โปรดทราบ

ร่วมแจ้งข่าวสารต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน "เมืองแกลงนิวส์" ได้ที่ muangklangnews@gmail.com เพื่อที่กองบรรณาธิการข่าวจะได้พิจารณานำเผยแพร่ต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผ่านไปอีกเปลาะ...น้ำเสียจากลานจอดรถบรรทุกขยะ..ใช้หมักแก๊สชีวภาพได้แล้ว

สภาพโรงจอดรถบรรทุกขยะ รถน้ำ หลังปรับปรุง

       ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา งานโยธา กองช่าง เทศบาลตำบลเมืองแกลง ได้เข้าแก้ไขปัญหาบริเวณพื้นอาคารพัสดุในส่วนที่เป็นโรงจอดรถทั้งหมด ๑๑ ช่องจอด  สืบเนื่องจากปัญหาพื้นโรงจอด โดยเฉพาะโรงจอดรถบรรทุกขยะเดิม มีผิวเป็นหินคลุกมาแต่เดิมนับแต่เริ่มสร้างอาคารโรงจอด  บวกกับการที่ต้องใช้เป็นที่จอดรถ
บรรทุกขยะ รถบรรทุกน้ำซึ่งมีน้ำหนักมาก ทำให้เกิดสภาพเป็นหลุมบ่อ และระดับของพื้นเดิมมีระดับต่ำพอสมควร

ระดับลาดเอียงให้น้ำเสียไหลไปด้านหลังลงร่องระบายน้ำ
       ปัญหาสำคัญคือ รถที่ไปบรรทุกขยะกลับมาในตอนดึกแล้ว จะ้ต้องมาจอดพักที่นี่เพื่อรอเทขยะขึ้นสายพานในวันรุ่งขึ้น  ทำให้น้ำเสียจากรถบรรทุกขยะไหลลงนองพื้นไปทั่วอยู่ทุกวัน และมีปริมาณมาก ส่งกลิ่นเหม็นและเป็นแหล่งเชื้อโรคต่าง ๆ 
   
สภาพลานจอดเดิมขณะปรับระดับเตรียมเทคอนกรีต
       เหตุดังกล่าว เทศบาลฯ จึงคิดออกแบบการแก้ไขปัญหาน้ำเสียจากรถบรรทุกขยะที่มีอยู่ทั้งหมด ๕ คัน โดยการรวบรวมน้ำเสียเหล่านี้เพื่อนำไปใช้ในบ่อหมักแก๊สชีวภาพ  จึงได้ออกแบบเทลานคอนกรีตที่มีความลาดเอียงไปด้านท้ายรถบรรทุกขยะ จากนั้นทำร่องรับน้ำเสียให้ไหลไปรวมกันในบ่อพักน้ำเสียที่มีความลึก ๕ ปลอกบ่อ  แล้วสูบนำไปใช้รวมกับบ่อหม้กขยะอินทรีย์ให้เป็นแก๊สชีวภาพที่อยู่บริเวณใกล้กัน ส่วนในร่องระบายรับน้ำเสียนั้น ใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ฉีดพรมเพื่อดับกลิ่นตกค้างได้สะดวกมาก

สภาพน้ำเสียที่ไหลจากรถบรรทุกขยะ
เทน้ำหมักจุลินทรีย์เพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานลดกลิ่น
บ่อพักน้ำเสียจากรถขยะรอสูบไปใช้หมักแก๊สชีวภาพใกล้ ๆ กัน
       ผลจากการแก้ไข ทำให้สามารถลดกลิ่นเหม็นในบริเวณโรงจอดรถบรรทุกขยะได้เป็นอย่างดี และเทศบาลฯ สามารถนำน้ำเสียจากรถบรรทุกขยะทั้ง ๕ คันนี้ไปหมักให้เป็นแก๊สชีวภาพได้  และเมื่อมีความต้องการใช้ปุ๋ย ก็สามารถสูบน้ำหมักในบ่อแก๊สชีวภาพนี้ไปใช้เป็นปุ๋ยชั้นดีได้อีกต่อหนึ่ง


ลานเทกองขยะมีน้ำเสียไม่น้อย เป็นงานต่อไปที่จะปรับปรุง
       ในโอกาสต่อไป เทศบาลฯ ยังมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาน้ำเสียบนลานเทกองขยะทั้ง ๒ ช่อง ก่อนที่จะถูกลำเลียงขึ้นสายพาน ซึ่งมีปริมาณไม่น้อยเช่นกัน เพื่อนำน้ำเสียบริเวณนี้เข้าไปหมักเป็นแก๊สชีวภาพ เป็นการลดปัญหาน้ำเสียที่จะไหลหรือถูกฉีดล้างไปลงในบ่อกักเก็บได้เป็นอย่างดีต่อไป

1 ความคิดเห็น:

  1. น.ส.ลัดดาวัลย์ เทียนดี1 สิงหาคม 2554 เวลา 12:03

    ชุมชนเอง น่าจะมีส่วนร่วมในการจัดการขยะของเทศบาล ซึ่งทุกครัวเรือนสามารถช่วยได้คือ ขยะที่ส่งเทศบาลควรแยกถุงระหว่างขยะย่อยสลายได้กับที่ย่อยสลายไม่ได้

    ตอบลบ

เนื่องจากบล็อกนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องราวการดำเนินงานของเทศบาล โปรดให้ข้อสังเกต คำแนะนำ หรือเติมเต็มองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเมืองต่อไป