น แต่ยังมีกองช่างอีกหกคนจากเทศบาลเมืองทุ่งสง นครศรีธรรมราช ที่เดินทางกลับมาใหม่โดยทิ้งช่วงเพียงสองวัน ภายหลังจากที่นายกเทศมนตรีทรงชัย แห่งทุ่งสงเดินทางมาเห็นกับตาแล้วรอบหนึ่งเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ไม่นับรวมช่างไฟบ้านในพื้นที่ ที่เกาะติดเอาความรู้อยู่ตลอดเช่นกัน

       ศุขศาลาเยียวยาโลกร้อน เมืองแกลง คือศูนย์การเรียนรู้ทั้งด้านสภาวะโลกร้อน แนวทางการต่อกร และด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางศิลปกรรมประจำถิ่นเมืองแกลงในส่วนของเรือนพักอาศัยที่สร้างจากเนื่อดิน ชิ้นไม้ และคอนกรีต โดยจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ ๒๒ มีนาคม เวลา ๙ นาฬิกาที่จะถึงนี้


I blog with BE Write

วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แวดวงวาระเด็กและเยาวชนเมืองแกลงเดินหน้างานต่ออีกหลายส่วน





    คณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยาจัดประชุมขึ้น พลันที่คณะกรรมการฯ ชุดก่อตั้งสิ้นสุดวาระลง โดยที่ประชุมให้เพิ่มจำนวนคณะกรรมการขึ้นอีกเพื่อความหลากหลายทางความคิดเห็น และยังขอให้เทศบาลฯ นัดประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจในทิศทางที่มาที่ไปของการก่อตั้งโรงเรียนขึ้นอีกคำรบหนึ่ง นอกจากนี้ยังขอให้เพิ่มการเล่านิทานขึ้นอีกเพื่อให้เด็กคิดสร้างจินตนาการต่อไป

       ด้านศ.ดร.เยาวพา เดชะคุปต์ ที่ปรึกษาด้านการออกแบบหลักสูตรสำหรับเด็กปฐมวัยพร้อมคณะลงพื้นที่เมืองแกลงสี่วันเมื่อต้นสัปดาห์นี้ เพื่อพัฒนาการประเมินคุณภาพการศึกษาและอบรมเพิ่มเติมกิจกรรมประจำวันแก่ครูผู้สอน ด้วยในปีการศึกษาใหม่นี้ เทศบาลฯ จะเปิดรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ ๑ ขึ้นใหม่อีกรุ่นหนึ่ง และเปิดรับในระดับประถมศึกษาปีที่ ๑ อีก ๑ ห้องเรียน โดยมีค่าใช่จ่ายต่าง ๆ เทอมละ ๔๕๐๐ บาทตามมนิที่ประชุมคณะ

       ข้ามฟากไปที่คณะกรรมการกองทุน สปสช. อนุมัติโครงการสนับสนุนกีฬามวยไทยแก่ครูสมศักดิ์ สิงห์เขื้อเพลิง โดยขณะนี้ได้จัดซื้ออุปกรณ์มวยเพื่อใช้ฝึกซ้อมเยาวชนแล้ว และได้รับการสนับสนุนด้านสถานที่ฝึกซ้อมจากโรงเรียนแกลง วิทยสถาวรที่ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้       ด้านศ.ดร.เยาวพา เดชะคุปต์ ที่ปรึกษาด้านการออกแบบหลักสูตรสำหรับเด็กปฐมวัยพร้อมคณะลงพื้นที่เมืองแกลงสี่วันเมื่อต้นสัปดาห์นี้ เพื่อพัฒนาการประเมินคุณภาพการศึกษาและอบรมเพิ่มเติมกิจกรรมประจำวันแก่ครูผู้สอน ด้วยในปีการศึกษาใหม่นี้ เทศบาลฯ จะเปิดรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ ๑ ขึ้นใหม่อีกรุ่นหนึ่ง และเปิดรับในระดับประถมศึกษาปีที่ ๑ อีก ๑ ห้องเรียน โดยมีค่าใช่จ่ายต่าง ๆ เทอมละ ๔๕๐๐ บาทตามมนิที่ประชุมคณะกรรมการ

       ฝ่ายงานก่อสร้างอาคารเรียนหลักของโรงเรียนอยู่เมืองแกลงที่มีเป้าหมายให้ทันเปิดใช้งานในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ขณะนี้การติดตั้งระเบียงลูกแก้วที่มีรูปทรงเฉพาะตัว ที่ต้องสั่งทำขึ้นเป็นพิเศษใกล้จะแล้วเสร็จทั้งสามชั้น และเริ่มทดสอบการลงสีเพื่อให้ได้ตามเฉดสีที่ออกแบบไว้ต่อไป






I blog with BE Write

วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ก่อนสิ้นกุมภา.."บ้านย่า" ได้เห็นหน้าเห็นหลังทันการ งานตกแต่งนิทรรศการพร้อมรับช่วงเข้าพื้นที่ทันที



       "บ้านย่า"...เรือนสองชั้น กว้าง ๑๖ ลึก ๖ เมตรพร้อมทางเดินเชื่อมกับเรือน "บ้านก๋ง" ที่ได้เริ่มลงมือยกกันมาแต่ต้นเดือนมกรานี้ด้วยการระดมช่างจำนวนมาก ขณะนี้เหลือเพียงงานติดตั้งประตูหน้าต่างบานเฟี้ยมหลังลงสีรักษาเนื้อไม้จนเรียบร้อยก่อน งานตกแต่งบันได งานปรับภูมิทัศน์ด้านหน้าและหลังอาคารเท่านั้น เทศบาลฯ มั่นใจพร้อมส่งมอบพื้นที่ให้ทีมสถาปนิกและช่างตกแต่งภายในได้ทันก่อนสิ้นกุมภานี้

       ภายในอาคารทั้งสองหลังรวมถึงบ้านดินหลังใหญ่ บ้านดินส่วนหน้าที่กำหนดให้เป็นร้านค้าชุมชนนี้ ภายหลังดำเนินการแล้ว จะรวมเรียกหมู่อาคารเหล่านี้ว่า "สุขศาลาเยียวยาโลกร้อน" เพื่อให้ผู้เข้าชมทุกรุ่นวัยได้เข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และหนทางในการร่วมมือกันบรรเทาปัญหา

       มาตรการหนึ่งจากการลงพื้นที่วิจัยพบว่า ด้วยการดำรงสภาวะของการ "อยู่อย่างแกลง" ดังเช่นวิถีชีวิตเดิมที่ผ่านมา คงอาชีพเดิมที่พึ่งพาดิน น้ำ ฟ้า (ฤดูกาล) ไม่ผูกภาพความเจริญไว้กับการลงทุนใหญ่ ๆ ที่ไม่ตอบสนองพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อสังคมในทางเสียหาย แต่นำพาการค้ารายปัจเจก คนพื้นถิ่นสามารถมีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองได้  ไม่เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้ไปทำหน้าที่อื่นจนขาดสมดุลย์ จะช่วยค้ำจุนบ้านเมืองให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ร่มเย็นเป็นสุขได้สืบต่อไป

       นิทรรศการดังกล่าวจะแล้วเสร็จพร้อมทำพิธีเปิดในวันศุกร์ที่ ๒๒ มีนาคมนี้ในช่วงเทศกาลงานวุญกลางบ้าน ปีที่ ๑๐ ก่อนที่จะเปิดให้ผู้สนใจได้เข้าศึกษาเรียนรู้แลกเปลี่ยนกันต่อไป


I blog with BE Write

วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ตลาดกลางแกลงพุธที่ ๒๐ นี้ เป็นนัดที่ ๑๑ ...เชิญมาสุขศาลาเยียวยาความเหงา...ข่าวว่ามีงานสานตะกร้าสานเสื่อช่างเหลือใจ และผู้แทน GIZ จากเยอรมันจะขอมา

 


       หอมเครื่องแกงมาแต่ไกลตั้งแต่ลงจากรถ ที่ไหนได้เป็นทอดมันไม้เสียบย่างเตาถ่านไฟอ่อน ๆ ของคนบ้านทะเลน้อยเจ้าเก่านี่เอง  ผิวที่สุกมากเพราะโดนไฟ กับทอดมันเนื้อในที่สุกกำลังพอดี ๆ ทำให้อยากได้ข้าวสวยควันฉุยสักจานคงจะดีไม่น้อย
       เทพีบานฉ่ำจากเวทีประกวดนางนพมาศเมืองแกลง...ป้าแจ๋ว แห่งร้านหนังสือนารีรัตน์ เดินมาในชุดงามหวามใจ พร้อมชูผลระกำร้อยสายเชือกกล้วยให้ดู ยิ้มพลางบอกว่าไม่ได้เห็นแบบนี้มาหลายสิบปีแล้ว แต่ยังจำได้... เราก็สงสัยว่ามันแปลกตรงไหน เพราะไม่เคยเห็นมาก่อนเลยด้วยซ้ำ

       นี้ก็ไม่ได้สนใจกับรสหวานของอ้อยควั่นสักเท่าใด ได้แต่อุ้มลูกยิ้มชอบใจกับก้านไม้ไผ่เสียบเหลาปลายบางอ่อนให้โง้งงอนใช้เสียบอ้อยควั่น ให้แลดูสวยงามทั้งยังขยับไปมาได้ เขาเรียกว่ารสหวานหรือจะเปรียบปรานงานหัตถศิลป์....เน้อะ
      ยังคงชอบใจที่ได้เห็นบรรดานักเรียน เยาวชนมาช่วยแม่ขายของที่ตลาดกลางแกลงแห่งนี้เสมอ ในภาพ...เนตรนารีคนนี้ตามแม่เอ๋จากโรงไม้เอสแอลพาราวู้ดมาขายกล้วยแขก ฝ่ายยายก็อดตามมาดูหลานไม่ได้  เมื่อพบหน้าก็ยิ้มกระจายพลางบน ๆ ไป ว่าแม่เอ๋อยู่โรงไม้ยางดี ๆ ไม่ชอบ แต่ชอบพาลูกออกมาฝึก "วิชากัน" (อด) อย่างนี้ประจำ

       ข้ามไปฝั่งด้านใต้ของเมืองแกลงย่านบ้านพลง บ้านทะเลน้อยที่ดินน้ำยังอุดม และไม่ถูกเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้ประโยชน์จากที่ดินไปมากนัก กุ้งหอยปูปลายังมีชุก จนชาวบ้านเขาเอาปลากะพงมาทำปลาเค็มเพื่อถนอมไว้ให้ได้นานและมีรสชาดมากกว่าเก่า....ขณะที่คลองด้านทิศเหนือของเมืองที่แคบกว่าตื้นกว่า อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการรับน้ำเสียที่บำบัดไม่ได้ตามมาตรฐานของสถานประกอบการขนาดใหญ่อยู่หลายแห่งยามนี้ตามที่พอได้ยินอยู่เนือง ๆ ว่ากุ้งหอยปูปลาชักจะหาลำบากขึ้นทุกวัน ๆ 

       ตบท้ายกับคนกลัวป่วย...ลุงจุด ครูดนตรีไทยที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมายจากซอยอริยคุณ และมนตรี หนุ่ม(เหลือ) น้อยจากแยกภิบาลพัฒนา  ไม่เพียงขยันออกกำลังกาย แต่ยังตั้งใจมาซื้อหาผักดี ๆ ทุกนัดกลับไปรับประทานประสาคนเคมีตรงกัน...ระหว่าง "สองวัย หัวใจเดียวกัน" กับ "สองใจ ในวัยเดียวกัน" ท่านว่าอันไหนจะใกล้เคียงกว่ากับคนคู่นี้มากกว่า


I blog with BE Write

วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทุกหน่วยเกี่ยวข้องในงานบุญกลางบ้าน พร้อมแล้วสำหรับการเข้าสู่การเตรียมงาน ปีที่ ๑๐




พุธที่ ๑๓ กุมภา เทศบาลฯ จัดประชุมเตรียมงานบุญกลางบ้าน โดยกำหนดจัดงานขึ้นระหว่างวันอาทิตย์ที่ ๑๗ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มีนาคมที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ ในวันอาทิตย์ที่ ๑๗ มีนา เวลา ๑๖.๓๐ น. เป็นต้นไป จะได้กระทำพิธีเปิดสนามกีฬาและสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พระพรรษาอย่างเป็นทางการหลังจากเข้าพัฒนามาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๔๗  พิธีจะจีดขึ้นบริเวณลานเอนกประสงค์ศาลา ๙ เหลี่ยมกลางสระน้ำ 
ส่วนตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๑๘ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มีนาคม จะจัดงานบุญกลางบ้าน ณ บริเวณท่าน้ำศาลาต้นโพธิ์ ซอยศรีประชุมชล ถนนสุนทรโวหาร เรื่อยไปจนถึงลานทุ่งเมืองแกลงเช่นทุกปี

และในโอกาสครบ ๑ ทศวรรษงานบุญกลางบ้านในปีนี้ ได้กำหนดชื่อตอนงานคือ "สุวารีลินลาศ...เลื่อมเรืองศุภมาส...แจ่มเพ็ญโพยมบน"  เพื่อได้ร่วมกันตระหนักถึงบ้านเมืองที่มีสายน้ำอันงดงามอย่างคลองประแสไหลลินลาศเลื่อนผ่านคืนวันอันรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้ เปรียบได้ดังแสงจันทร์นวลในท้องนภาที่สาดแสงมาอยู่ทุกคืนวันดุจกัน

ขณะที่บริเวณหน้าหอประวัติเมืองแกลง จะเปิดพื้นที่สำหรับนักเรียน เยาวชน และผู้สนใจทั่วไปได้มาแสดงออกถึงขีดความสามารถเฉพาะตัวที่ตนถนัดตลอดค่ำคืนของการจัดงานเพื่อเฟ้นหาสุดยอด Muangklang Talent  ส่วนในหอประวัติฯ จะมีการจัดแสดงภาพถ่ายในหัวข้อ "ไป่รักใคร เท่ารักเธอ..เมืองแกลง" ทั้งระดับตากล้องมืออาชีพ และผู้รักการถ่ายภาพที่สามารถนำภาพที่ตนเองชอบมาร่วมจัดแสดง

ส่วนภาคการแสดงของชุมชนและชมรมต่าง ๆ ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดการแสดงมาเองได้เป็นอิสระโดยคงความสวยงาม อนุรักษ์วัฒนธรรมไทยเพื่อเป็นที่พอใจให้ความสุขแก่ผู้ชม

ความคืบหน้าจะนำเสนอเป็นลำดับ ๆ ในโอกาสต่อไป


  


I blog with BE Write

วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ของแปลก...มาแปลก.. เห็นแล้วชวนชื่นใจในตลาดกลางแกลง...(พบกันพุธที่ ๑๓ กุมภา...เป็นนัดที่ ๑๐)

  

    เริ่มจาก มะนาวยักษ์ ของเจ๊ติ๋ม ขนาดใหญ่ผิวคล้ายเท่าลูกฝรั่ง   ขืนเผลอถูกหลอกให้กินมีหวังเข็ดฟันเแรี้ยวปรี๊ดแน่นอน เห็นแล้วอยากเรียกว่า "มะนาวครก" เหลือเกิน ไม่รู้ผ่าเหล่าผ่ากอมาได้ไง.... 
    ถือยืนโชว์อย่างภาคภูมิหลังซื้อได้กับลุงยศ ไฟฟ้าฯ แกลง...กับ " ไม้กวาดตากิม" ที่เอากิ่งต้นตากิมมามัดรวมกัน เพราะพิเศษตรงที่กิ่งมันแข็งและเหนียว ใช้กวาดลานดินได้สบายมือ แต่ที่แน่ ๆ คือ ไม่แก่คราวลุงจริง จะไม่รู้จักซื้อไม้กวาดตากิมนะเนี่ย....

    ปลากะพงหลงเบ็ดตัวนี้หนักเกินขนาดจานเปลไปหลายเท่า เพราะหนักถึง ๘ กิโลยกมือเดียวแทบไม่ขึ้น จับจากสระริมน้ำคลองประแสย่านทุ่งพลงฯ ด้วยการตกเบ็ด เพราะเขาไม่ได้ขุนด้วยอาหารเม็ด ปล่อยมันโตธรรมชาติ ให้ปลาข้างเหลทองบ้างเป็นครั้งคราว...สนนราคาแบบไม่ต้องต่อราคาที่หนึ่งพันบาทแบบเต็มใจทั้งสองฝ่าย
    มะลิริมทางข้างตลาดกำลังแตกดอก นักเรียนเก็บไปไหว้พระแล้วยังเหลืออยู่มาก มันสมบูรณ์ด้วยปุ๋ยหมักนี่แหละ ท่านใดสนใจแวะเก็บกลับไปถวายพระเชิญได้ ๆ 

    เด็ก ๆ ตัวน้อย ๆ จำนวนไม่น้อยทั้งตามพ่อแม่มาตลาด ทั้งนักเรียนที่นี่ ต่างรอวันกลางสัปดาห์เพื่อมานั่งระบายสีอยู่ใกล้ ๆ จากการผสมกันไปมาระหว่างตลาด โรงเรียน สนามกีฬา สวนสาธารณะ จนรู้สึกประหนึ่งว่ามันเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ชีวิตของชาวเมืองแกลงที่ได้เห็นกันล่ะ
    ตบท้ายกับหัวหมู่ทะลวงปลูก จากฟากข้างโรงเรียน...ชำนาญสามัคคีวิทยา สามแยกประแส ชูธงนำหน้าพาพืชผักจากแปลงปลูกในโรงเรียนมาวางขาย มันช่างเท่ห์สุด ๆ เพราะพ่อค้าแม่ขายยังแต่งชุดนักเรียนอยู่เลยนี่แหละ...
    
    เรียนทั้งวิชาการ และวิชากัน (อด) พร้อมกันไป คือความยิ่งใหญ่ของการจัดการเรียนการสอนเพื่อการมีภูมิชีวิตในอนาคตข้างหน้าครับ....(โรงเรียนใดประสงค์พื้นที่ฝึกค้าขายแก่นักเรียนติดต่อได้ครับ)
    


I blog with BE Write

วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

๓ เรื่องราว กับ ๒ ความรู้สึกตรงกันข้ามในรอยทาง... "เมืองดำเนิน"

  

       อดใจไม่ไหวที่จะเล่าถึงอดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๗ ทางเกวียน นามไพฑูรย์ บุญส่ง ผู้มีบ้านเรือนตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำคลองประแส..ความที่แกดำรงดำเนินชีวิตแอบอิงอยู่กับผลผลิตพืชผักที่หล่อรวมกันมาจากดิน น้ำ และปุ๋ยที่หมักขึ้นมาเองจนก่อเกิดเป็นรายได้ ขณะที่มีต้นทุนรายจ่ายที่ต่ำ...ล่าสุด มารับลูกหมูสี่ตัวจากเทศบาลฯ ตั้งใจไปเลี้ยงในบ่อตะพาบเดิมหมายให้มันผลิตปุ๋ยคอกไว้บำรุงพืชผักสารพัด นอกจากปุ๋ยน้ำอีเอ็ม และน้ำส้มควันไม้ที่ทำขึ้นเองแล้ว เพื่อให้เพื่อนบ้านนำเอาของดี ๆ ผักงาม ๆ มาขายที่ตลาดสีเขียวกลางแกลง

อีกฟากหนึ่ง คุณสมเกียรติ อดีตคนกิจกรรมของมช. เจ้าของโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางที่เจ้าตัวบอก "ก็งั้น ๆ เอง" พาความตั้งใจพร้อมสมุดภาพเล่านิทานที่เคยทำและเคยส่งไปตามโรงเรียนต่าง ๆ ในแกลง วังจันทร์ เขาชะเมา ขึ้นมาที่เทศบาลฯ ประกาศตามหาสุดยอดฝีมือการวาดภาพแนว drawing ให้มาช่วยกันวาดนิทานกันเพิ่มอีก ด้วยคิดว่าการเล่านิทานผ่านแผ่นซีดี มันสื่อกันได้ไม่ดีเท่าการเล่าแบบจากมนุษย์สู่มนุษย์ ...นี่เป็นอีกรายที่ยังคงเติมฝันที่ตัวเองยังใฝ่และมั่นใจว่าที่ทำนั้นนำความสุขมาให้ตลอดเวลา

ขณะที่อีกด้านหนึ่งของเหรียญในสังคม ที่ทำให้เกิดความไม่ไว้ใจและไม่สบายใจ คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ เมื่อที่ดินถูกเปลี่ยนสภาพการใช้งานจากพื้นที่เกษตรหรือพื้นที่รกร้างไปเป็นอื่น  กระบวนการที่ขนคนมารับใช้ทุนคราวละมาก ๆ แต่ขาดการจัดการที่ดี ย่อหย่อนต่อสำนึกรับผิดชอบ และสุกเอาเผากิน ย่อมเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบต่อสังคม ทั้งความสะอาด มลภาวะเรื่องฝุ่น  ความปลอดภัยด้านการจราจร การจัดการน้ำเสียจากที่อยู่อาศัยพักพิงแบบชั่วคราว (ตามภาพ) หรือแม้แต่การสุขาภิบาล โรคภัยไข้เจ็บของผู้เคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานเอง...แม้เทศบาลฯ ยังคงเฝ้าจับตาผลกระทบที่จะเกิดอย่างต่อเนื่อง

แต่มันช่างเป็นคนละความรู้สึกกับเหรียญอีกด้านข้างต้นของคนพื้นถิ่นเดิมที่เขาอยู่กันอย่างเหลือเกิน...

วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เมืองแกลงเตรียมแปลงโฉมพื้นที่ส่วนหนึ่งของสวนสาธารณะ เป็น "สวนอาหาร" เพื่อความคุ้มค่าของค่าน้ำค่าไฟที่ต้องใช้ไปกับการดูแล...หวังกระตุ้นทุกบ้านช่วยกันขยับเรื่องนี้ต่อไป

   

    

         การดูแลสวนสาธารณะมาหลายปี กอปรกับความเป็นห่วงเรื่องความอุดมสมบูรณ์ ความมั่นคงทางอาหารของเมืองแกลง รวมถึงความพยายามให้มีการปลูกพืชอาหารเพิ่มขึ้นในพื้นที่ เพื่อความสด สะอาด ปลอดภัยอย่างแท้จริง ล่าสุด เทศบาลฯ ร่วมกันทบทวนภารกิจและเริ่มแปลงพื้นที่สวนสาธารณะ ในระยะเริ่มต้นนี้ ไม่น้อยกว่าครึ่งไร่ สู่ "สวนอาหาร" แบบบ้าน ๆ แล้ว

        ทั้งนี้ มีการขบคิดถึงค่าน้ำค่าไฟที่ต้องใช้ในกระบวนการดูแลต้นไม้ ที่สุดจึงมีข้อสรุปที่ความคุ้มค่าสูงสุด จึงแบ่งพืชออกเป็น ไม้ยืนต้นให้ร่มเงาและเพื่อใช้เนื้อไม้ในระยะยาว เช่นยางนา โดยจะปลูกเพิ่มเติมจากของเดิม ไม้ยืนต้นกินได้ เช่น หมาก สะเดา ขี้เหล็ก แคนา ฯ ไม้ล้มลุกแต่ให้ร่มเงาให้ผลเร็ว เช่น มะละกอ กล้วย ฯ และที่พื้นดินจะเป็นพืชสวนครัว ผัก และเครื่องเทศ เพื่อให้น้ำทุกหยดที่สูบด้วยกระแสไฟฟ้าไม่สูญเปล่าเกินความจำเป็น

       ขณะนี้ มีการเดินหน้าไปแล้วโดยการออกแบบพื้นที่และลงพืชไปแล้วหลายชนิด และมีการแบ่งพื้นที่สำหรับการเดินเพริศทัศนาแก่ผู้ไปเดินออกกำลังกาย ส่วนในอนาคตอันใกล้ จะเปลี่ยนแหล่งพลังงานไฟฟ้ามาเป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์ผ่านแผงโซล่าร์เซลที่เทศบาลฯ มีการใช้งานจริงมาแล้วระยะหนึ่งที่ศูนย์การเรียนรู้ หลังอาคารดับเพลิง ถนนสุนทรภู่

      เทศบาลฯ วางเป้าหมาย หวังให้ชาวเมืองแกลงและผู้สนใจได้เห็นแปลงสาธิตที่ทำขึ้นจริงในชีวิตประจำวันเช่น " สวนอาหาร" นี้ ไปกระตุ้นให้ช่วยกันสร้างความอุดมสมบูรณ์ ความมั่นคงมั่งคั่งของข้าวปลาอาหารที่ยั่งยืนในบ้านเมืองของเราต่อไป

       ทั้งหลายทั้งปวง ขอยกความระลึกถึงไปยังปู่ย่าตายายที่ทำให้ลูกหลานมีโอกาสได้เห็นและสัมผัสได้ถึงสวนหลังบ้านอย่างไม่รู้ลืมมาจนทุกวันนี้

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พบคนแกลงออกอาการยิ้มสู้...ชูสองนิ้ว...กำลังระบาด..ดีกว่า..หน้านิ่ว..ขนคิ้วขมวด..ที่ตลาดกลางแกลง...

      

         ผ่านนัดเขียวมาแล้ว ๘ นัด มีพ่อค้าแม่ขายกว่า ๗๐ รายในตลาดกลางแกลงนี้ ขณะนี้การจัดระเบียบ การรักษาความสะอาดยังดำเนินต่อไป ควบคู่กับการขยายพื้นทางเดินไปทางด้านหน้าบ้านดินหลังใหญ่ เพื่อความสะดวกสำหรับการทักทาย และซื้อ ๆ ขาย ๆ

         ขณะเดียวกัน จากการสำรวจประเมินเบื้องต้น พบปัญหาพืชผักเริ่มออกอาการจะลดจำนวนลง แม้มีการปลูกหนุนเนื่องกันเข้ามาเพิ่มขึ้น เพราะโตไม่ทันรอบ แต่คาดว่าปัญหานี้จะคลี่คลายเมื่อเข้าสู่ภาวะสมดุลย์ระหว่างความต้องการและการผลิตในอนาคตอันใกล้นี้  ส่วนอาหารปรุงทั้งหลายยังไปได้ดี

         ทั้งนี้ แม้ผ่านมานัดที่ ๘ แล้ว แต่ที่ยังเปื้อนและฟูฟุ้งไปทั่วอยู่คือรอยยิ้มของความเป็นมิตรไมตรี แต่ที่กำลังเป็นปัญหาแก้ยากเหมือนไฟลามทุ่งคือ กิริยาของการชูสองนิ้วสู้กล้อง ที่แว่วว่ามาจากแม่ค้าชื่อจริยาเขานำมาเผยแพร่ไว้นี่แหละ เหมือนจะติดต่อกันแบบชักจะมากขึ้นทุกวัน ๆ ....น่ารักกันเกิ๊น

วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เมืองแกลง ขยับเดินหน้างานประจำปี "บุญกลางบ้าน" ริมน้ำคลองประแส บ้านตลาดสามย่านแล้ว



       ปลายเดือนมกราที่ผ่านมา งานโยธา กองช่าง เทศบาลฯ เริ่มเข้าพื้นที่บริเวณงาน ณ ซอยศรีประชุมชล (ถนนสุนทรโวหาร ซอย ๕) เพื่อลงมือก่อสร้างเริ่มจากอัฒจันทร์คนดู สะพานทางเดิน เวทีใหญ่ และเวทีย่อยริมน้ำคลองประแสตามลำดับ โดยจะทยอยดำเนินการเมื่อว่างเว้นจากงานประจำ กระทั่งเข้าสู่งานบุญกลางบ้าน ในราวกลางเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้

       นับเป็นการจัดงานหนที่ ๑๐ ในปีที่ ๑๐ นับแต่เทศบาลฯทพร้อมด้วยชาวเมืองแกลงได้พร้อมใจกันก่อสร้างศาลาต้นโพธิ์หลังใหม่ ขึ้นแทนที่ศาลาไม้หลังเดิมที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา กอปรกับได้อัญเชิญพระพุทธรูป "หลวงพ่อประกายแสงทิพย์" จากใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ขึ้นประดิษฐานอยู่ในศาลาในคราวเดียวกัน

       นับแต่นั้นมา จึงได้เร่งฟื้นฟูบูรณะคลองให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น กระทั่งสามารถจัดงานประจำปีริมน้ำได้มาแต่ปีพ.ศ. ๒๕๔๖ ทั้งนี้ บริเวณดังกล่าวเรื่อยไปจนถึงสะพานร้อยปีบ้านตลาดสามย่าน ( สะพานฝั่งธน) ถือเป็นชุมชนแรกของบ้านตลาดสามย่าน หลังจากที่ได้มีการย้ายเมืองแกลงเดิม จากบริเวณบ้านดอนเค็ด วัดโพธิ์ทองพุทธาราม มาอยู่ที่นี่ เมื่อปีพ.ศ.๒๔๕๑ ในสมัยพระกำแหงพลล้าน (ชื้น คชภูมิ) ผู้เป็นนายอำเภอแกลงต่อจากหลวงแกลงแกล้วกล้า (ศรี บุญศิริ) ในยุคนั้น