โปรดทราบ

ร่วมแจ้งข่าวสารต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน "เมืองแกลงนิวส์" ได้ที่ muangklangnews@gmail.com เพื่อที่กองบรรณาธิการข่าวจะได้พิจารณานำเผยแพร่ต่อไป

วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

๓ เรื่องราว กับ ๒ ความรู้สึกตรงกันข้ามในรอยทาง... "เมืองดำเนิน"

  

       อดใจไม่ไหวที่จะเล่าถึงอดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๗ ทางเกวียน นามไพฑูรย์ บุญส่ง ผู้มีบ้านเรือนตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำคลองประแส..ความที่แกดำรงดำเนินชีวิตแอบอิงอยู่กับผลผลิตพืชผักที่หล่อรวมกันมาจากดิน น้ำ และปุ๋ยที่หมักขึ้นมาเองจนก่อเกิดเป็นรายได้ ขณะที่มีต้นทุนรายจ่ายที่ต่ำ...ล่าสุด มารับลูกหมูสี่ตัวจากเทศบาลฯ ตั้งใจไปเลี้ยงในบ่อตะพาบเดิมหมายให้มันผลิตปุ๋ยคอกไว้บำรุงพืชผักสารพัด นอกจากปุ๋ยน้ำอีเอ็ม และน้ำส้มควันไม้ที่ทำขึ้นเองแล้ว เพื่อให้เพื่อนบ้านนำเอาของดี ๆ ผักงาม ๆ มาขายที่ตลาดสีเขียวกลางแกลง

อีกฟากหนึ่ง คุณสมเกียรติ อดีตคนกิจกรรมของมช. เจ้าของโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางที่เจ้าตัวบอก "ก็งั้น ๆ เอง" พาความตั้งใจพร้อมสมุดภาพเล่านิทานที่เคยทำและเคยส่งไปตามโรงเรียนต่าง ๆ ในแกลง วังจันทร์ เขาชะเมา ขึ้นมาที่เทศบาลฯ ประกาศตามหาสุดยอดฝีมือการวาดภาพแนว drawing ให้มาช่วยกันวาดนิทานกันเพิ่มอีก ด้วยคิดว่าการเล่านิทานผ่านแผ่นซีดี มันสื่อกันได้ไม่ดีเท่าการเล่าแบบจากมนุษย์สู่มนุษย์ ...นี่เป็นอีกรายที่ยังคงเติมฝันที่ตัวเองยังใฝ่และมั่นใจว่าที่ทำนั้นนำความสุขมาให้ตลอดเวลา

ขณะที่อีกด้านหนึ่งของเหรียญในสังคม ที่ทำให้เกิดความไม่ไว้ใจและไม่สบายใจ คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ เมื่อที่ดินถูกเปลี่ยนสภาพการใช้งานจากพื้นที่เกษตรหรือพื้นที่รกร้างไปเป็นอื่น  กระบวนการที่ขนคนมารับใช้ทุนคราวละมาก ๆ แต่ขาดการจัดการที่ดี ย่อหย่อนต่อสำนึกรับผิดชอบ และสุกเอาเผากิน ย่อมเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบต่อสังคม ทั้งความสะอาด มลภาวะเรื่องฝุ่น  ความปลอดภัยด้านการจราจร การจัดการน้ำเสียจากที่อยู่อาศัยพักพิงแบบชั่วคราว (ตามภาพ) หรือแม้แต่การสุขาภิบาล โรคภัยไข้เจ็บของผู้เคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานเอง...แม้เทศบาลฯ ยังคงเฝ้าจับตาผลกระทบที่จะเกิดอย่างต่อเนื่อง

แต่มันช่างเป็นคนละความรู้สึกกับเหรียญอีกด้านข้างต้นของคนพื้นถิ่นเดิมที่เขาอยู่กันอย่างเหลือเกิน...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื่องจากบล็อกนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องราวการดำเนินงานของเทศบาล โปรดให้ข้อสังเกต คำแนะนำ หรือเติมเต็มองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเมืองต่อไป